'เอนก'เผยไทยฉีดวัคซีนโควิด-19 ครอบคลุมประชากรสูงสุดในอาเซียน

 

 

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 ว่า อว.ได้ติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์การติดเชื้อและการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มประเทศอาเซียนอย่างใกล้ชิด และใช้ข้อมูลทางวิชาการในการร่วมบริหารสถานการณ์ ซึ่งในขณะนี้ได้สั่งการให้ทุกส่วนของกระทรวงฯมาสนับสนุนการทำงานของ ศบค.อย่างเต็มที่ ทั้งการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลหลัก การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม และการฉีดวัคซีน

ทั้งนี้ ในประเด็นเรื่องวัคซีน ขณะนี้ประเทศไทยได้ฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยสำหรับประเทศขนาดใหญ่ในกลุ่มอาเซียนที่มีประชากรมากกว่า 50 ล้านคน ซึ่งได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไทย และพม่า นั้น ประเทศไทยสามารถฉีดวัคซีนได้สูงที่สุดตามสัดส่วนประชากร โดยมีคนที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วถึง 16.3% ของประชากร ตามด้วยอินโดนีเซีย (15.1%), ฟิลิปปินส์ (9.1%), เวียดนาม (4.1%) และ พม่า (ประมาณ 3.1%)

ในแง่จำนวนการฉีดวัคซีน อินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากรถึง 275 ล้านคน ได้ฉีดวัคซีนแล้ว 57,947,614 โดส โดยมีประชากรได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว 15.1% และครบ 2 เข็มแล้ว 5.9% ในขณะที่ไทยฉีดวัคซีนแล้ว 14,223,762 โดส  

รมว.อว.กล่าวต่อว่า สำหรับในประเทศขนาดเล็กในกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีประชากรน้อยกว่า 50 ล้านคน ซึ่งได้แก่ มาเลเซีย กัมพูชา ลาว สิงคโปร์ และบรูไน นั้น จะมีร้อยละการฉีดวัคซีนต่อประชากรค่อนข้างสูง คือ สิงคโปร์ มีผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว 4,118,334 คน (69.9% ของประชากร) ตามด้วยกัมพูชา 5,767,616 คน (34.1%), มาเลเซีย 9,570,974 คน (29.3%), บรูไน 106,556 คน (24.2%) และลาว 1,050,818 คน (14.3%) ตามลำดับ

ด้าน ศ.นพ.ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว.กล่าวว่า การใช้วัคซีนของประเทศไทยนั้น ใช้วัคซีนซิโนแวคมากที่สุด จำนวน 7,522,418 โดส โดยเป็นเข็มแรกจำนวน 4,187,943 โดส (29.5% ของจำนวนที่ฉีด) และเข็มที่สอง จำนวน 3,334,475 โดส (23.4%)

ตามด้วยวัคซีนแอสตราเซเนกา จำนวน 6,288,541 โดส โดยเป็นเข็มแรกจำนวน 6,180,413 โดส (43.4%) และเข็มที่สอง จำนวน 108,128 โดส (0.8%) และวัคซีนซิโนฟาร์ม จำนวน 412,803 โดส โดยเป็นเข็มแรกจำนวน 412,076 โดส (2.9%)  และเข็มที่สอง จำนวน 727 โดส (0.005%)

ตนขอยืนยันว่า การใช้วัคซีนซิโนแวก ซึ่งได้ฉีดในประชากรจำนวนมาก โดยเฉพะในกลุ่มความเสี่ยงสูงนั้น ได้ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยในช่วงระยะเริ่มต้นที่จีนได้ส่งมอบวัคซีนซิโนแวกมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดแรกที่ได้รับ และนำมาใช้ในการควบคุมสถานการณ์นั้น จากการติดตามผลการใช้งานจริงในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์พบว่า วัคซีนนี้สามารถป้องกันการติดเชื้อโดยเฉพาะกลุ่มที่มีอาการรุนแรงได้ผลดี

โดยการติดตามการใช้งานที่จังหวัดภูเก็ตพบว่า มีประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อได้ถึง 90.7%, การศึกษาที่จังหวัดเชียงรายมีประสิทธิผล 82.8% และการศึกษาที่จังหวัดสมุทรสาครมีประสิทธิผล 90.5%

"ล่าสุดในการรายงานการติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาพรวมของทั้งประเทศเกือบ 700,000 คนนั้น พบว่าในกลุ่มบุคลากรความเสี่ยงสูงซึ่งมีการติดเชื้อ 880 คน และเสียชีวิต 7 รายนั้น มีผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวกครบสองเข็มแล้วมีอัตราการติดเชื้อและการเสียชีวิตน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน แสดงว่าวัคซีนซิโนแวกสามารถป้องกันการติดเชื้อและลดความรุนแรงได้” ปลัด อว.ระบุ

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)