เครือข่ายคนรักษ์อาชีวะทำหนังสือถึง “ปธ.กอศ.” เรียกร้อง 8 ข้อ สังคายนา สอศ.

เครือข่าย ค.ร.อ.ท.ทำหนังสือถึง “ปธ.บอร์ดอาชีวะ” ให้ข้อมูลสภาพปัญหาใน สอศ.ละเอียดยิบ! “รวบอำนาจ-เหลื่อมล้ำ-ไม่เป็นธรรม-กังขานโยบาย สุเทพ’-ตั้งสำนักซ้ำซ้อน-ไม่ส่งเสริมบุคลากร”

นายเศรษฐศิษฏ์ ณุวงค์ศรี ประธานเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (ค.ร.อ.ท.) เปิดเผยว่า ตนได้ทำหนังสือถึง ดร.รอยล จิตรดอน ประธานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เรียกร้องให้ดำเนินการการบริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ให้เป็นไปตามกฎหมาย

โดยเครือข่าย ค.ร.อ.ท.ต้องการให้บอร์ด กอศ.ได้แก้ไขและดำเนินการขับเคลื่อนการอาชีวศึกษา ที่มีนายสุเทพ แก่งสันเทียะ เป็นเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

ซึ่งได้รวบรวมประเด็นปัญหาและข้อเสนอแนะต่างๆ ของสมาชิก ค.ร.อ.ท. เสนอเป็นข้อมูลให้ประธานและคณะกรรมการ กอศ.ได้นำไปพิจารณาและแก้ไข เพื่อการขับเคลื่อนการอาชีวศึกษาสู่อนาคตที่ภาคประชาชนมีความคาดหวังอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงใน สอศ.ที่สอดรับกับศตวรรษที่ 21 ดังนี้

1.เห็นควรให้มีการกระจายอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 มาตรา 44 และ พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 มาตรา 5

โดยสาระสำคัญมาตรา 44 ให้ปลัดกระทรวง เลขาธิการสภาการศึกษา เลขาธิการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา ทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารงานทั่วไป

และตามพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ.2551 ม.10 (1) การมีเอกภาพด้านนโยบายและมีความหลากหลายในทางปฏิบัติ โดยมีการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่สถานศึกษาอาชีวศึกษาและสถาบันนั้น

ข้อเท็จจริง  ตั้งแต่ที่มีบัญญัติกฎหมายที่กล่าวถึง ณ วันนี้ สอศ.ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ให้เป็นไปตามกฎหมาย แสดงถึงว่าผู้มีอำนาจตามที่กฎหมายฯระบุ เหตุใดจึงไม่ดำเนินการหรือจงใจที่จะไม่ปฏิบัติหรือละเว้นที่จะปฏิบัติ เป็นเพราะเหตุแห่งการสงวนอำนาจไว้ที่ส่วนกลางหรือไม่ และมีความผิดในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ไม่ถือปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่  

จึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ดำเนินการให้ สอศ.กระจายอำนาจตาม พ.ร.บ.การบริหารกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 และ พ.ร.บ.การบริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ฉบับที่ 3) ม.15 กระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา ทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ การงานบริหารบุคคล และการบริหารงานทั่วไป ไปยังวิทยาลัยและสถาบัน

และ พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา 2551 ม.10 (1) ให้มีการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่สถานศึกษาและสถาบันตามที่กฎหมายกำหนดโดยเร็ว

2.การกำหนดนโยบายของนายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สืบเนื่องจากที่นายสุเทพกำหนดนโยบาย และมอบให้ผู้บิหารสถานศึกษาได้ไปดำเนินการในที่ประชุมเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564 และการให้ข่าวต่อสื่อมวลชน

โดยมีเนื้อหาว่า ในปีการศึกษา 2564 จะเน้นให้เป็นปีแห่งคุณภาพ รวมถึงการรื้อหลักสูตรที่ล้าสมัย และมอบให้ประธานอาชีวศึกษาจังหวัดพิจารณาการจัดการเรียนการสอนในจังหวัดที่จะไม่ให้มีสาขาที่ซ้ำซ้อน จะให้มีการงดรับนักศึกษา ปวช.1, ปวส.1 ในวิทยาลัยสารพัดช่างทุกสาขาวิชา และวิทยาลัยเกษตรฯ เปิดเฉพาะสาขาเกษตรเท่านั้น

และมีนโยบายที่จะให้วิทยาลัยสารพัดช่างเปลี่ยนบทบาทโดยแบ่งเป็น 2 แบบ คือ 1.วิทยาลัยที่มีนักศึกษาต่ำกว่า 750 ให้คงสถานะเดิม คือจัดการสอนวิชาชีพระยะสั้นและเทียบโอน ส่วนวิทยาลัยที่มีนักศึกษาเกิน 750 คน ให้เปลี่ยนเป็นวิทยาลัยอาชีวศึกษา เป็นต้น

ประเด็นที่ต้องตั้งคำถามและควรได้รับการชี้แจงและเห็นชอบจากคณะกรรมการการอาชีวศึกษา คือ

2.1 ประธานอาชีวศึกษาที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาที่ตั้งขึ้นตามระเบียบฯ มีกฎหมายรองรับและมีในโครงสร้างการบริหารสำนักงานหรือไม่ และประธานอาชีวศึกษาใช้อำนาจในข้อใดไปสั่งการในเรื่องที่ไม่มีกฎหมายกำหนดให้กระทำได้ถือว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

2.2 การสั่งการฯและการมอบหมายนโยบายเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564 ครั้งนี้ ของเลขาธิการ กอศ.ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการการอาชีวศึกษาที่จะให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 ม.17 หรือไม่ ถือเป็นการสั่งการที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงขอให้คณะกรรมการ กอศ.ได้สอบข้อเท็จจริงและดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

2.3 จากการสั่งการและมอบนโยบายของเลขาธิการ กอศ.ในครั้งนี้ เป็นการสร้างความหวั่นวิตกและทำลายขวัญกำลังใจของบุคลากรที่คิดว่า จะได้รับผลกระทบหลายๆ ด้านตามมา แทนที่นโยบายใหม่ๆ จะเป็นการสร้างขวัญกำลังใจผู้ปฏิบัติงาน

จึงขอให้คณะกรรมการ กอศ.ได้มอบหมายให้เลขาธิการ กอศ.ได้ทบทวนนโยบาย และได้ศึกษาถึงผลกระทบและการวางแผนดำเนินการที่มีส่วนร่วมของบุคลากร และที่สำคัญควรผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ก่อนที่จะนำสู่การปฏิบัติ

2.4 การที่เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาสั่งงดรับนศ. ปวช.1และปวส.1ในวิทยาลัยสารพัดช่างและวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีให้เลือนไปก่อนจนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจะมีมติเห็นชอบตามนโยบายกอศ.

3.การบริหารที่สร้างความไม่เท่าเทียม ปัจจุบันนี้บุคลการในสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานศึกษาทุกแห่งได้รับการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกันหลายๆ ประการจากการปฏิบัติงาน ได้แก่

3.1 การได้รับผลตอบแทนค่าสอนเกินภาระงาน ในแต่ละสถานศึกษาจะได้รับค่าตอบแทนที่สอนเกินภาระงานที่แตกต่างกันสาเหตุจากที่แต่ละวิทยาลัยมีหรือได้รับงบประมาณที่แตกต่างกัน  คณะกรรมการการอาชีวศึกษาควรหาวิธีการที่จะสร้างความเท่าเทียมในจุดนี้

3.2 การพิจารณาขั้นเงินเดือน ฐานเงินเดือน วิธีเดียวกันแต่ผลรับแตกต่างกัน การพิจารณาขึ้นเงินเดือนประจำปีโดยการคิดจากฐานเงินเดือนของแต่ละวิทยาลัยในอัตราเป็นเปอร์เซนต์ ทำให้แต่ละวิทยาลัยที่มีฐานเงินเดือนที่ได้รับแตกต่างกัน โดยวิทยาลัยที่มีบุคลากรมากจะได้จำนวนเงินเพิ่มที่มากกว่าวิทยาลัยที่มีคนน้อยฐานเงินเดือนน้อย

จึงมีประเด็นบุคลากรขอย้ายวิ่งเต้นวิทยาลัยที่มีขนาดใหญ่กว่า จึงขอให้คณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้หาวิธีการสร้างความเท่าเทียมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ให้เกิดขึ้นแก่บุคลากรอาชีวศึกษาในภาพรวมโดยเร็ว

3.3 เหตุใดจึงให้การพิจารณาเงินเดือนของผู้บริหารวิทยาลัยไปไว้ที่ส่วนกลาง เป็นการคิดแบบรวบอำนาจ สร้างฐานกำลังแก่คนส่วนกลางเพื่ออำนาจการต่อรอง หรือหวังประโยชน์อื่นใด 

ทั้งๆ ที่ผู้บริหารเหล่านั้นทำงานในท้องถิ่นในจังหวัดนั้นๆ ความดีความชอบทั้งหลายน่าที่จะได้มีการพิจารณาฯ ณ ตั้งของสถานศึกษาที่ทำงาน เป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำในยุคศตวรรษที่ 21 ควรที่คณะกรรมการการอาชีวศึกษาจะได้มีส่วนแก้ไขสร้างความเป็นธรรม และสร้างขวัญกำลังใจเป็นการคืนความเป็นธรรมให้ข้าราชการโดยเร็ว

4.การบริหารสถานศึกษา ตาม พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา พ.ศ.2551 ม.11 ได้ให้อำนาจคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยเฉพาะ ม.11 (2) กำหนดหลักเกณฑ์การตั้ง การรวม การแยกสถานศึกษา

ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับการบริหารสถานศึกษาในสังกัดสถาบันและนอกสังกัดสถาบันในปัจจุบันนี้ คือการบริหารงานการจัดการเรียนการสอน การโยกย้ายบุคลากร และปัญหาจากการสั่งการจากส่วนกลางที่ไม่มีเอกภาพและไม่เป็นไปตามกฎหมาย สร้างความสับสนในหมู่ผู้บริหารและบุคลากรอย่างมาก

จึงขอเสนอคณะกรรมการ กอศ.ในฐานะผู้มีอำนาจพิจารณา เห็นควรที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยมีเหตุผลดังนี้

4.1 เห็นควรให้สถานศึกษาอาชีวศึกษาทุกประเภทเข้าสังกัดในสถาบันการอาชีวศึกษาตามเขตพื้นที่ตั้งของสถาบันนั้นๆเพื่อความเป็นเอกภาพทางการบริหารและความเป็นมาตรฐานทางการศึกษาในพื้นที่โดยการกำกับของสถาบัน

4.2 ที่ผ่านมามีปัญหาการโยกย้าย การขาดบุคลากรของแต่ละสถานศึกษา และการย้ายระหว่างสถานศึกษา เมื่อบุคลากรอยู่ในสถาบันเดียวกันการโยกย้ายหรือการขาดแคลนบุคลากรก็จะดำเนินแก้ปัญหาในภาพรวมได้โดยสถาบัน ที่สำคัญต้องแก้ปัญหาโดยให้มีการกระจายอำนาจสู้สถานศึกษาและสถาบันให้เป็นไปตามกฎหมาย

4.3 ปัญหาการได้มาซึ่งคณาจารย์ของสถาบันฯทั้ง 23 แห่ง ขณะนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขและติดขัดที่ ก.ค.ศ. ที่ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ทั้งที่เปิดการเรียนการสอนมาหลายปีการศึกษา

เห็นควรที่คณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้ติดตามแก้ปัญหา เพื่อที่สถาบันฯจะได้เร่งรัดให้ได้มาซึ่งคณาจารย์เพื่อคุณภาพทางการศึกษาด้านอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานโดยเร็ว

5.การบริหารจัดการกรรมการสภาสถาบัน ขณะนี้คณะกรรมการสภาสถาบันทั้ง 23 แห่งตาม (2) (3) (4) (5) ได้หมดวาระทั้ง 23 สถาบัน แต่ยังไม่มีการแต่งตั้งกรรมการสภาชุดใหม่แต่อย่างใด ทำให้หลายๆ สถาบันมีปัญหาเรื่องการบริหารงาน

และที่เป็นปัญหาคือกฎกระทรวงว่าด้วยการสรรหานายกสภาและกรรมการสภา ยังมีความบกพร่องหลายข้อ ควรที่จะมีการแก้กฎกระทรวงใหม่โดยเร็ว ก่อนที่จะมีการสรรหากรรมการชุดใหม่โดยเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย

จึงขอให้คณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้มีการเร่งรัดให้ผู้เกี่ยวข้องได้ดำเนินการโดยเร็วเพื่อเห็นแก่ประโยชน์การศึกษาของประเทศชาติ 

6.การพัฒนาบุคลากร ตาม พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา พ.ศ.2551 ม.56 ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการจัดการอาชีวศึกษา การพัฒนาบุคลากร ฯลฯ 

ในการสร้างมาตรฐานการศึกษาด้านอาชีวศึกษา ต้องได้รับงบประมาณและงบสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นด้านครุภัณฑ์ และบุคลากร ตั้งแต่มีการออก พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา พ.ศ.2551 จนถึงปัจจุบันนี้ ทราบว่าไม่มีการดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.

และที่สำคัญ สอศ.ไม่เคยมีแผนงานหรืองบประมาณที่จะสนับสนุนให้บุคลากรได้ศึกษาดูงานในและต่างประเทศ เพื่อให้บุคลากรมีความรู้ความสามารถเฉพาะทาง และไม่เคยมีการสนับสนุนให้บุคลากรได้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์และสร้างคุณภาพทางการอาชีวศึกษา

จึงขอให้คณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้ขับเคลื่อนให้ผู้เกี่ยวข้องได้เห็นความสำคัญและดำเนินการในเรื่องนี้โดยเร็ว

7.เรียกร้องให้คณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้พิจารณาให้ผู้จบ ปวช., ปวส. หรือ ป.ตรี สาขาใดบ้างที่ต้องทดสอบมาตรฐานฝีมือ หรือได้รับการรับรองโดยไม่มีการทดสอบ หรือทดสอบสมรรถนะเพื่อรับเงินเดือนหรือค่าจ้างสูงขึ้นกว่าอัตราค่าจ้างฝีมือแรงของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อเป็นการจูงใจผู้เรียนสายวิชาชีพจากสถาบันการศึกษาของอาชีวศึกษา

8.การตั้งสำนักภายในสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ปัจจุบันนี้ สอศ.ได้มีการตั้งหน่วยงานภายในที่เรียกว่า “สำนัก” ที่ทำงานซ้ำซ้อนกับสำนักเดิมที่มีอยู่ โดยอ้างเพื่อการทำงานที่คล่องตัว และมีการออกคำสั่งภายในให้ผู้บริหารวิทยาลัยมาปฏิบัติหน้าที่

เป็นการเบียดบังเวลาปฏิบัติหน้าที่ในสถานศึกษาให้มีคุณภาพตามที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งเป็นการทำลายโอกาสทางการศึกษาของสถานศึกษาแห่งนั้น 

ข้อเท็จจริงควรมีการปฏิรูปกระบวนการการบริหารสำนักงาน โดยโอนภารการปฏิบัติงานสู่สถาบันหรือวิทยาลัย ดีกว่าเพิ่มคนเพิ่มงานในส่วนกลาง จึงเสนอคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้พิจารณาให้ สอศ.ได้พิจารณายุบหน่วยงานที่ซ้ำซ้อนหรือที่ไม่ถูกกฎหมาย 

และให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา คงทำหน้าที่เป็นผู้กำกับนโยบาย เพื่อติดตามงานของสถาบันหรือสถานศึกษา เหมือนทำหน้าที่เป็นกระทรวง ไม่ใช่ผู้ปฎิบัติ  ก็จะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพ

นายเศรษฐศิษฏ์ ประธานเครือข่าย ค.ร.อ.ท.กล่าวตอนท้ายว่า ข้อมูลสภาพปัญหาและข้อเสนอแนะต่างๆ ดังกล่าว ที่ได้นำเสนอต่อประธานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ตลอดจนคณะกรรมการ กอศ.ทุกท่าน ล้วนมาจากเจตนาบริสุทธิ์ที่อยากเห็นการบริหารงานใน สอศ.เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

“โดยเฉพาะการเอื้อต่อการพัฒนาการอาชีวศึกษาให้ทันยุคการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเครือข่าย ค.ร.อ.ท.ขอเรียกร้องให้นำเรื่องเหล่านี้เข้าสู่วาระการประชุมของคณะกรรมการ กอศ.โดยเร็ว และเครือข่าย ค.ร.อ.ท.พร้อมเข้าชี้แจงเพิ่มเติมและให้ความร่วมมือกับกรรมการ กอศ.อย่างเต็มที่” นายเศรษฐศิษฏ์กล่าว

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)