สอศ. ประกาศผลประกวด สุดยอดผลงานสิ่งประดิษฐ์ ระดับชาติอาชีวศึกษา

 

 

 

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 นายยศพล เวณุโกเศศ  เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(เลขาธิการกอศ.) เป็นประธานพิธีปิดงานสุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา การประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ระดับชาติ ประจำปีการศึกษา 2566 พร้อมประกาศผลผู้ชนะสุดยอดนวัตกรรมอาชีวะฯ  โดยมีนายอาคม จันทร์นาม ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคร้อยเอ็ด ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนวัตกรรมและเทคโนโลยีสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ระดับชาติ กล่าวรายงาน  พร้อมด้วย นายนิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา คุณอิทธิพล ภู่โกสีย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เซียร์ พร๊อพเพอร์ตี้ จํากัด (มหาชน) ผู้แทนมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนวัตกรรมและเทคโนโลยีสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ระดับภาค 5 ภาค  คณะกรรมการดำเนินงาน ผู้แทนสถานประกอบการ ผู้บริหารสำนัก ผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากร นักเรียน นักศึกษา เข้าร่วม ณ ศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต อําเภอลําลูกกา จังหวัดปทุมธานี

 

 

นายยศพล เวณุโกเศศ  กล่าวว่า งานสุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา การประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ระดับชาติ ประจำปีการศึกษา 2566 เป็นความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ของคณะกรรมการขับเคลื่อนนวัตกรรมและเทคโนโลยีสิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษา ระดับชาติ และระดับภาค 5 ภาค ตลอดจนคณะกรรมการดำเนินงานทุกท่าน ซึ่งงานสุดยอดนวัตกรรมฯ นำมาสู่ผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ระดับชาติ ประจำปีการศึกษา 2566  จำนวน 30 ผลงาน ใน 6 ประเภทการแข่งขัน โดยมีสถานศึกษาและผลงานที่ได้รับรางวัล ดังนี้

 

 

ประเภทที่ 1 สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร อุตสาหกรรมสมัยใหม่ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงาน เครื่องคั่วกาแฟด้วยโอ่งดินชนิดไร้ควันระบบอัตโนมัติ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี

 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผลงาน เครื่องกรอเส้นฝ้ายสำหรับถักทอด้วยระบบไฟฟ้า วิทยาลัยเทคนิคลำพูน  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ผลงาน เครื่องใส่คอถุงและฝาจุกก้อนเชื้อเห็ดแครงระบบกึ่งอัตโนมัติ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ได้แก่ ผลงาน อุปกรณ์วัดความอ่อน-แก่ ของทุเรียน NIR KTL-TC01 วิทยาลัยเทคนิคกันทรลักษ์

 

 

รางวัล HONOR AWARD ได้แก่  ผลงาน เครื่องคั่วกาแฟด้วยโอ่งดินชนิดไร้ควันระบบอัตโนมัติ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี

 

ประเภทที่ 2 สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงาน แคชเชียร์อัจฉริยะ วิทยาลัยอาชีวศึกษาชลบุรี  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผลงาน ระบบแจ้งเตือนเพลิงไหม้อัจฉริยะ เวอร์ชั่น 2.0 วิทยาลัยอาชีวศึกษาขอนแก่นรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ผลงาน ชุดเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นอัจฉริยะ วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ได้แก่ ผลงาน เครื่องระบุตำแหน่งถนนชำรุดด้วยเทคโนโลยีประมวลผลภาพระบบAI วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี

 

 

รางวัล HONOR AWARD ได้แก่ ผลงาน เครื่องระบุตำแหน่งถนนชำรุดด้วยเทคโนโลยีประมวลผลภาพระบบ AI วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี

 

ประเภทที่ 3  สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี พลังงาน สิ่งแวดล้อม  รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงาน ชุดเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าระบบอัตโนมัติ วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผลงานตู้อบและรมควันประหยัดพลังงานสำหรับแปรรูปปลาเม็ง วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ผลงาน เครื่องพ่นไอน้ำกรองอากาศอัตโนมัติด้วยระบบเทคโนโลยีพลังงานโซล่าเซลล์ วิทยาลัยเทคนิคร้อยเอ็ด   รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ได้แก่ ผลงาน รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ตัดแปลง EV Green Energy วิทยาลัยการอาชีพร้อยเอ็ด

 

 

รางวัล HONOR AWARD ได้แก่ ผลงาน ตู้อบและรมควันประหยัดพลังงานสำหรับแปรรูปปลาเม็ง วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี

 

ประเภทที่ 4 สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีอาหาร  รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงาน ยำหยา ข้าวยำใบยอกึ่งสำเร็จรูป วิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี   รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผลงาน เพรทเซลโพสไบโอติก วิทยาลัยอาชีวศึกษายะลา  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ผลงาน เครื่องดื่มเยลลี่ข้าวไรซ์เบอร์รี่ผสมเม็ดบีดส์จุลินทรีย์โพรไบโอติก วิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ได้แก่ ผลงาน ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวจากแป้งปลายข้าวหอมไชยาพันสาหร่ายเทียมจากใบชะคราม วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี

 

 

รางวัล HONOR AWARD ได้แก่ ผลงาน เพรทเซลโพสไบโอติก วิทยาลัยอาชีวศึกษายะลา

 

ประเภทที่ 5 สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ (Health Care)  รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงาน ลุคล้ม วิทยาลัยเทคนิคร้อยเอ็ด  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผลงาน วีลแชร์ แอนด์ วอล์คเกอร์ (Wheelchair and walker) วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ผลงาน เครื่องฝึกสหสัมพันธ์ของมือและตา วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ  รางวัลรองชนะเลิศอันคับ 3 ได้แก่ ผลงาน สมาร์ท บ๊อกซ์ เฮลแคร์ (Smart Box Health care) วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา

 

 

รางวัล HONOR AWARD ได้แก่ ผลงาน วีลแชร์ แอนด์ วอล์คเกอร์ (Wheelchair and walker) วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา

 

ประเภทที่ 6 สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์  รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์แผ่นแว็กซ์กำจัดขนจากน้ำผึ้งชันโรงเสริมสารเหนียว ด้วยไมโครคริสตัลไลน์แว็กซ์ วิทยาลัยเทคนิคสตูล  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผลงาน แฮร์โทนิค เอ็กซ์ตร้า 6 พลัส (HAIR TONIC EXTRA 6 PLUS) วิทยาลัยการอาชีพพิชัย  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ผลงาน ผลิตภัณฑ์มูสโฟมล้างมือเสริมยูจีนอลสกัดจากสมุนไพร วิทยาลัยการอาชีพเกาะสมุย  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ได้แก่ ผลงาน ผลิตภัณฑ์ผ้าคลุมกระเป๋าเดินทางจากผ้าทอเกาะยอ (รักษ์ยอ Bag) วิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา

 

รางวัล HONOR AWARD ได้แก่ ผลงาน SUPANNIKA COSMETICS การพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางน้ำหอม จากน้ำนมข้าวและสารสกัดธรรมชาติ วิทยาลัยอาชีวศึกษาร้อยเอ็ด

 

 

"นับเป็นเรื่องดีๆ ที่นักเรียน นักศึกษาอาชีวะ ได้ใช้ความรู้ทางความสามารถจากการเรียนในสายวิชาชีพ รวมทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทางวิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ หรือ STEM ศึกษา มาพัฒนาผลงานนวัตกรรม และการแก้ปัญหาจากภูมิปัญญา เพื่อขับเคลื่อนสู่ชุมชน สู่เชิงพาณิชย์ และอุตสาหกรรม ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกรางวัล ทุกสิ่งประดิษฐ์ที่เข้าร่วมการแข่งขัน ให้เราร่วมกันพัฒนา และส่งต่อถึงรุ่นน้องๆ ให้ช่วยกันชูผลงานจากสิ่งประดิษฐ์ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ และภาพลักษณ์ที่ดีของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ซึ่งการเรียนสายอาชีวะจะเป็นกำลังสำคัญเพื่อการพัฒนาภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศให้อย่างยั่งยืนต่อไป" เลขาธิการ กอศ. กล่าว