ธนุ” มอบ 41 สพท.สานพลังถอดรหัสขับเคลื่อน “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ”ตามบริบทตนเอง 1,808 แห่ง

 

ธนุ” มอบ 41 สพท.สานพลังถอดรหัสขับเคลื่อน

1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ”ตามบริบทตนเอง

1,808 แห่ง 

 

สพฐ. หนุน 41 สพท.ทำวิจัยถอดบทเรียนเฟ้นหาแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ ขับเคลื่อน “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” โรงเรียน เป็นหลักรองรับโรงเรียนเครือข่ายมาเรียนรวม-แบ่งปันทรัพยากร

 

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ดำเนินโครงการ “ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ ” ตามนโยบายเร่งด่วน ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) นั้น เพื่อบรรลุเป้าหมายทำให้โรงเรียนในโครงการฯทั้งหมด จำนวน 1,808 โรงเรียน เป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ ได้มาตรฐานตามบริบทของตนเอง ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทั่วประเทศได้จริงนั้น

 

สพฐ. จึงมอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ซึ่งมีโรงเรียนคุณภาพในพื้นที่ที่มีความเป็นเลิศโดดเด่น ไปทำวิจัยเชิงพัฒนานวัตกรรมยกระดับโรงเรียนคุณภาพตามนโยบาย โดยถอดบทเรียนจากการดำเนินงานบริหารจัดการศึกษาที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้มีจำนวน สพท.ที่ส่งโครงร่างงานวิจัยมา ทั้งสิ้น 41 เขตพื้นที่การศึกษา และจะเร่งดำเนินการวิจัย ถอดบทเรียนให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีการศึกษา 2567  

 

ทั้งนี้เพื่อเป็นข้อมูลพิจารณาหาแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ มาขับเคลื่อน และไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานของโรงเรียนคุณภาพที่กำลังพัฒนายกระดับให้โดดเด่น เป็นโรงเรียน ที่มีความพร้อมในการเป็นโรงเรียนหลัก รองรับโรงเรียนเครือข่ายในการเรียนรวม ตลอดจนแบ่งปัน และใช้ทรัพยากรทางการศึกษาร่วมกันอย่างมีคุณภาพต่อไป

 

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า โดยยกตัวอย่างโครงร่างงานวิจัยที่เขตพื้นที่เสนอมามีหลายหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น โครงร่างงานวิจัยถอดบทเรียนการดำเนินโครงการโรงเรียนคุณภาพ รูปแบบการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณภาพสู่การเป็นศูนย์กลาง การเรียนรู้และการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สุพรรณบุรี เขต 1 ที่ดำเนินการขับเคลื่อนงานด้วยรูปแบบ/เทคนิค ซึ่งทำให้เกิดความสำเร็จตามกระบวนการ SPB’1 Seven Steps ที่เป็นกระบวนการเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนคุณภาพและโรงเรียนเครือข่าย โดยมี 7 ขั้นตอน ดังนี้ คือ  1.วิเคราะห์บริบท 2.กำหนดแนวทาง 3.สร้างทีมงานเด่น 4.เน้นการมีส่วนร่วม 5.รวมพลังติดตาม 6.นำผลพัฒนา และ 7.พาชื่นชมยินดีสร้างขวัญกำลังใจ

 

นอกจากนี้ ยังมีการขับเคลื่อนกิจกรรมการดำเนินงานการจัดการเรียนรู้เชิงรุก Active Learning และหลักสูตรฐานสมรรถนะ โดยวางแผนบูรณาการใช้ทรัพยากรร่วมกัน เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม จากการบริหารจัดการสถานศึกษาในภาพรวม พบว่า ปัจจัยสู่ความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา มีหลายประการที่สำคัญ ได้แก่

 

1.การมีส่วนร่วมและได้รับการสนับสนุนชุมชนและผู้ปกครอง

2.คุณภาพของบุคลากรทางการศึกษา ทั้งครู และผู้บริหารโรงเรียนที่มีคุณภาพ มีทักษะ ความสามารถในการสอน และการบริหารจัดการที่ดี

3.โรงเรียนต้องได้รับการจัดสรรทรัพยากรที่เพียงพอ เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์การเรียนการสอน สื่อการเรียนการสอน หรือโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม

4.การสนับสนุนจากภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น งบประมาณ การฝึกอบรมครู

5.มีการประเมินและติดตามผลที่ต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้ทราบ ถึงความก้าวหน้า ประสิทธิภาพของโครงการ และทำให้สามารถปรับปรุงแก้ไขในจุดที่ยังมีปัญหาได้อย่างทันท่วงที 6.การสร้างแรงจูงใจและการยกย่องความสำเร็จให้แก่ครู นักเรียน และบุคลากรในโรงเรียน และ

7.มีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์ท้องถิ่น มีความยืดหยุ่นต่อความต้องการของนักเรียนและชุมชน ซึ่งจะช่วยให้การศึกษาในโรงเรียนมีความเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันและสังคมมากขึ้น.

 

"หากสำนักงานเขตพื้นที่ทั้ง 41 แห่ง ทำวิจัยถอดบทเรียนเฟ้นหาแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ ขับเคลื่อน “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” ผ่านความเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว จะได้นำมาสู่การปฏิบิติ และเป็นหลักรองรับโรงเรียนเครือข่ายมาเรียนรวม โดยบูรณาการใช้ทรัพยากรร่วม มั่นใจว่า การถอดบทเรียนจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีการศึกษา 2567 นี้" ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา กล่าว