ธนุ” สั่งยกระดับคุณภาพและมาตรฐาน บริหารจัดการ ร.ร.ขนาดเล็กและขยายโอกาส สร้างขวัญกำลังใจให้กับครูในทุกมิติ

 

ธนุ” สั่งยกระดับคุณภาพและมาตรฐาน บริหารจัดการ ร.ร.ขนาดเล็กและขยายโอกาส สร้างขวัญกำลังใจให้กับครูในทุกมิติ 

 

เมื่อวันที่ 3 ก.ย.ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธาน การประชุมคณะทำงานบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ในสังกัดทั้งหมด 29,152 โรงเรียน มุ่งเน้นการบริหารโรงเรียนขนาดเล็กในทุกมิติ ทั้งด้านวิชาการ ด้านงบประมาณ ด้านการบริหารงานบุคคล และด้านบริหารทั่วไป

 

การประชุมครั้งนี้ มี นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. ผู้อำนวยการสำนักที่เกี่ยวข้อง ประธานกรรมการบริหารกลุ่มพื้นที่ประจำเขตตรวจราชการทั้ง 18 เขต ผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดเล็ก และบุคลากรของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ zoom meeting

 

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ในปัจจุบัน สพฐ. มีโรงเรียนในสังกัดทั้งหมด 29,152 โรงเรียน แบ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวน 15,327 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 52.58 ของโรงเรียนทั้งหมด และจำแนกเป็นโรงเรียน STAND ALONE หรือโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 1-120 คน และไม่สามารถยุบรวมโรงเรียนได้เพราะเด็กต้องมาเรียนอยู่ จำนวน 4,349 โรงเรียน

 

ซึ่งหากเราสามารถบริหารโรงเรียนขนาดเล็กให้ดีขึ้นได้อย่างเป็นระบบ ก็จะเป็นก้าวหนึ่งในการยกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ส่งผลให้เกิดการพัฒนาการศึกษาอย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้เรียน ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ได้อย่างแท้จริง” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

 

กล่าวต่อไปว่า การบริหารโรงเรียนขนาดเล็กของ สพฐ. ไม่ใช่เพียงการจัดทำแผนการเรียนรวมหรือยกเลิกสถานศึกษา ในการดำเนินการต่อจากนี้จะต้องมุ่งเน้นการบริหารโรงเรียนขนาดเล็กในทุกมิติ ทั้งด้านวิชาการ ด้านงบประมาณ ด้านการบริหารงานบุคคล และ ด้านบริหารทั่วไป ดังนี้

 

โดยในด้านวิชาการ จะดำเนินการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาให้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและมีผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้น

 

ส่วนในด้านงบประมาณ สพฐ. ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการศึกษาและวางแผนจัดตั้งงบประมาณในลักษณะ TOP UP เพิ่มเติมให้กับโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีจำนวนนักเรียนไม่เกิน 60 คน นอกเหนือจากเงินอุดหนุนรายหัวที่ได้รับ

 

 

ขณะที่ในด้านบริหารงานบุคคล ได้มอบหมายให้สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ ไปศึกษากฎระเบียบ หลักเกณฑ์ ที่สามารถดำเนินการได้ ในการจัดกลุ่มเครือข่ายคุณภาพ สามารถนำกรอบวงเงินของครูในกลุ่มเครือข่ายมารวมกันเพื่อนำไปพิจารณาให้กับครูในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนไม่เกิน 60 คน ได้มากขึ้น เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับครู ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่จำนวนมากในโรงเรียนขนาดเล็ก

 

รวมทั้งต้องจัดรูปแบบการบริหารเจ้าหน้าที่ธุรการ ให้สับเปลี่ยนหมุนเวียนไปปฏิบัติหน้าที่ที่โรงเรียนในกลุ่มเครือข่ายเหล่านั้นโดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรร่วมกัน

 

และในด้านการบริหารทั่วไป ได้มอบหมายให้สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำเนินการสำรวจการใช้ประโยชน์พื้นที่ของโรงเรียนที่ไม่มีนักเรียนแล้ว (นักเรียนศูนย์คน) ว่าสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มีการบริหารจัดการอย่างไร รวมทั้งจะให้ดำเนินการสำรวจข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี สำหรับโรงเรียนที่มีการรวม หรือเลิกสถานศึกษาไปแล้ว ว่าทาง สพท. มีการบริหารจัดการเกี่ยวกับพื้นที่อย่างไร

 

“ ซึ่งการพัฒนาคุณภาพในโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อให้เด็กและเยาวชนในทุกพื้นที่ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เป็นสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ คณะที่ปรึกษา รมว.ศธ. ปฏิบัติหน้าที่โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงตนเองให้ความสำคัญมาโดยตลอด " เลขาธิการ กพฐ. กล่าว