ปลดล็อครีไทร์: คิดดี แต่ยังไปไม่สุด

 

 

ปลดล็อครีไทร์: คิดดี แต่ยังไปไม่สุด

 

รองศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ นพรัก

คณบดีวิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา ประธานที่ประชุมคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย

จากเพจรองศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ นพรัก ตั้งคำถาม จะให้มหาวิทยาลัยทำอย่างไรกับนิสิตนักศึกษาที่กำลังจะถูกรีไทร์ ลูกศิษย์ผมและนิสิตนักศึกษาทุกมหาวิทยาลัย ทุกระดับปริญญา ทั้ง ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ปิติยินดีกับ ข่าว เมื่อวันที่ 14 ต.ค.นี้ ที่มีการเสนอให้ยกเลิกการกำหนดระยะเวลาการสำเร็จการศึกษาของนักศึกษาในแต่ละระดับปริญญา ในกรณีที่มีการกำหนดระยะเวลาจำนวนปีการศึกษาของหลักสูตรแต่ละระดับ ในการประชุมของคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา (กมอ.)

ถ้าคิดถึงความจริงประการสำคัญของผู้เรียนทุกระดับปริญญา วัตถุประสงค์ประการแรก คือ ผู้เรียนทุกคนอยากสำเร็จการศึกษา อยากได้รับปริญญา แต่การที่ไม่สามารถเรียนจบได้ภายในระยะเวลาที่หลักสูตรกำหนดนั้น มีสาเหตุมากมาย

อาทิ เกิดความท้อ เกิดความเครียด เกิดความสิ้นหวัง เกิดความเบื่อหน่าย อันเนื่องมาจากความกดดันรอบด้าน เช่น สภาวะเศรษฐกิจ สภาพสังคม สภาพครอบครัว สารพัดปัญหา

ดังนั้น การที่คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา(กมอ.) มีดำริข้างต้น จึงเป็นการผ่อนคลายความวิตกกังวล และสภาพความเครียดอันเกิดจากความกังวล ว่าจะเรียนไม่จบภายในระยะเวลาที่หลักสูตรกำหนด

กมอ.มีปัญหาว่าการยกเลิกข้อกำหนดในเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร นั้น มีอำนาจหรือไม่? จึงให้หารือคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายว่า กมอ.สามารถพิจารณาโดยใช้อำนาจตามข้อ 17 แห่งเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี และ ข้อ 18 แห่งเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาได้หรือไม่ หรือจะมีแนวทางอื่นใดในการดำเนินการดังกล่าว

รวมทั้ง การยกเลิกดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษาฯ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบททางการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในการเรียนรู้องค์ความรู้และทักษะใหม่ๆ ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ผมอยากจะเรียนว่า นอกจากนโยบาย รมว.การอุดมศึกษาฯ แล้ว ยังมีประกาศกระทรวงฯ ที่เกี่ยวข้อง และมีความขัดแย้งกันเองทางข้อกำหนดของกฎหมาย ได้แก่

 

1.ประกาศกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรื่อง แนวทางการดำเนินงานระบบคลังหน่วยกิตระดับอุดมศึกษา พ.ศ.2562  ข้อ 5 (2) “ผู้เรียนสามารถสะสมผลการเรียนและผลลัพธ์การเรียนรู้ ความสามารถและหรือสมรรถนะ ในคลังหน่วยกิตได้ โดยไม่จำกัด อายุ และคุณวุฒิของผู้เรียน ระยะเวลาในการสะสมหน่วยกิต และระยะเวลาในการเรียน...”

2.ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ.2558 ข้อ 8 จำนวนหน่วยกิจรวมและระยะเวลาการศึกษา ที่กำหนดระยะเวลาศึกษาหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี ไม่เกิน 8 ปีการศึกษา ปริญญาตรี 6 ปี ไม่เกิน 10 ปีการศึกษา และปริญญาตรี 6 ปี ไม่เกิน 12 ปีการศึกษา ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 และ

 3.ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ.2558 ข้อ 13 การลงทะเบียนเรียนและระยะเวลาการศึกษา 13.1 ป.บัณฑิต ไม่เกิน 3 ปีการศึกษา 13.2 ปริญญาโท ไม่เกิน 5 ปีการศึกษา และ 13.3 ปริญญาเอก ไม่เกิน 6 ปีการศึกษา (ปริญญาตรีต่อปริญญาเอก ไม่เกิน 8 ปีการศึกษา)

 

ประเด็นข้อกฎหมาย คือ ประกาศฉบับที่ 1.สามารถสะสมผลการเรียนในคลังหน่วยกิต ได้ตลอดชีวิต แต่ประกาศ ฉบับที่ 2 และ3 กำหนดระยะเวลาของการเรียนแต่ละระดับปริญญา

ดังนั้น ไม่ว่า กมอ.จะมีอำนาจในการยกเลิกข้อกำหนดจำนวนปีการศึกษา ในแต่ละระดับหลักสูตรตามประกาศ ฉบับที่ 2 และฉบับที่  3 หรือไม่ก็ตาม?

แต่ขณะนี้กฎหมายที่กำหนดแนวปฏิบัติ ของ ประกาศฉบับที่ 1 ขัดแย้ง กับ ประกาศฉบับที่ 2 และ ที่ 3 ตามรายละเอียดในประกาศ ข้างต้น

จึงควรที่ คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา(กมอ.) จะต้องรีบดำเนินการโดยรีบด่วน เพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ ตามเจตนารมย์ของการจัดการอุดมศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับบริบททางการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป

จะปลดล็อครีไทร์ นั้นคิดดีแล้วครับ  แต่ยังไปไม่สุด

แล้วจะให้มหาวิทยาลัยทำอย่างไร? กับนิสิตนักศึกษาที่กำลังจะถูกรีไทร์ครับ

###ขอความกรุณา กมอ.รีบๆทำตามที่คิดโดยด่วนด้วยครับ

  

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage