อาชีวะพัฒนาทักษะเยาวชนอาชีวะสู่การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

 

 

 

 

 

วันที่ 11 กันยายน 2567 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(เลขาธิการกอศ.)เป็นประธานพิธีปิด เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนการดำเนินงานกิจกรรมพัฒนาทักษะเยาวชนอาชีวศึกษาสู่การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง พร้อมมอบเกียรติบัตร แก่สถานศึกษา 51 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการ จัดโดยสำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ ร่วมกับ วิทยาลัยพณิชยการธนบุรี ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต จังหวัดปทุมธานี

 

 

นาย ยศพล  เวณุโกเศศ กล่าวตอนหนึ่งว่า “ขอให้ทุกท่านที่ได้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ ซึ่งเป็นกิจกรรมการถอดบทเรียนจากการศึกษา และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อันเป็นจุดเริ่มต้นแห่งเมล็ดพันธุ์ที่กล้าแข็งในการเติบโตไปในภายภาคหน้า  ทั้งในองค์กรหน่วยงานของรัฐและเอกชน สิ่งที่ได้รับจะเกิดประโยชน์ต่อตัวเอง ต่อสถานศึกษา ขอให้ทุกท่านได้ส่งต่อดูแลและพัฒนาชุมชน ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่เวทีแรกที่ได้เห็นฝีมือของผู้เรียนอาชีวะจากการเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ที่จะเกิดขึ้น ขอให้ทุกท่านได้นำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการเรียนการสอน การดำเนินชีวิต และทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป“

 

 

เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีวิสัยทัศน์ในการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวะสมรรถนะสูงเพื่อพัฒนาประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สิ่งสำคัญ สอศ. มุ่งหวัง นักเรียนนักศึกษา โดยมีปัจจัย 3 ทักษะ คือ 1. ทักษะด้านวิชาการ จากการเรียนการสอนในสาขาต่างๆ 2.ทักษะวิชาชีพ และ 3. ทักษะชีวิต ซึ่งมีความสอดคล้องกับกิจกรรมเพื่อมุ่งเน้นในการนำเสนอและบทเรียนการดำเนินงานโครงการระดับสถานศึกษาระหว่างเครือข่ายเยาวชนอาชีวศึกษาได้ขยายต่อพลังอาชีวะคิดบวก ส่งต่อรุ่นพี่ รุ่นน้อง และเพื่อนร่วมรุ่น ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาต่อยอดถึงชุมชนสังคม

 

 

นาย ยศพล  เวณุโกเศศ เลขาธิการกอศ. กล่าวสรุปว่า ทั้งนี้ มีสถานศึกษาในสังกัด สอศ. จำนวน  51 แห่ง เป็นครู นักเรียน นักศึกษา 255 คน ที่เข้าร่วม ซึ่งมีโครงการที่ต่อยอดถึงชุมชน ที่น่าสนใจ อาทิ โครงการแยก แลก สุข  จากวิทยาลัยการอาชีพฝาง โครงการ Organic compost  จากวิทยาลัยพณิชยการธนบุรี โครงการส้มซ่า วัยเก๋า จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุทัยธานี โครงการรู้มิจ Safe me จากวิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช เป็นต้น จึงถือได้ว่าเป็นการนำร่องสถานศึกษา โดยจะต่อยอดสู่การพัฒนาในสถานศึกษาในสังกัดทั่วประเทศต่อไป