ชาวบุรีรัมย์ ค้านยุบโรงเรียนขนาดเล็ก กรรมาธิการ” ชี้เป็นเรื่องน่าเศร้าของศธ.

 

ชาวบุรีรัมย์ ค้านยุบโรงเรียนขนาดเล็ก กรรมาธิการ” ชี้เป็นเรื่องน่าเศร้าของศธ.

 

ชาวบ้านในจังหวัดบุรีรัมย์ ต่างออกมาคัดค้านหากจะมีการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ระบุโรงเรียนเป็นมรดกตกทอดมา หากยุบเหมือนเอามรดกบรรพบุรุตไปขาย ขณะกรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎร ชี้ต้องปลดล็อคระเบียบบางอย่าง รัฐต้องแก้ไขปัญหาเต็มระบบ เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ชาวบ้านจัดผ้าป่าจ้างครูสอนเพิ่ม

 

วันที่ 2 ธ.ค.66 นายโสภณ ซารัมย์ สส.เขต 6 จังหวัดบุรีรัมย์ และประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎร ดร.สฤษดิ์ บุตรเนียร สส.พรรคภูมิใจไทย จังหวัดปราจีนบุรี และรองประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนขนาดเล็กในเขตพื้นที่ อ.พุทไธสง อ.บ้านใหม่ไชยพจน์ และ อ.นาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์

 

เนื่องจากมีกระแสว่ากลุ่มชาวบ้านจะออกมารวมตัวกันคัดค้าน หากกระทรวงศึกษาธิการจะมีการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก โดยให้เหตุผลว่าโรงเรียนขนาดเล็กมีจำนวนนักเรียนน้อยไม่ถึง 60 คนต่อโรงเรียน อัตราครูไม่เพียงพ่อต่อการเรียนการสอนซึ่งจากการลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่า ชาวบ้านออกมารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก ทั้งหมดยังคงมีเจตนาเดิม คือ คัดค้านการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะมันเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ต้องอยู่คู่กันกับคำว่า “บวร” คือบ้าน/วัด/โรงเรียน

 

 

ทันทีที่เห็นคณะกรรมาธิการเดินทางมาตรวจสอบความเป็นอยู่ที่แท้จริง หลายคนถึงกับน้ำตาคลอ พร้อมได้เล่าถึงความสำคัญของโรงเรียนที่ถือเป็นมรดกที่สืบทอดกันมายาวนาน บางโรงเรียนมีอายุมากกว่า 80 ปี หากยุบโรงเรียนไปเท่ากับชาวบ้านเอามรดกตกทอดกันมาขายกิน

 

ด้านนายโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ปัญหาแรกคือชาวบ้านไม่ยอมให้มีการยุบโรงเรียนในชุมชน ถ้าฝืนก็จะกลายเป็นปัญหาสังคม กรณีต่อมาคือการจัดการเรียนการสอน เมื่อมันเป็นโรงเรียนขนาดเล็กทรัพยากรจะไม่เพียงพอ คือ บุคลากรทางการศึกษา บางโรงเรียนมีนักเรียนไม่ถึง 20 คน บางโรงเรียนมีนักเรียน 30 คน ขณะครูผู้สอนมีโรงเรียนละ 2-3 คนเท่านั้น

 

ดังนั้น รัฐบาลจะต้องทำการบ้านว่าจะเข้ามาบริหารโรงเรียนเหล่านี้ได้อย่างไร ทั้งเรื่องบุคลากรทั้งเรื่องงบประมาณ ที่ผ่านมาถือว่าภาพที่น่าเศร้า คือชาวบ้านร่วมกับโรงเรียนหาผ้าป่า หาเงินมาจ้างครูสอนถือเป็นภาพที่น่าเวทนาเป็นอย่างยิ่ง เท่ากับทิ้งภาระให้กับชาวบ้าน ส่วนตัวคิดว่ามันไม่ถูก

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐจะต้องเอาเรื่องนี้ไปหารือหรือแก้ไขโดยด่วน เนื่องจากปัญหานี้มีนานานกว่า 10 ปี ที่โรงเรียนเหล่านี้ไม่มีผู้บริหารคือ ผอ.โรงเรียน เพราะมีนักเรียนไม่ถึง 60 คนตามระเบียบที่กระทรวงศึกษาตั้งไว้

 

ส่วนสาเหตุที่แต่ละโรงเรียนมีนักเรียนน้อย มาจากผู้ปกครองเด็กพยายามดิ้นรนให้บุตรหลานไปเรียนในตัวเมือง เพราะไม่มั่นใจในศักยภาพของโรงเรียน แต่ไม่ได้หมายถึงครูผู้สอน แต่เป็นเรื่องวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ไม่มีความพร้อม

 

 

“ต้องยอมรับว่าครูโรงเรียนรัฐบาลเป็นครูที่มีความสามารถเพราะสอบแข่งขันเข้ามา ส่วนครูที่ต้องไปสอนโรงเรียนเอกชนเป็นเพราะสอบเข้าบรรจุเป็นครูของรัฐไม่ได้แต่โรงเรียนเอกชนเขามีการจัดการบริหารดี

 

ดังนั้นรัฐบาลจะต้องเข้ามาสนับสนุนเรื่องนี้ซึ่งลงทุนไม่มากเพราะโครงสร้างพื้นฐานมีแล้ว ด้วยการปรับระเบียบเดิมออก เพื่อให้การศึกษาในท้องถิ่นได้พัฒนาขึ้น ทั้งนี้ต้องมีการจัดการอย่างเร่งด่วน” นายโสภณ ซารัมย์ กล่าว

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage