นายกสมาคมการศึกษาเอกชน วอน ‘บิ๊กอุ้ม’ แก้ปัญหาอีกรอบหลังพบสถานศึกษาทยอยปิดตัว

 

นายกสมาคมการศึกษาเอกชน วอน ‘บิ๊กอุ้ม’

แก้ปัญหาอีกรอบหลังพบสถานศึกษาทยอยปิดตัว

 

ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) เปิดเผยผู้สื่อข่าวว่า ปัจจุบันโรงเรียนเอกชน อยู่ภายใต้การดูแลของ สำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มีอยู่ทั้งหมด 3,000 กว่าแห่ง แม้จะปรับตัวแล้ว มีบางส่วนได้ไปต่อ แต่มีบางส่วนที่ไปต่อไม่ไหว เพราะมีนักเรียนน้อยบ้าง หรือโรงเรียนตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ดำเนินกิจการต่อไปแล้วไม่คุ้มบ้าง ซึ่งมีโรงเรียนที่ปิดตัวในปีการศึกษา 2566 ประมาณ 10-20 แห่ง

 

เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้สะท้อนปัญหาการปรับตัวของโรงเรียนเอกชน ต่อ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รับทราบถึงโรงเรียนเอกชนนำนโยบายเรียนดี มีความสุข มาใช้ และ รู้สึกพึงพอใจปฏิทินกำหนดการสอบและบรรจุครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่กำหนดระยะเวลาสอบปลายเดือนเมษายน ถึงต้นเดือนพฤษภาคม เพื่อให้ได้ครูทันก่อนเปิดภาคเรียน ทำให้ครูใหม่เตรียมการสอนได้ทัน และทำให้โรงเรียนเอกชนที่ขาดแคลนครู เพราะได้รับการบรรจุเป็นครูผู้ช่วย สามารถหาครูได้ทันเปิดภาคเรียนด้วย

 

นอกจากนี้ ยังได้สะท้อนถึงปัญหาสวัสดิการโรงเรียนเอกชน ที่อยากให้กระทรวงศึกษานำไปพิจารนาปรับปรุงแก้ไข เพราะเมื่อมองภาพรวม จะเห็นว่าสวัสดิการครูโรงเรียนเอกชนที่ผ่านมา เหมือนครูชั้นสอง ซึ่งขณะนี้คณะอนุกรรมาธิการการศึกษาเอกชนของวุฒิสภา เร่งดำเนินการจัดทำสวัสดิการครูโรงเรียนเอกชนที่พอเหมาะ เช่น การรักษาพยาบาล ที่แม้จะเพิ่มเป็น 1.5 แสนบาทแล้วก็ตาม แต่พบปัญหาว่าครูที่รักษาตัวเกิน 1.5 แสนบาท ต้องลาออกจากการเป็นครู เพื่อไปใช้สิทธิบัตรทอง เป็นต้น

 

สิ่งที่ได้สะท้อนออกไปถือเป็นทิศทางที่ดี รัฐมนตรีว่าการ ศธ.รับฟัง เพราะตนมองว่าปีนี้เป็นยุคทองของโรงเรียนนานาชาติ และโรงเรียนที่สอนหลายภาษา การจัดการเรียนการสอนที่จะพยายามยกระดับ เปิดทางเลือกให้ตรงกับความต้องการของผู้ปกครองมากขึ้น ซึ่งขณะนี้โรงเรียนเอกชนพยายามเปิดสอนส่วนนี้อยู่

 

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้กระทรวงศึกษาธิการอาจจะต้องพูดคุยกับหลาย ๆ หน่วยงานในการดึงครูต่างชาติเข้ามา เพราะปัจจุบันครูต่างชาติเป็นที่ต้องการมาก จึงมองว่า ศธ.ต้องเดินหน้าในการทำ MOU ร่วมดึงครูต่างชาติเข้ามาสอนในประเทศไทย ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาเดดล็อกที่ต้องเร่งแก้ไขใน พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนด้วย ดร.ศุภเสฏฐ์ กล่าว

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage