ทำไมเด็กไทยอ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้ ??

 

ย้อนกลับไปดูข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ได้รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2557 มีหัวข้อน่าสนใจเกี่ยวกับ "คุณภาพนักเรียนไทยมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำ โดยเฉพาะปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้"

โดยมีการอ้างอิงผลสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐที่สุ่มสำรวจเมื่อปี 2556 พบว่า ในจำนวนนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ราว 445,000 คน อยู่ในข่ายต้องปรับปรุงมากถึง 127,800 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 28.7 จำแนกเป็นเด็กที่อ่านไม่ได้เลย 27,000 คน, อ่านได้ แต่อยู่ในระดับปรับปรุง 23,700 คน, อ่านได้ ไม่เข้าใจ14,600 คน, อ่านได้เข้าใจบ้าง 62,000 คน

ในขณะที่เด็กชั้น ป.6 จากจำนวน 444,000 คน อยู่ในข่ายต้องปรับปรุง 73,290 คน หรือประมาณร้อยละ 16.5 จำแนกเป็นเด็กที่อ่านไม่ได้เลย 7,880 คน, อ่านได้ แต่อยู่ในระดับปรับปรุง 6,750 คน, อ่านได้ แต่ไม่เข้าใจ 7,080 คน และอ่านได้เข้าใจบ้าง 51,580 คน

คนทั่วไปอ่านข่าวนี้แล้วอาจจะรู้สึกว่าเป็นข้อมูลเก่าหรือไม่ แต่หลายคนอาจจะมีความรู้สึกตกใจมากกว่าจะคิดแค่ว่าเป็นเรื่องเก่าหรือใหม่ ยิ่งถ้ามีผลสำรวจใหม่ออกมาไม่ได้แตกต่างไปจากเดิมก็ยิ่งสะท้อนว่า ระบบการศึกษาในบ้านเราที่บริหารจัดการโดยกระทรวงศึกษาธิการ ทำไมถึงได้ตกต่ำมากถึงขนาดนี้

และหลายๆ คนอาจจะมองไปถึงคำตอบถึงต้นตอปัญหาว่า เหตุใดคุณภาพการศึกษาไทยในยุคหลังๆ ถึงได้แพ้แม้กระทั่ง ลาว และกัมพูชา จากการจัดอันดับขององค์กรระดับนานาชาติ

แต่ถ้าเป็นคนในแวดวงการศึกษาอาจจะมองเป็นเรื่องของปัญหาซ้ำซากจนชินชาไปแล้วก็ว่าได้ เพราะไม่เคยเห็นเค้าลางว่า กระทรวงศึกษาฯที่มีคนระดับด๊อกเตอร์นั่งทำงานอยู่มากมายจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ หรืออาจจะมองว่าไม่ใช่ปัญหาสำคัญอะไรมากมาย เลยไม่เอาจริงเอาจังกับการค้นหาสาเหตุแห่งความล้มเหลวนี้

หากคิดกันเช่นนั้นก็ถือว่า เป็นอันตรายต่อการพัฒนาชาติบ้านเมือง เพราะเด็กจำนวนไม่น้อยเหล่านั้นที่ต้องออกจากระบบการศึกษาไป เนื่องจากเรียนหนังสือต่อไม่ได้ และอีกจำนวนไม่น้อยที่เรียนต่อไปแบบกระท่อนกระแท่นจนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย แล้วก็ไปศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ไปกองกันอยู่ในสาขาวิชาที่พอเรียนกันได้ โดยเฉพาะสายสังคม จบปริญญาตรีออกมาก็ตกงาน ต้องไปเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยว ขายกาแฟ ขายเสื้อผ้ากันเกลื่อนบนฟุตบาทริมถนน

หลายคนอาจโชคดีหลุดเข้าไปทำงานในบริษัทต่างๆ แต่ก็ไปเป็นภาระกับรุ่นพี่ๆ อย่างที่ผมเคยพบเจอกับนักศึกษาฝึกงานหลายๆ คน เขียนหนังสือผิดเป็นประจำ เช่นกรณีที่เห็นแล้วถึงกับอึ้งกับการเขียนคำว่า “ปะหลัดกะซวง” เขียนมาได้ไง!!

ท่านผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงศึกษาธิการที่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ท่านต้องรีบหาทางแก้ไขโดยทันที ก่อนที่คุณภาพการศึกษาของประเทศไทยเราจะแพ้แม้แต่พม่า จนกลายเป็นรั้งอันดับโหล่ในกลุ่ม 10 อาเซียนในอีกไม่ช้า

ท่านผู้บริหารลองคิดกันใหม่ครับว่า เราบังคับให้เด็กเล็กๆ วัยแค่ประถมศึกษาต้นต้องเรียนวิชาภาษาไทยแต่ละระดับชั้นถึง 3-4 เล่ม และเรียนองค์ประกอบต่างๆ ของภาษาไทยมากจนเกินไปหรือปล่าว? มากจนเด็กวัยนี้ขยาดกลัว และเบื่อที่จะเล่าเรียนต่อไปหรือไม่

"คำเป็น คำตาย แม่กก แม่กง คำพ้องเสียง พ้องรูป คำสมาธิ คำสนธิ หรือคำอะไรๆ อีกหลายๆ อย่าง" เราจำเป็นต้องยัดเยียดเข้าไปในเด็กแค่วัยประถมศึกษาต้นหรือไม่? ถ้าเราจะค่อยให้พวกเขาไปเรียนตอนโตในระดับมหาวิทยาลัยในสาขาวิชาชีพเกี่ยวกับภาษาจะดีหรือไม่?

ท่านลองชักชวนคุณครูอาจารย์ที่สอนอยู่ตามโรงเรียนประถมศึกษา ซึ่งประสบปัญหากับบรรดาลูกศิษย์โดยตรง มาร่วมร่างหลักสูตรวิชาภาษาไทยที่จะให้เรียนแต่ละระดับชั้นก็น่าจะดี ไม่ใช่ใช้บริการแต่ระดับด๊อกเตอร์ที่เก่งวิชาการกันอยู่แล้วจนมองทุกอย่างง่ายนิดเดียว แต่ยากเยอะสำหรับเด็กๆ

ทั้งนี้ เราคงปฏิเสธไม่ได้ครับว่า เด็กที่เรียนต่อยอดมาได้จนจบมหาวิทยาลัยออกไปสู่โลกแห่งการทำงาน จำนวนมหาศาลที่เขียนภาษาไทยกันได้ เพราะจดจำรูปคำเสียเป็นส่วนใหญ่ สำหรับคำที่ไม่ค่อยได้เจอะเจอก็มักจะเขียนกันไม่ถูก ต้องไปเสิร์ชหาเอาจากกูเกิล

หรือท่านผู้อ่านคิดเห็นกันอย่างไร ลองสะท้อนกันออกมาครับ...

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)