'ผู้ปกครองไม่ทน รมว.ตรีนุช' พิสูจน์ฝีมือผู้นำ-พ่วงทีมที่ปรึกษา สอบไม่ผ่าน??

เสวนากับบรรณาธิการ 21 กรกฎาคม 2564

 

 

ผู้ปกครองไม่ทน 'รมว.ตรีนุช'

พิสูจน์ฝีมือผู้นำ-พ่วงทีมที่ปรึกษา

สอบไม่ผ่านจริงหรือ ???

 

วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์ : บรรณาธิการ

 

       

...เอาแค่ตัวเลข ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นำเสนอคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ. งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบฯ 2565 ยกอ้างจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบถึงเด็กยากจนและยากจนพิเศษเพิ่มขึ้น สุ่มเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา มากกว่า 712,725 คน โดยเฉพาะนักเรียนยากจนพิเศษกลุ่มช่วงชั้นรอยต่อในระดับชั้น อ.3ป.6ม.2ม.3 และ ม.6 มากกว่า 400,000 คน จะหายไปเมื่อเปิดภาคเรียน ปีการศึกษาที่ 1/2564 และยังคงมีนักเรียนอีกราว 60,000 คนที่ยังคงไม่พบตัวในระบบการศึกษา...

 

เท่าที่ติดตามผลงานการขับเคลื่อน 12 นโยบายหลักการจัดการศึกษา ของ กระทรวงศึกษาธิการ ของ รมว.ศธ. ‘ตรีนุช เทียนทอง’ ที่ประกาศในวันเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 และตามติดอีก 7 วาระเร่งด่วน ที่ต้องเร่งลงมือปฏิบัติทันที หากมิดำเนินการทันใดแล้ว อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงแก่การศึกษาชาติก็ได้  

ผ่านมาเกือบ 4 เดือนแล้ว ยังดูค่อนข้างคืบคลานในทางล่าช้าไร้อนาคต เนื่องจากขาดบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ ต่อการจัดทำแผน จัดวางยุทธศาสตร์ ตลอดเตรียมงบประมาณให้ทันต่อการรองรับในสถานะการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้

ก็ยังหวั่นใจอยู่ว่า แม้ในอนาคตถึงจะเปลี่ยนรัฐบาลไปแล้ว นโยบายหลักที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง ประกาศไว้ดังกล่าว น่าจะเป็นเพียงแค่ข้อความฝัน ๆ ที่เขียนไว้บนผืนทราย รอคลื่นซัดหาย ดังเช่นอดีตที่มีนักการเมืองคนแล้วคนเล่าเวียนว่ายเข้ามานั่งเก้าอี้เสนาบดี ตึกราชวัลลภ วังจันทรเกษม กระทรวงศึกษาธิการ

 

 

ในที่นี้ขอกล่าวจำเพาะ 4 นโยบาย ใน 12 นโยบายหลัก ที่ระบุถึง ความคิดที่จะสร้างหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ของโลกในศตวรรษที่ 21 / การพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูและอาจารย์ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษา ให้มีสมรรถนะทางภาษาและดิจิทัล  / การปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลแห่งชาติ / และพลิกโฉมระบบการศึกษาไทยด้วยการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการศึกษาทุกระดับการศึกษา

ตรงนี้พอจะเข้าใจได้ว่า หากผู้นำการศึกษาสักคน เอ่ยถึงเรื่องของดิจิทัลในโลกศตวรรษที่ 21 จึงเป็นเรื่องที่ดูดี มีความฉลาดทางดิจิทัล ระดับความคิดทันโลกทันสมัย  ล้วนเป็นสิ่งคาดหวังให้เกิดขึ้นในองค์กรที่ตนดูแล คือ  การเป็นพลเมืองผู้ใช้งานสื่อดิจิทัลและสื่อสังคมออนไลน์อย่างเข้าใจถึงบรรทัดฐานและบริบทที่ควรจะเป็น  

แต่ รมว.ศธ. ‘ตรีนุช เทียนทอง’ ทำงานผ่านมาเกือบ 4 เดือนแล้ว เรายังไม่เห็น โลกในศตวรรษที่ 21 ภาษาและดิจิทัล แพลตฟอร์มการเรียนรู้ ดิจิทัลแห่งชาติ นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ทันสมัย จะได้ถูกนำมาไปพัฒนาสู่การจัดการศึกษาทุกระดับการศึกษาดังกล่าว อย่างที่บอกไว้แต่อย่างใด

 

 

เอาแค่ผลกระทบจากการเรียนออนไลน์  ทั้ง ครู-นักเรียนและผู้ปกครอง ได้รับผลกระทบหนักจากโควิด-19  แม้จะส่งเสียงร้องเรียนขอให้รับไปช่วยเหลือและแก้ปัญหาเบื้องต้นชนิดร้องระงมกันทั้งประเทศ ก็ยังละล้าละลังแบบกว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้ไปแล้ว

โดยเฉพาะในเรื่อง การขาดแคลนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต มือถือ โดยเฉพาะกลุ่มครูบรรจุใหม่หรือครูอัตราจ้าง และกลุ่มผู้ปกครอง ที่บางรายมีรายได้น้อย ถูกตัดลดเงินเดือน และถูกเลิกจ้าง ทำให้ไม่สามารถจัดซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต มือถือ ให้บุตรหลานใช้ในการเรียนออนไลน์อย่างเหมาะสมได้

มาถึง ภาระค่าใช้จ่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพ และการติดตามประเมินผลเยี่ยมเยียนนักเรียนจากการเรียนออนไลน์ กลายนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่ครูต้องแบกรับเอง ทั้งค่าพาหนะ และค่าเชื้อเพลิง ก็เป็นเรื่องสืบเนื่องยาวตั้งแต่แรกระบาดของ โควิด-19

เรื่องเหล่านี้ ทางสำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ edunewssiam  เคยนำเสนอเป็นข่าวและบทความ เป็นระยะ ๆ ตลอดมา

 

 

สอดรับกับตัวแทนเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการเรียนออนไลน์ฯ ครู นักเรียน และผู้ปกครองร่วมกันเข้าชื่อในแคมเปญ # จัดอุปกรณ์พร้อมอินเทอร์เน็ตคุณภาพให้กับครูและนักเรียนไทย ผ่านเว็บไซต์ change.org รวม 4,855 คน ส่งถึง กมธ.การศึกษา เรียกนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง และขอให้เร่งดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อนโดยด่วน

ยกอ้างถึงสถานการณ์นี้ เกิดขึ้นมาแล้วอย่างน้อย 2 ภาคการศึกษา แต่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ปล่อยให้เกิดความบอบช้ำและภาระตกอยู่กับครูและผู้ปกครองกลุ่มเปราะบางสายป่านสั้นซึ่งเป็นกลุ่มส่วนใหญ่ จนไม่อาจทนรับผลกระทบอีกต่อไปได้ ทำให้นักเรียนจำนวนมากถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เนื่องจากภาระการเรียนที่หนักขึ้น แต่ผลลัพธ์ในเชิงของการเรียนรู้บกพร่องลงอย่างเห็นได้ชัด  

อย่างน้อย 2 ภาคการศึกษาสถานการณ์นี้ ได้เกิดขึ้นมาแล้ว มาถึง ณ วันนี้ ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ความบอบช้ำและภาระที่เกิดขึ้น ตกอยู่กับครูและผู้ปกครองกลุ่มเปราะบางสายป่านสั้นซึ่งเป็นกลุ่มส่วนใหญ่ ไม่อาจทนรับผลกระทบอีกต่อไปได้ จึงทำให้นักเรียนจำนวนมากถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เนื่องจากภาระการเรียนที่หนักขึ้น แต่ผลลัพธ์ในเชิงของการเรียนรู้บกพร่องลง

การเข้าร้องครั้งนี้ ได้รับการขานรับทันทีจาก ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา แม้จะเสนอแนวคิดวิธีการแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาต่อ รมว.ศธ.มาตลอด แต่ไร้ผล ยังหูทวนลม ไม่ยอมรับฟังหรือนำไปพิจารณาปรับใช้

 

ตอกย้ำจาก กรมสุขภาพจิต ที่ได้ติดตามผลการเรียนออนไลน์ จาก เด็กจำนวน 62,213 ราย โดยนำ “ระบบสุขภาพจิตโรงเรียนวิถีใหม่บนระบบดิจิทัล” หรือ “School Health HERO” มาใช้ในปีการศึกษา 2563

พบสัญญาณเสี่ยงด้านพฤติกรรม อารมณ์ ทักษะสังคม อาการซนเกินไป ใจลอย รอคอยไม่ได้ เศร้า เครียด /หงุดหงิดง่าย ท้อแท้เบื่อหน่าย ไม่อยากไปโรงเรียน ถูกเพื่อนแกล้ง แกล้งเพื่อนและไม่มีเพื่อน มีถึง 7,045 ราย

หากนักเรียนกลุ่มดังกล่าว ยังอยู่ในสภาวะที่จำเป็นต้องเรียนออนไลน์ด้วยความไม่พร้อม หรือไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เพียงพอ ย่อมจะส่งผลกระทบต่อปัญหาการเรียนและสุขภาพจิตที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นได้ 

 

 

ดังนั้น การที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ.เคยตั้งคำถามผอ.เขตทั่วประเทศว่า “เราจะคิดและจะเรียนแบบไหนดี จึงสะท้อนถึงความไม่เข้าใจถึงหรือยังไม่เข้าถึง การศึกษาไทย การศึกษาโลกในศตวรรษที่ 21  ภาษาและดิจิทัล แพลตฟอร์มการเรียนรู้ ดิจิทัลแห่งชาติ   นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ทันสมัย

จึงสะท้อนถึงภาวะผู้นำทางการศึกษา ที่ไม่กล้าคิด ไม่กล้าตัดสิน ไม่กล้ารับผิดชอบ และ การมอบหมายให้ผู้ปฏิบัติใช้ดุลพินิจในเรื่องที่กำลังเป็นปัญหาความเดือดร้อนของผู้ปกครองและนักเรียน ที่กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก ณ เวลานั้นแทนตนเอง  ย่อมเป็นเรื่องสะท้อนถึงตัวตนออกมาอย่างช่วยไม่ได้

แต่ถ้าเข้าถึงการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยี ในโลกในศตวรรษที่ 21 และเข้าถึงดิจิทัล แพลตฟอร์มการเรียนรู้ติดตาม เข้ามาผสมผสานในการแก้ปัญหาอย่างรู้เท่าทัน ย่อมทำให้เกิดความสำเร็จในการพิชิตปัญหาได้ไม่ยาก    

ไม่ว่า การติดตามขอความร่วมมือสถานศึกษา คืนค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่ได้ใช้จริงให้ผู้ปกครอง ที่ยังไม่มีคืนจริง ในที่สุด ครม.ต้องมอบให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คือ นายกรัฐมนตรี ต้องลงไปสั่งการแก้ปมเอง

เนื่องจาก การไม่เอาจริงของศธ.ในการติดตามโรงเรียนที่เรียกเก็บค่าอาหารกลางวัน ค่าอาหารว่าง ค่าบริการอินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ ค่าห้องเรียนปรับอากาศ ค่าอุปกรณ์กีฬา  ค่าดูแลสระว่ายน้ำ ค่ากิจกรรมนอก-ใน หลักสูตร ล่วงหน้า ทั้ง ๆ ที่ผ่านมาเปิดเรียนได้ไม่กี่วัน นอกจากจะไม่คืนเงินที่เรียกเก็บไปแล้วแต่ไม่ได้ใช้บริการ พอเปิดเทอมใหม่ก็เรียกเก็บอีก

รวมไปถึง ผลสำรวจการเรียนแบบออนไลน์ ระบุตรงกันว่า พบทั้งครูและนักเรียนร้อยละ 50 ไม่พร้อม และทุกครอบครัวต้องแบกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มากขึ้น การช่วยค่าใช้จ่ายถือเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างมากในขณะนี้

 

 

นอกจากนี้ ยังพบอีกด้วยว่า การเรียนแบบออนไลน์ เป็นการสอนที่เป็นการสื่อสารทางเดียว มีโอกาสเกิดความผิดพลาดในการรับรู้ เพราะฉะนั้นต้องมีแบบทดสอบที่ประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียน การเข้าถึงอุปกรณ์เรียนออนไลน์ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์, โทรศัพท์มือถือ, แท็บเล็ต หรือสัญญาณอินเทอร์เน็ตมีข้อจำกัด

หรือ เด็กนักเรียนใช้เวลาเสพออนไลน์มากเกินควร ไม่มีสมาธิในการเรียน สุขภาพทางสายตาเสื่อม บ้างก็จะแอบเอามือถือมาเล่นระหว่างเรียน ผู้ปกครองต้องเข้ามาช่วยตอบคำถามหรือทำการบ้านแทนเด็ก ไม่มีเวลาเฝ้าดูแลเด็กเพราะต้องทำงาน

แม้กระทั่งในการเรียนการสอนโดยใช้สื่อออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพนั้น แม้จะขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมและสภาพปัญหาของแต่ละโรงเรียนก็ตาม หากต้องการดึงประสิทธิภาพสื่อออนไลน์มาใช้ให้มากที่สุด ศธ.น่าจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้แต่ละโรงเรียนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หามาตรการร่วมกัน เพื่อหาทางออกให้กับการสอนออนไลน์ของตน โดยศธ.หาทางสนับสนุนทุกช่องทางให้เกิดผลเพื่อเด็กและครูมากที่สุด

น่าจะดีกว่า การคิดจากส่วนกลางลงไปสู่การปฏิบัติภายใต้มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ

 

 

เอาแค่ตัวเลข ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นำเสนอคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ. งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบฯ 2565  ยกอ้างจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบถึงเด็กยากจนและยากจนพิเศษเพิ่มขึ้น สุ่มเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา มากกว่า 712,725 คน

โดยเฉพาะนักเรียนยากจนพิเศษกลุ่มช่วงชั้นรอยต่อในระดับชั้น อ.3, ป.6, ม.2, ม.3 และ ม.6 มากกว่า 400,000 คน จะหายไปเมื่อเปิดภาคเรียน ปีการศึกษาที่ 1/2564 และยังคงมีนักเรียนอีกราว 60,000 คนที่ยังคงไม่พบตัวในระบบการศึกษา

 

 

และจากข้อมูลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เวลานี้มีเด็กพิเศษ เด็กพิการ ที่ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา อีกประมาณ 54,000 คน ในกลุ่มนี้มีประมาณ 7,000 กว่าคน ที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี ซึ่งล้วนอยู่ภายใต้การดูแลของ สพฐ.

เรื่องอย่างนี้ ไม่ทราบว่า น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ.กับ คณะทีมงานที่ปรึกษา รวมถึง ทีมที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วย ศธ.อีก 2 คณะ ควรให้มีการติดตามตรวจสอบตัวเลข ตรงกับศธ.ตามที่ยกอ้างหรือไม่ เพื่อเป็นประโยชน์ในการพัฒนาร่วมกัน โดยไม่ทิ้งเด็กกลุ่มใดไว้ข้างหลัง

ดังนั้น ผลงานผ่านมาเกือบ 4 เดือน ที่มีการประเมินว่า ‘ตรีนุช’ สอบตก จึงมิได้ประหลาดใจแต่ประการใด และสะท้อนไปถึงคุณภาพมาตรฐานของทีมที่ปรึกษาของ 3 รัฐมนตรี ศธ. อยู่ในข่ายสอบไม่ผ่านด้วยเช่นกัน ???  

 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)