สอศ. ฝากสถานศึกษาในกำกับทุกแห่ง ดูแลผู้เรียนอาชีวะได้เรียนตามความถนัด

 

 

 

18 มีนาคม 2567 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(เลขาธิการกอศ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ได้รับรายงานจาก สำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัด (สอจ.) สุราษฎร์ธานี กรณีที่มีผู้ปกครองนักศึกษาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ร้องเรียนว่าทางวิทยาลัยได้เชิญประชุมผู้ปกครองนักศึกษาชั้น ปวช.1-2 และ ปวส.1 มาประชุมเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 และแจ้งยุบปิดกิจการวิทยาลัยกะทันหัน โดยอ้างว่ามีนักเรียนสมัครเข้าเรียนน้อยไม่คุ้มค่าใช้จ่าย และให้นักเรียนทั้งหมดหาที่เรียนใหม่ โดยได้ติดต่อวิทยาลัยสารพัดช่างสุราษฎร์ธานีไว้ให้ตามที่เป็นข่าว

 

เลขาธิการกอศ. กล่าวว่า ขณะนี้เบื้องต้น สอจ. สุราษฎร์ธานี ได้หารือ และพูดคุยกับวิทยาลัยในจังหวัด ทั้งอาชีวะรัฐและอาชีวะเอกชน  ในการที่จะรองรับและดูแลผู้เรียนจากวิทยาลัยดังกล่าว ให้มีที่เรียนและสามารถจบการศึกษาได้ตามที่ตั้งไว้ โดยความสมัครใจและความเหมาะสมของผู้เรียนในสาขาวิชาต่างๆ  ที่ได้ลงทะเบียนไว้กับวิทยาลัยเดิม เช่น วิทยาลัยสารพัดช่างสุราษฎร์ธานี ก็มีความพร้อมที่จะรับผู้เรียนให้เรียนต่อในประเภทวิชาอุตสาหกรรม สาขาช่างยนต์ สาขาช่างไฟฟ้ากำลัง ส่วนในสาขาอื่นๆ ก็อยู่ที่การตัดสินใจของผู้ปกครองและผู้เรียนว่าจะเข้าศึกษาต่อในวิทยาลัยใด ซึ่งในวันที่มีการประชุมผู้ปกครองและแจ้งยุบปิดกิจการนั้น นอกจากวิทยาลัยสารพัดช่างสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นวิทยาลัยรัฐแล้ว ก็มีวิทยาลัยเทคโนโลยี ดอนบอสโกสุราษฎร์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสุราษฎร์พาณิชยการ ซึ่งเป็นอาชีวะเอกชนที่เปิดสอนด้านอุตสาหกรรม และพาณิชยกรรมร่วมด้วย

 

“ตอนนี้ สอศ. ได้มอบหมายให้ สอจ.สุราษฎร์ธานี หารือและเตรียมความพร้อมในทุกมิติ เช่น การจัดหลักสูตรความต่อเนื่องของการเรียนการสอน สถานประกอบการหรือการฝึกงาน และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นต้น เพื่อให้ผู้เรียนและผู้ปกครองที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจที่จะเลือกสถานศึกษาในการเข้าเรียนต่อจากการณีดังกล่าว เพื่อรองรับผู้เรียนทุกคนได้มีที่เรียนและจบการศึกษาตามที่กำหนด พร้อมเป็นกำลังคนอาชีวศึกษาที่สำคัญของประเทศต่อไป”นายยศพล  เวณุโกเศศ กล่าว

 

นายยศพล  เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า ส่วนในเรื่องของการยุบปิดกิจการสถานศึกษาเอกชน นั้น ทางสำนักบริหารการอาชีวศึกษาเอกชน (สอช.) รายงานว่า เมื่อสถานศึกษาประสงค์ขออนุญาตเลิกกิจการโรงเรียน จะต้องยื่นคําขอเพื่อขอรับการพิจารณาอนุญาตให้เลิกกิจการโรงเรียนในระบบ พร้อมด้วยเหตุผลต่อผู้อนุญาตล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวันก่อนสิ้นปีการศึกษา โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จะมีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการเลิกดำเนินกิจการของสถานศึกษา โดยให้สถานศึกษาดำเนินการดังนี้  กลุ่ม1. ผู้ปกครอง นักเรียน และนักศึกษา  สถานศึกษาจะต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครองให้ชัดเจนว่า การประกาศเลิกกิจการมิใช่เป็นการเลิกกิจการทันที แต่โรงเรียนยังมีภารกิจในการให้บริการและอำนวยความสะดวกให้กับนักเรียน นักศึกษาและผู้ปกครอง ในเรื่องของเอกสารหลักฐานการศึกษา และการส่งต่อนักเรียน นักศึกษาที่ยังไม่สำเร็จการศึกษาที่ประสงค์ไปสถานศึกษาแห่งอื่น กลุ่ม 2. ครู และบุคลากรทางการศึกษา การให้จ่ายเงินชดเชยแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งนี้ก็จะเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ  ว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2552 ข้อ 32 และตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

“ส่วนในเรื่องเงินอุดหนุนสถานศึกษา ที่ได้มีการกล่าวถึงในกรณีดังกล่าว ทาง สอศ. ได้มอบหมายให้ สอช.และ สอจ. เร่งดำเนินการตรวจสอบข้อมูลส่วนที่เป็นจุบัน พบว่าสถานศึกษามีจำนวนนักเรียนที่รับเงินอุดหนุน ปีการศึกษา 2566 ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ จำนวน 196 คน (ข้อมูล ณ มกราคม 2567) การจ่ายเงินอุดหนุนมีหลักเกณฑ์คือ กรณีสถานศึกษาขอเลิกกิจการตั้งแต่ปีการการศึกษา 2567 เป็นต้นไป ส่วนราชการจะดำเนินการจ่ายเงินอุดหนุนตามจำนวนนักเรียนที่ได้ลงทะเบียนและเรียนอยู่จริงจนถึงเดือนพฤษภาคม 2567 ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการกำหนดมาตรการช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนเอกชน เป็นเงินอุดหนุนรายบุคคล พ.ศ. 2558 ซึ่งหน่วยงานทั้งสอช. และสอจ.จะต้องร่วมกันดำเนินการตรวจสอบข้อมูล และรายงานให้ สอศ.ทราบ อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการแจ้ง ทำความเข้าใจ และหาที่เรียนให้กับกลุ่ม1 ผู้ปกครอง นักเรียน และนักศึกษา ซึ่งสถานศึกษาจะต้องจัดทำรายงานดังกล่าว และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องยื่นมายัง สอศ.  ซึ่ง สอศ. ก็จะต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบและพิจารณาในเรื่องของการขอเลิกกิจการตามระเบียบต่อไป”นายยศพล  เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวสรุป