อุไรวรรณ ใจสงัด" ผู้เดินตามรอยวิถีกสิกรรมธรรมชาติ สู่ผู้สร้างผืนป่าที่โอบอุ้มชุมชน

 

อุไรวรรณ ใจสงัด" ผู้เดินตามรอยวิถีกสิกรรมธรรมชาติ สู่ผู้สร้างผืนป่าที่โอบอุ้มชุมชน 

  

“แม้จะเกิดและเติบโตที่นี่ แต่ก่อนหน้านี้ได้ใช้ชีวิตตามวิถีคนเมือง ทั้งเรียนตามฝันและทำธุรกิจของตัวเองมาตลอด จนกระทั่งในช่วงยุคโควิด เราได้กลับบ้านมาใช้ชีวิตแบบวิถีชนบท ค่อยๆ เรียนรู้จากการมาอยู่จริงและทำจริงผ่านโมเดลโคก หนอง นา ตามวิถีกสิกรรมธรรมชาติที่ได้อบรมจากโครงการศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ มาปรับที่นาของครอบครัวสู่วิถีกสิกรรมธรรมชาติ ตอนนั้นเองที่เป็นจุดเปลี่ยนให้ค้นพบเป้าหมายของชีวิตครั้งใหม่ที่เป็นอีกหนึ่งฝัน คือการคืนประโยชน์จากบ้านเราสู่ผืนดิน และส่งต่อให้ลูกหลานต่อไป เหมือนที่เราเคยได้พัฒนาผืนดินนี้ต่อจากครอบครัว” 

 

จากที่เคยเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัวทำฟาร์มไก่เนื้อ นางสาวอุไรวรรณ ใจสงัด หรือ คุณกระปุก ในวัยใกล้ 40 ปี กลับเผชิญจุดเปลี่ยนของชีวิตอย่างไม่คาดคิดเมื่อได้ผันตัวจากวิถีชีวิตคนเมืองสู่วิถีเกษตรอย่างเต็มตัว 

 

จุดเริ่มต้นเกิดจากช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่พลิกชีวิตของผู้คนทั่วโลกอย่างไม่ทันตั้งตัว ทั้งในแง่เศรษฐกิจและการใช้ชีวิต ช่วงนั้นเองที่คุณกระปุกได้กลับมายังบ้านเกิดที่จังหวัดนครนายกและได้ใช้เวลากับตัวเอง จนในที่สุดตัดสินใจสานต่อความมุ่งมั่นที่เคยอยากขุดโคก หนอง นา มาตลอดหลายปี  และได้ลงมือทำจริง ณ ที่ดินของครอบครัวกว่า 38 ไร่ บริเวณหมู่ 2 ตำบล หนองแซง อำเภอปากพลี 

 

 

โดยตั้งชื่อว่า “สวน Thanks Mom” เพื่อสื่อถึงโอกาสจากต้นทุนชีวิตที่ได้รับจากครอบครัว ในวินาทีนั้นเอง คุณกระปุกได้เริ่มต้นเป้าหมายครั้งใหม่ในอีกเส้นทางของชีวิต พร้อมหอบความมุ่งหวังและเจตนารมณ์ที่จะพลิกสู่พื้นที่ป่าโอโซนกลางหมู่บ้านของชุมชนและลูกหลานรุ่นต่อๆ ไป 

 

“หลังจากตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าจะกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิด เราได้ออกแบบที่ดินและเริ่มขุดโคก หนอง นา ตามวิถีเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ได้ศึกษาเพื่อบริหารจัดการพื้นที่ให้อุดมสมบูรณ์ขึ้น จนในปี พ.ศ. 2563 จึงเข้าร่วมอบรมกับศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ เพื่อต่อยอดความรู้ที่ได้มาดัดแปลงให้เหมาะสมกับพื้นที่และการใช้งานจริงที่สวน โดยพื้นที่ไร่ของเราเป็นที่เส้นยาว ดังนั้นจึงต้องเริ่มต้นแก้ไขจากการทำคลองไส้ไก่ให้เชื่อมต่อกัน เพื่อกักเก็บนํ้าและกระจายความชุ่มชื้นไปทั่วบริเวณพื้นที่” 

 

คุณกระปุก กล่าวต่อว่า “ความประทับใจที่จำได้ไม่ลืมคือเราไม่ได้เพียงแค่นำแนวคิดมาต่อยอดพัฒนาที่ดินเท่านั้น แต่ยังได้ซึมซับการใช้ชีวิตแบบวิถีกสิกรรมธรรมชาติที่ตอบโจทย์ความสุขเล็กๆ แบบพอกิน พอใช้ในพื้นที่ของเรา แล้วยังได้เพื่อน ได้เครือข่าย ได้อะไรอีกหลายร้อยอย่างที่ถ้าเราไม่ได้ตัดสินใจกลับบ้านมาในวันนั้น ก็คงไม่ได้พบกับโอกาสใหม่ๆ ในวันนี้ จนพอพัฒนาที่ดินถึงจุดหนึ่ง เรามองว่าอยากจะส่งต่อต้นทุนความยั่งยืนจากที่ดินผืนนี้สู่ลูกหลานรุ่นต่อๆ ไป เหมือนที่เคยได้รับจากคุณยาย ส่งต่อมาถึงคุณแม่ จึงได้เพิ่มเป้าหมายมาอีกหนึ่งสิ่ง คือ การสร้างปอดให้ชุมชน ให้พื้นที่นี้เป็นโอโซนของหมู่บ้าน 

 

 

อีกข้อหนึ่ง คือ เราเริ่มมาพัฒนาที่ดินนี้ตอนอายุ 40 แล้ว แต่สำหรับหลานๆ ถ้าที่ดินผืนนี้พร้อมตั้งแต่ยังอายุน้อยๆ พอเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ทั้งครอบครัวรุ่นต่อไปรวมถึงชุมชนก็จะได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินนี้ในฐานะแหล่งพื้นที่สีเขียวของชุมชนต่อไป ไม่ต้องเริ่มใหม่จากศูนย์ ดังนั้นเราจึงตั้งใจพัฒนาให้อุดมสมบูรณ์ที่สุดเพื่อความฝันที่อยากจะส่งต่อผืนดินนี้สู่คนรุ่นถัดไป” 

 

 

ด้าน อาจารย์ปัญญา ปุลิเวคินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ ผู้ทุ่มเทแรงกายและแรงใจเดินตามฝันจากพนักงานบริษัท สู่ผู้เผยแพร่ความรู้ในการบริหารจัดการพื้นที่ยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา ได้สะท้อนความมุ่งมั่นสานต่อดำริของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในการพัฒนาศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติว่า...

 

เดิมทีพื้นที่ดังกล่าวเป็นผืนดินของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยทรงมุ่งพลิกพื้นดินแห่งนี้สู่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ผ่านการบริหารจัดการดิน น้ำ ป่า ให้ผู้ที่มาเยี่ยมเยือนได้เห็นความสำเร็จที่พิสูจน์ได้จริง เมื่อราวๆ 40 ปีก่อนในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงตรัสว่า    

 

 "...ผืนป่าที่นครนายกอุดมสมบูรณ์มาก ในอนาคตจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของไทยอย่างแน่นอน แต่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวนั้นมีผลเสียคืออาจกระทบกับสภาพป่าไม้ ดังนั้นท่านจึงมีดำริให้พัฒนาที่ดินผืนนี้สู่ป่าชุมชน และเป็นผืนดินที่เมื่อใครได้มาเยือน ก็จะรับรู้ถึงความสำคัญของธรรมชาติ สะท้อนความหมายของ “ภูมิรักษ์” ที่หมายถึงผืนแผ่นดินที่รักษาธรรมชาติจากรุ่นสู่รุ่น” 

 

อาจารย์ปัญญา กล่าวต่อว่า ป่าของนครนายกนั้นอุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่ถึง 385,000 ไร่ แต่ปัญหาใหญ่คือพื้นที่เป็นดินเปรี้ยวถึง 95% แต่เดิมพื้นที่ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติของเราเป็นทุ่งนาร้างดินเปรี้ยว จึงได้เป็นหนึ่งในพื้นที่โมเดลที่ได้นำแนวคิดศาสตร์พระราชามาปรับปรุงพัฒนาที่ดินตามหลักกสิกรรมธรรมชาติเพื่อแก้ปัญหา 

 

อย่างการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ให้พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น และห่มดิน โดยใช้ฟางหรือเศษใบไม้ที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติคลุมหน้าดิน และใส่ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพลงไปเพื่อบำรุงดินให้มีธาตุอาหาร จนเป็นดินดีและอุดมสมบูรณ์ 

 

จึงตอนนี้พื้นที่กว่า 14 ไร่ ที่ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติกลายเป็นป่าทึบ จากแต่เดิมที่แห้งแล้งและ     รกร้าง เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จตามดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงรับสั่งให้พัฒนาผืนดินนี้สู่ป่าพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ให้ชาวบ้าน ส่วนราชการ บริษัทเอกชน และคนทั่วไปได้มาเรียนรู้ ศึกษาเกี่ยวกับการจัดการปัญหาดิน น้ำ ป่า จนทุกวันนี้มีคนมาดูงานที่ศูนย์ปีละกว่า 40,000 คน” 

 

ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ อาจารย์ปัญญา ได้กล่าวเสริมถึงความสำคัญของการผสานความร่วมมือหลากหลายส่วนเพื่อก้าวสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเน้นหลักการง่ายๆ ที่เปรียบเสมือน 5 นิ้วมือ 

 

นิ้วโป้ง คือ ส่วนราชการ 

นิ้วชี้ เปรียบเป็นฝ่ายวิชาการที่เป็นคลังข้อมูล 

นิ้วกลาง ที่ยาวที่สุดเปรียบเหมือนภาคประชาชน 

รวมถึงนิ้วนาง ถือเป็นภาคเอกชนอย่างเช่นเชฟรอน ที่ได้ช่วยประสานงานต่างๆ ให้คล่องตัวยิ่งขึ้น 

 

และท้ายที่สุด คือ นิ้ก้อย หรือ ภาคสื่อมวลชน ซึ่งหน้าที่หลักของอาจารย์ เรียกได้ว่าเป็นสายพานเชื่อมโยงที่สำคัญที่สุด ซึ่งประสานงานให้นิ้วทั้ง 5 ทำงานเคียงข้างกันเพื่อเผยแพร่แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนสู่สังคม  

 

 

กลุ่มบริษัทเชฟรอน ถือเป็นอีกหนึ่งองค์กรเอกชนที่ได้พาพนักงานมาร่วมสนับสนุนและเรียนรู้วิถีกสิกรรมธรรมชาติในทุกๆ ปี จนในปีนี้เป็นปีที่ 10 ผ่านกิจกรรม “สุขอาสา” หรือ “We Volunteer” 

 

โดยในปีนี้ได้เข้ามาทำกิจกรรมที่สวน Thanks Mom Garden” ของคุณกระปุก พร้อมลงมือปลูกตันไม้ และเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาดิน-น้ำ-ป่า กับอาจารย์ปัญญาผ่านการปฏิบัติจริงตามแนวทางศาสตร์พระราชา และเพื่อเป็นการสนับสนุนความมุ่งมั่นอันแรงกล้าของบุคคลต้นแบบทั้งคุณกระปุก และอาจารย์ปัญญา ที่ทุ่มเทแรงใจวาดฝันเดินตามเส้นทางกสิกรรมธรรมชาติตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง 

 

เรียกได้ว่า บุคคลทั้งสองเปรียบเสมือนต้นแบบสำคัญ ที่ส่งต่อความมุ่งมั่นจากรุ่นสู่รุ่น จากชนบทสู่เมือง เพื่อสร้างผืนป่าแห่งความหวังที่โอบอุ้มเจตนารมณ์จากรุ่นสู่รุ่นต่อไป

 

 #กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage