สมาคมครูชนบท สะกิด เสมา 1 ต้องรู้ทันสำนักพิมพ์ “ครอบงำ สพฐ.” เปลี่ยนแปลงหลักสูตร 8 กลุ่มสาระ เหลือแค่ เรียน อ่าน-คิด และ ชีวิต ประเมินแค่ ผ่านไม่ผ่าน

 

สมาคมครูชนบท สะกิด เสมา 1 ต้องรู้ทันสำนักพิมพ์ “ครอบงำ สพฐ.” เปลี่ยนแปลงหลักสูตร 8 กลุ่มสาระ เหลือแค่ เรียน อ่าน-คิด และ ชีวิต ประเมินแค่ ผ่านไม่ผ่าน

 

นายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ยื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แสดงความคิดเห็นและข้อห่วงใย จากข้าราชการระดับสูง ของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คัดค้านข้อเสนอของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มีมติเห็นชอบว่า

 

“เด็กระดับชั้นประถมศึกษา ต้องฝึกอ่าน คิด และมีชีวิต ที่สมบูรณ์ โดยเปลี่ยนแปลงหลักสูตรจากเดิมเคยเรียน 8 กลุ่มสาระ (8 รายวิชา) เป็นบูรณาการให้เหลือ เรื่องอ่าน เรียนคิด และเรียนชีวิตและให้ยกเลิกระบบคะแนนในการตัดเกรด เปลี่ยนเป็นประเมินเพื่อพัฒนา...” เกรงหลงกลสำนักพิมพ์ และมีปัญหาการระบบให้คะแนนตัดเกรดระดับอุดมศึกษา ดังหนังสือที่ สค.ชย.๐๒๘/๒๕๖๗ ลงวันที่ ๑๒  มิถุนายน ๒๕๖๗ รายละเอียดในว่า

 

ด้วยสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ได้รับแจ้งเป็นการภายใน จากข้าราชการระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แจ้งมาด้วยความเป็นห่วงว่า คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มีมติเห็นชอบว่า เด็กระดับชั้นประถมศึกษา ต้องฝึกอ่าน คิด และมีชีวิต ที่สมบูรณ์ โดยเปลี่ยนแปลงหลักสูตรจากเดิมเคยเรียน 8 กลุ่มสาระ (8 รายวิชา) เป็นบูรณาการให้เหลือ เรื่องอ่าน เรียนคิด และเรียนชีวิตและให้ยกเลิกระบบคะแนนในการตัดเกรด เปลี่ยนเป็นประเมินเพื่อพัฒนาว่าผ่านหรือไม่ผ่านเท่านั้น 

       

ในการนี้คณะผู้แจ้ง มีความเป็นห่วงและห่วงใย ระบบการจัดการตามนัยสำคัญของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 258 จ (4) เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาอย่างยั่งยืน การจัดการเรียนการสอนหรือวิธีสอน หรือวิธีเรียนรู้ที่เป็นกระบวนการ เป็นกลไกที่สำคัญที่สุดที่ทำให้หลักสูตรการศึกษา ที่อิงมาตรฐานขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย พัฒนาคุณภาพนักเรียนได้บรรลุเป้าหมายและเกิดผลผลิตของนักเรียนเป็นผลปลายทาง การวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ ต้องเน้นตามสภาพจริงด้วยเกณฑ์คำอธิบายระดับคุณภาพ

 

หลักสูตรประเทศไทยที่ผ่านมา เรียกว่า หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ฉบับปรับปรุง 2560 เป็นหลักสูตรมาตรฐาน (Standard Based curium) เป็นหลักสูตรที่ดีหลักสูตรหนึ่ง ทราบจากข้อมูลว่า ได้นำเอามาตรฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ มาจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด หลักสูตรนี้ จึงมีเป้าหมายที่ดี เพราะเน้นการแสดงออกของนักเรียนผ่านการคิด การลงมือทำจริง ไม่ได้เน้นท่องจำเนื้อหาเลยแม้แต่น้อย เหมือนอดีตที่ผ่านมา คือ หลักสูตรที่เน้นเนื้อหา (Content Based Curriculum)

 

คณะผู้แจ้งเป็นการภายในเป็นห่วงว่าหากกระทรวงศึกษาธิการ เปลี่ยนไปดำเนินการตามที่คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานนำเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการ เปลี่ยนแปลงหลักสูตรจากเดิมเคยเรียน 8 กลุ่มสาระ(8 รายวิชา) เป็นบูรณาการให้เหลือเรื่องอ่าน เรียนคิด และเรียนชีวิต และให้ยกเลิกระบบคะแนนในการตัดเกรดเปลี่ยนเป็นประเมินเพื่อพัฒนา ว่า ผ่านหรือไม่

 

ดังรายละเอียดเพื่อนำเรียนเสนอให้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เห็นชอบและอนุมัติ สั่งการ คณะผู้แจ้งเป็นการภายในห่วงใย ด้วยเหตุผลดังนี้

 

1. หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ฉบับปรับปรุง 2560 ควบคุมเนื้อหาอยู่แล้ว สมบูรณ์แล้วและดีแล้ว ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน

 

2. การมาปรับเปลี่ยนในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดความผิดพลาด สุดจะแก้ไขได้เพราะเคยเรียน 8 กลุ่มสาระ (8 รายวิชา) หากเปลี่ยนเป็นบูรณาการให้เหลือเรียนอ่าน เรียนคิด และเรียนชีวิต เลือกระบบให้คะแนนตัดเกรด เปลี่ยนเป็นประเมินเพื่อพัฒนาว่าเรียนผ่านไม่ผ่าน นั้น เป็นการขาดความเป็นมาตรฐานสากล ทำให้ไม่มีหลักฐานบันทึกคุณภาพผู้เรียน ผลการเรียนเป็นรายบุคคล จะรู้ได้อย่างไรว่าคุณภาพผู้เรียนเป็นอย่างไร ไม่มีประเทศทั่วโลกคิดทำกันอย่างแน่นอน

 

3. เมื่อไม่ได้เรียน 8 กลุ่มสาระ (8 รายวิชา) จะรู้ได้อย่างไรว่า ผู้เรียนมีความสามารถด้านใด ในเมื่อการเรียนในระดับอุดมศึกษา มีผลการเรียนตัดเกรดเป็นรายวิชา การศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่เป็นแนวเดียวกันกับการศึกษาระดับอุดมศึกษา ลองคิดดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต จะเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา ก็ต้องมีผลคะแนนรายบุคคลอ้างอิงด้วย

 

4. อยากทราบว่าผู้เสนอแนวคิด นี้ คิดเพื่อใคร ปรากฏว่ามีชื่อ (บุคคลภายนอก ขอสงวนนาม ) มาเกี่ยวข้องอยากทราบ ว่า คือ ใคร มีผลประโยชน์อะไรกับการมาเสนอแนวคิดนี้อย่างไร หรือ เป็นเจ้าของกิจการสำนักพิมพ์ที่แอบแฝงไว้ซึ่งผลประโยชน์

 

 

หากให้บุคคลภายนอกที่ไม่รู้เรื่องการจัดการศึกษาตามกฎหมายอย่างแท้จริง คณะผู้แจ้งเป็นการภายใน ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความวิตกกังวลเป็นอย่างมาก

 

5. หากมีการปรับใช้หลักสูตรการศึกษา ตามคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นำเสนอ ผู้อนุมัติให้มีการปรับใช้ ต้องรับผิดชอบหากมีความเสียหายเกิดขึ้น

 

สมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ขอเรียนว่า ขอให้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ศึกษาข้อมูลให้รอบคอบ อย่าได้หลงเชื่อบุคคลกลุ่มนี้ โดยเด็ดขาด สมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ขอเป็นกำลังใจให้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอกเพิ่มพูน  ชิดชอบ) นำการศึกษาของชาติให้มั่นคงสืบไป

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage