มูลนิธิปวีณา เปิดคุกคามทางเพศนักเรียน ปี'66 นับพันราย อายุ 10-15 ปีมากสุด

 

มูลนิธิปวีณา เปิดคุกคามทางเพศนักเรียน ปี'66 นับพันราย อายุ 10-15 ปีมากสุด เหยื่อออนไลน์พุ่ง – ฝาก สพฐ.ยกระดับดูแล    

 

นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เชิญ นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี มาพูดคุยถึงการปกป้องคุ้มครองเด็กให้ได้รับความปลอดภัยและให้สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข ตามนโยบายเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษาของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. และ ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ.

 

ทั้งนี้ จากข้อมูลความไม่ปลอดภัยของนักเรียนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-10 ธันวาคม 2566 รวม 2,618 เรื่อง แบ่งออกเป็น 4 ภัย ดังนี้

 

ภัยที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงของมนุษย์/การคุกคามทางเพศ และการทะเลาะวิวาท 729 เรื่อง

ภัยที่เกิดจากอุบัติเหตุ 1,168 เรื่อง

ภัยที่เกิดจากการถูกละเมิดสิทธิ 226 เรื่อง ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องครูทำโทษนักเรียนเกินกว่าเหตุ ครูผู้บริหารมีความประพฤติไม่เหมาะสม เป็นต้น และ

ภัยที่เกิดจากผลกระทบทางสุขภาวะทางกายและจิตใจ/ภัยทั่วไป 495 เรื่อง

 

ซึ่ง สพฐ.จะยกระดับวิธีการทำงานเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กให้มากขึ้น โดยจะทำงานร่วมกับผู้ปกครอง และชุมชน ในการป้องกัน ปลูกฝัง และปราบปราม

 

"สพฐ.ดำเนินการโดยยึดถือผลประโยชน์ของนักเรียนเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันโรงเรียนจะต้องให้ความรู้กับนักเรียนในเรื่องบทบาท หน้าที่และสิทธิของตัวเอง เพื่อป้องกันไม่ให้ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่จะทำให้เกิดความปลอดภัย รวมถึงจะต้องให้ความรู้เรื่องกฎหมาย เช่น เด็กจะต้องรู้ว่าการไปล้อมวงดูเพื่อนตีกัน เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย เท่ากับเป็นผู้ให้การสนับสนุน รับโทษ 2 ใน 3 ของผู้กระทำความผิด 

 

วันนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางแนวป้องกัน โดยเฉพาะเรื่องอันตรายที่เกิดขึ้นจากโลกออนไลน์ โดยเร็ว ๆ นี้ สพฐ.จะมีหนังสือถึงโรงเรียนทั่วประเทศแจ้งเตือนไปยังผู้ปกครองให้เฝ้าระวังบุตรหลานไม่ให้ถูกหลอกเปิดบัญชีม้า เพื่อให้ผู้ปกครองมีความเข้าใจ ร่วมมือกันเฝ้าระวัง และขอให้โรงเรียนให้ความเอาใจใส่ดูแลเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา" นายธีร์กล่าว

 

นางปวีณา กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางมูลนิธิได้ทำงานประสานกับศูนย์ความปลอดภัย สพฐ.มาตลอด ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ได้รับการร้องเรียนตั้งแต่ เดือนมกราคม-5 ธันวาคม 2566 ดังนี้

 

กรณีถูกข่มขืน 999 เรื่อง

ทำร้ายร่างกายทารุณกรรม 955 ราย และ

ค้าประเวณี หรือค้ามนุษย์ข้ามชาติ 214 เรื่อง ส่วนใหญ่ผู้ถูกกระทำจะเป็นเด็ก สตรี และ คนชรา

สิ่งที่มาใหม่คืออาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งมีกว่า 327 เรื่อง

 

ทั้งหมดนี้ทางมูลนิธิได้ทำงานร่วมกับ สพฐ.มาโดยตลอด และจะเห็นได้ว่าสถิติสูงสุด คือ กรณีถูกข่มขืน เด็กอายุ 10-15 ปี ถูกข่มขืนมากที่สุด รองลงมาคือ อายุ 15-20 ปี และ อันดับ 3 คือ เด็กแรกเกิด จนถึงอายุ 10 ปี ถูกข่มขืนมากกว่า 100 คน ซึ่งถือเป็นสถิติที่น่ากลัว โดยปีนี้ถือว่า จำนวนเรื่องร้องเรียนเรื่องถูกข่มขืนเพิ่มมากขึ้น

 

นอกจากนี้ยังมีกรณีถูกหลอกผ่านโซเชียล ชักชวนให้ไปทำงานพิเศษ ให้เปิดบัญชีม้า ทำให้ถูกดำเนินคดีโดยไม่รู้ตัว ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะเด็กยังไม่มีวุฒิภาวะแต่อยากทำงานพิเศษ มูลนิธิประสานกับตำรวจเพื่อให้ข้อมูล ส่งเอกสาร ทั้งหมดนี้อยากฝากให้ สพฐ.ช่วยดูแล และให้ข้อมูลนักเรียนและผู้ปกครองเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์มากขึ้น

 

"ปัญหาที่น่าห่วงที่สุด คือ ปัญหาครอบครัว ซึ่งได้รับการร้องเรียนต่อปีกว่า 1,000 ราย สถานบันครอบครัวมีความอ่อนแอ ทำให้เด็กอยู่ในสภาวะเสี่ยง เช่น พ่อแม่หย่าร้างกันเด็กต้องไปอาศัยอยู่กับผู้อื่น หลายคนเป็นซึมเศร้า

 

ดังนั้น โรงเรียนและครูจะต้องเป็นบ้านหลังที่สองที่จะช่วยดูแลนักเรียนเหล่านี้ เพราะหลายครั้งผู้ที่แจ้งเหตุมายังมูลนิธิเพื่อช่วยแก้ปัญหา คือ ครูและเพื่อนนักเรียนด้วยกันเอง รวมถึงจะต้องมีนักจิตวิทยาในโรงเรียน เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้มีพื้นที่ในการพูดคุย เพื่อเด็กที่มีปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที" นางปวีณากล่าว

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage