ปธ.ครู 3 จว.ชายแดนใต้ ค้านนำร่องหลักสูตรสมรรถนะ ชี้ Sandbox ร.ร.ไม่กันโควิด

 

ปธ.สมาพันธ์ครู 3 จว.ชายแดนใต้ ค้าน

Sandbox ร.ร.นำร่องหลักสูตรสมรรถนะ

ชี้ไม่ได้ผล-เสี่ยง'ครู-น.ร.'แพร่โควิด-19

กระจายเชื้อสู่ครอบครัว-ญาติ-ชุมชน

สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานความคืบหน้ากรณีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ประกาศเรื่อง ศธ.ได้จัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ และจะจัดนำร่องทดลองใช้ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ประมาณวันที่ 1 กันยายน 2564 นี้

ก่อนประกาศใช้จริงตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 เริ่มใช้ในระดับประถมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม, ปีการศึกษา 2566 ใช้ระดับมัธยมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม และใช้สำหรับระดับประถมศึกษาในทุกโรงเรียน และในปีการศึกษา 2567 จะใช้ในทุกโรงเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา

ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากนักวิชาการ สมาคม ชมรมครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย

เนื่องจากเห็นว่าหลักสูตรยังขาดความสมบูรณ์ และชัดเจน ขาดการรับฟังครูและบุคลากรทางการศึกษา และที่สำคัญเป็นการเพิ่มภาระและความเสี่ยงให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา ในสถานการณ์วิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดต่อไวรัสโควิด-19

โดยเฉพาะสถานศึกษานำร่องหลักสูตรที่อยู่ในจังหวัดสีแดงเข้ม ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เช่น จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา นั้น

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 นายบุญสม ทองศรีพราย ประธานสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สัมภาษณ์ สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com ว่า การที่กระทรวงศึกษาธิการมีโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจะพัฒนาการศึกษา ถือเป็นสิ่งที่ดี แต่เวลานี้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ยังอยู่ในช่วงกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดต่อไวรัสโควิด-19 แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในพื้นที่จะน้อยลง แต่ยังถูกจัดให้อยู่ใน 29 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม มีมาตรการล็อกดาวน์ต่างๆ เช่น ห้ามรวมกลุ่มเกิน 5 คน จึงไม่ควรที่จะมีการนำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในขณะนี้

แม้ว่าจะมีกระแสข่าวว่า ศธ.จะใช้มาตรการป้องกัน Sandbox ในโรงเรียนที่จะเข้ามานำร่อง โดยมีการจำกัดบุคคลเข้าออกโรงเรียนอย่างชัดเจน และมีการคัดกรองโดยใช้วิธี Rapid Antigen test แต่อย่าลืมว่าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีความพร้อมเหมือนกับ จ.ภูเก็ต ที่จะสามารถห้ามคนเดินทางเข้าออกจังหวัดได้

นอกจากนี้ อยากให้มาดูและสัมผัสวิถีชีวิต ความเชื่อ วัฒนธรรม และประเพณีปฏิบัติของคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความซับซ้อน และยากลำบากในการทำความเข้าใจในมาตรการป้องกันต่างๆ กับบุคคลบางกลุ่ม เช่น เรื่องการรณรงค์การฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดต่อไวรัสโควิด-19 ในช่วงเวลานี้ ยังมีนายแพทย์มาปรึกษาตนเรื่องการเข้าไปทำความเข้าใจกับคนบางกลุ่มให้ยินยอมในการฉีดวัคซีน

หรือถ้าคณะกรรมการจัดทำร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะในส่วนกลางกรุงเทพมหานคร จะได้ลงมาสัมผัสดูบรรยากาศวิถีชีวิตของประชาชนตามพื้นที่ต่างๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่นที่ จ.ปัตตานี ก็จะเห็นข้อเท็จจริงการใช้ชีวิตของคนในบางพื้นที่ ที่เหมือนว่าไม่มีโรคติดต่อไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้น

ดังนั้น ตนจึงขอคัดค้านว่า ศธ.ไม่ควรทำอะไรกับคนหมู่มากในช่วงเวลานี้ ไม่ว่าจะพื้นที่ใด เพราะมีโอกาสที่ทั้งครูและนักเรียนจะติดเชื้อโรคติดต่อไวรัสโควิด-19 แล้วนำกลับไปแพร่ระบาดให้กับครอบครัว ญาติพี่น้อง และคนในชุมชน

"ผมเห็นว่า ในเมื่อโรงเรียนส่วนใหญ่เกือบทั้งประเทศยังเปิดการเรียนการสอนที่โรงเรียนไม่ได้เลย ศธ.ก็ควรจะชะลอเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะออกไปก่อน จนกว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อโควิด-19 จะคลี่คลาย” ประธานสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)