อาชีวะทำอัตราอุดหนุนการศึกษาคนพิการรายสถานศึกษาสร้างโอกาสตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข”

 

วันที่  10 ต.ค. 66  เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(รองเลขาธิการกอศ.) เป็นประธานพิธีเปิดพร้อมบรรยายพิเศษในโครงการสัมมนาเชิงปฎิบัติการ จัดทำอัตราการที่ให้การอุดหนุนทางการศึกษาสำหรับคนพิการอาชีวศึกษา ระดับสถานศึกษา ระหว่างวันที่ 9- 12 ตุลาคม 2566 โดยมีนายพิษณุเวท  โพธิ์เพ็ชร ผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา กล่าวรายงาน การขับเคลื่อนการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ การกำหนดหลักเกณฑ์ อัตรา และรายการที่ให้การอุดหนุนทางการศึกษาสำหรับคนพิการ ในระดับอาชีวศึกษา เพื่อเป็นแนวทางให้สถานศึกษาอื่น ที่จัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ได้นำไปสู่การปฏิบัติให้ถูกต้อง ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา (สสอ.)

 

 

 เรืออากาศโท สมพร ปานดำ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของการจัดการศึกษา ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ  ที่เราต้องขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” โดยได้ให้ความสำคัญกับทุกคนในระบบการศึกษา รวมถึงการพัฒนาการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ให้สามารถเรียนรู้ตลอดชีวิต อย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยวิถีพอเพียง มุ่งเน้นการเสริมสร้างโอกาสเข้าถึงบริการทางการศึกษาให้แก่คนพิการอย่างทั่วถึงและเสมอภาค สร้างการศึกษาที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานสำหรับคนพิการทุกระบบ

 

 

“หัวใจก็คือ เพื่อให้คนพิการได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพสอดคล้องกับ ความต้องการจำเป็นของแต่ละบุคคล และมีทักษะการดำรงชีวิตสามารถประกอบอาชีพพึ่งตนเองได้บนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นำไปสู่การพัฒนาคนพิการให้ได้เรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพและมีคุณภาพชีวิตที่ดี อิสระ ปลอดภัย รู้เท่าทันโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อไป”

 

 

รองเลขาธิการกอศ. กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ สอศ.ได้มีการแบ่งกลุ่ม วิเคราะห์ สังเคราะห์ การจัดทำอัตรารายการที่ให้การอุดหนุนทางการศึกษาสำหรับคนพิการอาชีวศึกษา แบบรายสถานศึกษา ในทุกระดับการศึกษา ได้แก่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพเฉพาะ (ระยะสั้น) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และระดับปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ (ป.ตรี) พร้อมทั้งบรรยายพิเศษทิศทางการดำเนินงานของศูนย์บริหารงานการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567