เสวนากับบรรณาธิการ ลุ้นอีกยก! ศธ.ยกระดับจัดการศึกษาผู้พิการ-พัฒนาศักยภาพเด็กไทยในศตวรรษ 21

ลุ้นอีกยก! ศธ.ยกระดับจัดการศึกษาผู้พิการ พร้อมผนึก 11 กระทรวง พัฒนาศักยภาพเด็กไทยในศตวรรษ 21

เสวนากับบรรณาธิการ 

จับไปเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 ที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาเรื่อง "แนวทางการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นในศตวรรษที่ 21" โดยมี นายขรรค์ ประจวบเหมาะ ประธานกรรมการมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวต้อนรับ และนางอรทัย ฐานะจาโร ประธานฝ่ายการศึกษา โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ กล่าวรายงานการดำเนินงาน

 

รมว.ตรีนุชกล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาของคนพิการทุกประเภท โดยได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่า ผู้พิการต้องได้รับสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคทางด้านการศึกษา ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ล่าสุด พบว่า ประเทศไทยมีคนพิการทุกประเภทรวมจำนวนกว่า 2.1 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้พิการทางการมองเห็น 186,701 คน

 

ซึ่ง ศธ.มีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ และให้ทุกคนได้รับการศึกษาสูงสุดเต็มตามศักยภาพ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตและประกอบอาชีพ พึ่งตนเองได้ ซึ่งในส่วนของผู้พิการทางการมองเห็นหรือตาบอดนั้น เป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือโดยเร่งด่วนเป็นพิเศษ เนื่องจากมีผู้ได้รับการศึกษาเพียงไม่กี่พันคน เพราะมีข้อจำกัดของสถานที่เรียนในระบบ ซึ่งมีเพียง 16 แห่ง และในจำนวนนี้มีสถานศึกษาของรัฐเพียง 2 แห่ง คือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดสุราษฎร์ธานี

 

ดิฉันได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับสำนักงานคณะกรรมกการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และที่สำคัญคือให้ภาคเอกชนมาร่วมกันวางแผนจัดการศึกษาเพื่อให้คนพิการทุกประเภทได้เรียน โดยตอนนี้ได้จัดให้มีโครงการปักหมุดคนพิการทั่วประเทศ รวมถึงวางแผนการจัดการศึกษาที่ครอบคลุมคนพิการทุกประเภทในทุกๆ มิติ"

 

เช่น การเพิ่มโอกาสในการเข้าเรียน โดยการเพิ่มสถานศึกษาให้มากขึ้น, การผลิตและพัฒนาครูความพิการเฉพาะด้าน และการพัฒนาสื่อ เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับคนพิการ เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ของภาคเอกชนที่ได้ดำเนินการมาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

 

 

หลังการสัมมนาได้มีพีธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดการศึกษาแก่บุคคลที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กับ ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนคนตาบอด 16 โรงเรียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาด้านอาชีพและเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพให้แก่นักเรียนพิการทางการเห็น พัฒนา ส่งเสริม สนับสนุนในการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาสำหรับนักเรียนพิการทางการเห็น และสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันด้านการศึกษาและพัฒนานักเรียนพิการทางการเห็นโดยองค์รวมที่เข้มแข็งและยั่งยืน ตลอดจนสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันด้านการศึกษาและพัฒนานักเรียนพิการทางการมองเห็นโดยองค์รวมที่เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป

 

 

ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้แจ้งให้วิทยาลัยในสังกัด  ดำเนินการจัดการศึกษาเรียนร่วมเด็กพิการกับเด็กปกติ โดยมีทั้งการจัดการศึกษาแบบเรียนร่วมในทุกสาขาวิชา และฝึกทักษะอาชีพต่างๆ

 

นอกจากนี้ สอศ.ยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเมอร์ซี่ ประเทศนิวซีแลนด์ อบรมพัฒนาครูที่จัดการศึกษาคนพิการอย่างเข้มข้น อีกทั้งยังได้จัดตั้งศูนย์อาชีวศึกษาเพื่อคนพิการ ขึ้นที่ สอศ.ด้วย โดยศูนย์ดังกล่าวจะทำหน้าที่เป็นศูนย์ขับเคลื่อนข้อมูล ส่งเสริม และพัฒนาคนพิการ ให้มีทักษะอาชีพเป็นรูปแบบที่ชัดเจนมากขึ้น เพราะคนพิการก็มีศักยภาพ แม้พิการด้านร่างกาย ก็ไม่ได้พิการทางจิตใจและความคิด หากได้รับการส่งเสริมด้านอาชีพ ก็จะมีอาชีพ หาเลี้ยงตนเองได้ 

หากจะย้อนไปในปีการศึกษา 2558 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้สนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา รวมถึงการส่งเสริมให้วัยแรงงานได้จบการศึกษาภาคบังคับทุกคน และการให้โอกาสทางการศึกษาแก่ผู้พิการมากขึ้น และมอบหมายวิทยาลัยในสังกัดให้โอกาสทางการศึกษาแก่คนพิการและผู้บกพร่องทางสติปัญญาเพิ่มขึ้น  โดย ให้วิทยาลัยต่าง ๆที่มีศักยภาพ เปิดห้องเรียนพิเศษสำหรับคนพิการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้บกพร่องทางการได้ยิน ให้ครบทุกภูมิภาคและครอบคลุมหลายจังหวัด เพิ่มขึ้น

 

 

จากเดิมที่เปิดรับอยู่แค่ 4 วิทยาลัยหลัก ได้แก่ วิทยาลัยสารพัดช่างนครหลวง วิทยาลัยสารพัดช่างชลบุรี วิทยาลัยเทคโนโลยีและการบริหารจัดการนครพนม และวิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล และ ซึ่งในปีการศึกษาต่อไป วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ ก็จะเปิดรับผู้พิการเข้าเรียนด้วย ทราบว่าสาขาที่เปิดสอนซึ่งมีผู้พิการสนใจสมัครเรียนมาก อาทิ สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่ผ่านมาทั้ง 4 วิทยาลัย ได้รับเด็กพิการเข้าเรียนแล้ว จำนวน 777 คน

 

 

นอกจากนี้ยังมีวิทยาลัยอาชีวะ ที่รับเด็กที่มีความพิการไม่มากเข้าเรียนร่วม เช่น พิการทางด้านร่างกายเข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติอีก 353 คนใน 146 วิทยาลัย และรับเด็กพิการทางการได้ยิน 236 คนใน 61 วิทยาลัย พิการทางการทางสายตา 209 คนใน 99 วิทยาลัย โดยวิทยาลัยส่วนใหญ่จัดให้ผู้พิการเข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติห้องละไม่เกิน 10 คน ขณะนี้วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา ได้เปิดรับผู้พิการเข้าเรียนจำนวนมากเช่นกัน

      
ไม่เพียงเท่านั้น ทางสอศ.ยังร่วมกับสถานประกอบการบางแห่งจัดการศึกษาในระบบทวิภาคี รับผู้พิการเข้าทำงานด้วย และ ขณะเดียวกัน ทางสอศ.ก็มีการประสานกับสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ส่งครูอาชีวะเข้าอบรมการจัดการเรียนการสอนให้แก่ผู้พิการ โดยครูที่ผ่านการอบรมหลักสูตร สพฐ. เพื่อจะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มจำนวน 2,000 บาท

 

 

ทราบว่า ตั้งแต่ปี 2563 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.),​ คณะครุศาสตร์ สาขาการศึกษาพิเศษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และ สถานศึกษาอาชีวศึกษานำร่องจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล จ.นครปฐม, วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ วิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์  และ วิทยาลัยเทคโนโลยีดอนบอสโก กรุงเทพฯ, วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา จ.ชลุบรี สร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนผู้พิการ และพัฒนารูปแบบ (Model) การจัดการศึกษาที่จะตอบโจทย์ด้านการดูแลความเป็นอยู่ การพัฒนาทักษะชีวิต

 

 

หลักสูตรการเรียนการสอนที่เน้นการพัฒนาตามศักยภาพรายบุคคล และการทำงานกับสถานประกอบการเพื่อให้เกิดการมีงานทำหลังเรียนจบ

 
มองภาพรวมในการดำเนินการจัดการศึกษาเรียนร่วมเด็กพิการกับเด็กปกติในทุกสาขาวิชา และฝึกทักษะอาชีพต่าง จาก  ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ กอศ. ที่ดูแลประสานงานร่วมกันในการส่งต่อและรับนักเรียนพิการทางการเห็นเข้าเรียนในระดับอาชีวศึกษาทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และระบบทวิภาคี และส่งเสริม สนับสนุนร่วมมือในด้านวิชาการ ด้านคุณธรรม จริยธรรม ด้านสุขภาวะอนามัย และชีวิตความเป็นอยู่ของนักเรียนพิการทางการเห็นให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว

 

มั่นใจว่า ความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ จากศธ.ที่มี สอศ.และสพฐ.เป็นหน่วยงานหลัก ได้ร่วมกับองค์กรเอกชนและองค์กรรัฐ อย่างเข้มแข็งจริงจัง จะเป็นผู้เปิดประตูการศึกษา และนำพาเยาวชนกลุ่มนี้ไปสู่การพึ่งพาตัวเองได้อย่างแท้จริง 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)