อาชีวะจับมือ กอ.รมน.และวช. ยกระดับเศรษฐกิจชุมชนผ่านอาชีวะฝีมือชนทุกจังหวัด

 

 

 

วันที่ 17 มกราคม 2567 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มอบหมายให้ นายนิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา นำเสนอแนวทางและวิธีการการขับเคลื่อน เรื่อง "บทบาทของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ต่อการส่งเสริมนวัตกรรมสู่พื้นที่ชุมชน" ภายในงาน "การเสริมสร้างปราชญ์เพื่อความมั่นคงและเครือข่ายภาคจังหวัดเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน"  โดย พล.ต. กรณ์พงศ์  แสงทอง รอง ผอ.ศปป.๑ กอ.รมน. ปราชญ์เพื่อความมั่นคง 77 จังหวัดๆละ 3 คน ผู้แทนกอ.รมน.จังหวัด  จังหวัดละ 2 คน ผู้แทน กอ.รมน. ภาค 1  ภาคละ 1 คน และเครือข่ายภาคจังหวัด ร่วมรับฟัง 

 

 

งานดังกล่าวจัดโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ณ โรงแรมชลพฤกษ์ รีสอร์ท จังหวัดนครนายก

 

 

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นหน่วยงานในการผลิตกำลังคนเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นำนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ โดยพล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ "เรียนดีมีความสุข" ภายใต้แนวทางการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ ซึ่ง สอศ. โดยนายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา นำสู่การขับเคลื่อน 8 วาระงานพัฒนาชีวศึกษา และหนึ่งในวาระงานยกระดับคุณภาพผู้เรียนคือ การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม การวิจัย และสิ่งประดิษฐ์

 

 

นายนิรุตต์ บุตรแสนลี  กล่าวว่า การนำเสนอในวันนี้ มีเป้าหมายการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรม และส่งเสริมการถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม สู่ศูนย์เรียนรู้ของเครือข่ายปราชญ์เพื่อความมั่นคง และพื้นที่ชุมชนเป้าหมาย ของ กอ.รมน. ด้วยการนำองค์ความรู้ด้านการอาชีวศึกษา จากการบูรณาการด้านแนวคิด การแก้ปัญหาจากการประกอบอาชีพ กระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ อันจะช่วยส่งเสริมสร้างและพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน ให้ได้รับองค์ความรู้ที่เป็นไปตามทิศทางและบริบทของชุมชนนั้นๆ จากการนำปัญหาที่เกิดขึ้นเชิงพื้นที่ชุมชน ให้เป็นเป้าหมายในการแก้ปัญหา ด้วยกระบวนการวิจัย นำมาสู่การพัฒนาเป็นสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม ต่อยอดในการประกอบอาชีพ เกิดประโยชน์ ส่งผลการสร้างมูลค่า ปริมาณและคุณภาพ เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง และยกระดับอาชีพของชุมชน สังคม จึงนับได้ว่าเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงให้กับเศรษฐกิจไทยในอนาคต ตอบโจทย์กับความเปลี่ยนแปลงของของโลกอาชีพ สร้างความมั่นคงให้กับชีวิตและสังคมสู่ความเป็นเลิศ

 

 

โดยได้นำเสนอผลงานที่ต่อยอดชุมชน ดังนี้เครื่องผลิตปุ๋ยเสริมแคลเซียมจากวัสดุทางทะเลระบบกึ่งอัตโนมัติ สู่การใช้ประโยชน์เพื่อยกระดับวิสาหกิจชุมชนบ้านเปลือกหอยแหลมทราย ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดย วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี และเครื่องคัดแยกและอบข้าวเปลือกด้วยระบบลมร้อนใช้งานร่วมกับเครื่องขัดสีข้าว เพื่อยกระดับวิสาหกิจชุมชนข้าวกล้องงอกร่องมาลี ตำบลสระสมิง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โดยวิทยาลัยเทคนิคนครอุบลราชธานี

 

 

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลด้านการวิจัยและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ได้ที่ สำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา www.ver.vec.go.th หรือสถานศึกษา สังกัด สอศ. ทั่วประเทศ (ติดต่อด้านงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์) www.vec.go.th และ www.thaiinvention.netที่เป็นการนำสิ่งประดิษฐ์จากผลงานนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษาให้เลือกอีกด้วย