สพฐ. กำชับเขตพื้นที่ฯ สอบคัดเลือกครู-ผู้บริหาร สถานศึกษา ต้องโปร่งใส ไร้ทุจริต “ป.ป.ช.ส่งสายลับร่วมสืบ”

 

สพฐ. กำชับเขตพื้นที่ฯ สอบคัดเลือกครู-ผู้บริหาร สถานศึกษา ต้องโปร่งใส ไร้ทุจริต “ป.ป.ช.ส่งสายลับร่วมสืบ”

 

วันที่ 1 เมษายน 2567 นายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้ช่วยเลขาธิการ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.) ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ เปิดเผยว่า...

 

...ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ประกาศปฏิทินการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ และการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และ ผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพฐ. ปี พ.ศ. 2567

 

ทั้งนี้ เพื่อสรรหาบุคคลที่เหมาะสมในตำแหน่งครูผู้ช่วย และผู้บริหารสถานศึกษาให้เสร็จสิ้นเรียบร้อย เตรียมพร้อมปฏิบัติหน้าที่ครบทุกโรงเรียนก่อนการเปิดภาคเรียนใหม่ ปีการศึกษา 2567...

 

กล่าวอีกว่า...ก็เป็นไปตามคาดหมายที่ว่า ขณะเดียวกันมักจะมีเสียงสะท้อนแสดงความห่วงใยและการตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการสอบคัดเลือกฯ บนสื่อออนไลน์ปรากฎตามด้วยเสมอ ซึ่ง ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รับทราบและขอขอบคุณทุกสียงอย่างจริงใจ พร้อมขอเรียนให้สังคมรับทราบโดยทั่วกันว่า สพฐ.ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการอย่างโปร่งใส เป็นธรรม สามารถตรวจสอบได้ บนหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ยึดถือระบบคุณธรรมและความโปร่งใสเป็นหมุดหมายสำคัญ

 

โดยในส่วนของกระบวนการสอบคัดเลือกฯ เลขาธิการ กพฐ. ยืนยันว่า แม้จะมีลักษณะแยกเป็น 2 ส่วน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ได้มีนโยบายให้สถานศึกษาในสังกัดทั่วประเทศมีผู้บริหารและครู ครบทุกโรงเรียนก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2567 สพฐ. จึงได้กำหนดปฏิทินการสอบคัดเลือกฯ เพื่อให้ทันตามกำหนดดังกล่าว และทุกอย่างต้องตรวจสอบได้

 

ซึ่งในส่วนแรกนี้ เป็นการสอบคัดเลือกครูและบุคลากรทางการศึกษา ตาม ว16/57 และ ว17/57 การดำเนินการจัดสอบ โดย สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่มีมติ ตาม ว2/2567 กำหนดให้ส่วนราชการ (สพฐ.) เป็นผู้บริหารจัดการข้อสอบ

  

ส่วนที่สอง คือ การสอบผู้บริหารสถานศึกษา นั้นป็นอำนาจหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ เขตพื้นที่การศึกษา ในการบริหารจัดการ เพื่อให้กระบวนการสอบคัดเลือกเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม โปร่งใส ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากบุคคลภายนอก

โดยทาง สพฐ. ได้มีหนังสือกำชับไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ เขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต เรื่องมาตรการป้องกันการทุจริตในการสอบคัดเลือกฯ ซึ่งผู้บริหารทุกระดับและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์และวิธีการที่เกี่ยวข้องเช่นกัน และหากมีการฝ่าฝืนและเกิดความเสียหายต่อทางราชการ จะถูกดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เช่นเดียวกัน

 

ทั้งนี้ เลขาธิการกพฐ. มั่นใจว่า มาตรการป้องกันการทุจริตฯยังเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษต่อผู้ละเมิดอย่างรุนแรงทุกราย รวมถึง สพฐ.ยังสั่งห้ามมิให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือบุคลากรของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ กระทำการใด ๆ ที่มีเจตนาเป็นการกวดวิชา จัดทำเอกสาร จำหน่าย แจก หรือกระบวนการอื่นใด ที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เข้ารับการคัดเลือกฯ

 

และห้ามมิให้แต่งตั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดกวดวิชา หรือสถานศึกษาที่จัดกวดวิชา เป็นกรรมการ เข้ามาเกี่ยวข้องกับการคัดเลือกอย่างเด็ดขาด

 

โดย สพฐ. และ มหาวิทยาลัยที่ สพฐ. ประสานบริการจัดการข้อสอบ ได้จัดตั้งศูนย์ติดตามข่าวทุจริตและการติวสอบทั่วประเทศ เพื่อไม่ให้บุคลากรดังกล่าว เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสอบทุกกรณี รวมไปถึง ป.ป.ช.ส่งสายลับร่วมสืบอีกทางหนึ่งด้วย

 

นอกจากนี้ สพฐ. ยังได้กำหนดหลักเกณฑ์การให้คะแนนการสอบ ภาค ข และภาค ค ให้เป็นวิทยาศาสตร์มากที่สุด เพื่อให้เกิดความยุติธรรม มีความเสมอภาค และเท่าเทียมสำหรับผู้เข้าสอบทุกคน ดังนั้น เรื่องที่สังคมหรือผู้ใดกังวลว่าจะมีการทุจริตในการสอบนั้น จะเห็นว่าแทบไม่มีช่องทางใดเลยที่จะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะที่เกิดการฟ้องร้องกล่าวโทษอย่างที่ผ่านมา  ยกเว้นว่าจะมีผู้แอบอ้าง ใส่ความเท่านั้น

 

ดังนั้น จึงขอให้ความมั่นใจแก่ผู้ที่จะเข้ารับการคัดเลือกฯ อย่าได้หวั่นไหวท้อแท้จนเสียกำลังใจกับข่าวสารที่ออกมาในลักษณะบั่นทอนความน่าเชื่อถือองค์กร อย่าตกเป็นเหยื่อและควรตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น หากกระทำการใด ๆ ที่เข้าข่ายการทุจริตสอบเข้ารับราชการ นอกจากจะถูกปรับให้สอบตกไม่สามารถเข้ารับราชการได้แล้ว ยังส่งผลให้ผู้ทุจริตตกเป็นผู้ขาดคุณสมบัติที่จะเข้ารับราชการ ตนเองเสียหายร้ายแรงทั้งชื่อเสียงและเกียรติยศของวงศ์ตระกูล อีกด้วย

 

 

เลขาธิการ สพฐ. ได้เน้นย้ำตามข้อสั่งการของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ที่มีความห่วงใยต่อการสอบคัดเลือกฯ ข้าราชการครู และผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อให้ครบทุกโรงเรียนก่อนการเปิดภาคเรียนใหม่ ปีการศึกษา 2567 โดยกำชับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ให้ดำเนินการอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม

 

รวมถึงผู้เข้ารับการคัดเลือก ขอให้ระมัดระวังพฤติกรรมของบุคคลที่อาจแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ หากมีการแอบอ้างว่าตนเป็นคนสนิท ใกล้ชิดหรือเป็นญาติกับผู้อำนวยการ หรือผู้ใหญ่ในวงการศึกษา หรือวงราชการ หรือกรรมการดำเนินการสอบ สามารถจะช่วยให้สอบได้ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น อ้างว่าสามารถนำข้อสอบมาให้ศึกษาดูก่อนสอบได้ โดยเรียกรับผลประโยชน์ตอบแทนจากผู้สมัครที่หลงเชื่อ

 

"จึงขอให้ผู้เข้ารับการคัดเลือก ตรวจสอบแหล่งข่าวหรือข้อมูล หากเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาหรือลูกจ้างในสังกัด จะดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรง และขอให้แจ้งมายัง สพฐ. โดยทันที เพื่อหาทางป้องกัน แก้ไข และดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการคัดเลือกบุคคลครั้งนี้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม อย่างแท้จริง” นายสุรินทร์ ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage