ครม.ไฟเขียวกฤษฎีกาบูรณาการร่าง กม.ศึกษาชาติฉบับ ‘ศธ.-สมัชชาครูฯ’

ครม.ไฟเขียวกฤษฎีกาบูรณาการร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับ ศธ.-สมัชชาเครือข่ายครู ก่อนเสนอรัฐสภา

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้สื่อข่าว สำนักข่าว EdunewsSiam รายงานความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติว่า ตามที่สมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย ( ส.ค.ค.ท.) โดยมี ดร.ดิเรก พรสีมา เป็นประธานสมัชชา ส.ค.ค.ท. ได้นำเสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ไปยัง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และต่อมารัฐสภาได้เสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ดังกล่าวไปยังรัฐบาล

ล่าสุดรัฐบาลได้นำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ฉบับของกระทรวงศึกษาธิการ (ซึ่งเป็นร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้นำร่าง พ.ร.บ.ฉบับของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ที่มี นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน ไปเปิดรับฟังความคิดเห็นของครูและบุคลากรทางการศึกษา) และฉบับของ สคคท. เข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา

และ ครม.ได้มีมติเห็นชอบ และมอบหมายให้เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกานำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติทั้งสองฉบับไปบูรณาการเข้าด้วยกัน แล้วส่งกลับไปให้ ครม.พิจารณาอีกครั้ง ก่อนเสนอไปยังรัฐสภาเพื่อให้มีการพิจารณาร่วมสองสภาต่อไป

โดยในขั้นตอนการพิจารณาของกฤษฎีกาดังกล่าวนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลด้านการศึกษา ได้ให้แนวทางว่าให้ตัวแทนของภาคประชาชนคือ สคคท.เข้าร่วมประชุมพิจารณาด้วย เพื่อการบูรณาการกฎหมายเข้าด้วยกัน

ดังนั้น ดร.ดิเรก ประธานสมัชชา ส.ค.ค.ท. จึงได้ส่งหนังสือเชิญประชุมแกนนำและสมาชิกสมัชชา สคคท.ร่วมหารือกันในวันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 นี้ เวลา 09.30-12.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคาร 33 วิทยาลัยการฝึกหัดครู มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

เพื่อให้การบูรณาการร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติทั้งสองฉบับเข้าด้วยกันอย่างราบรื่น และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศ

อนึ่ง ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล คณะกรรมการขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปการศึกษา และสมัชชา ส.ค.ค.ท. นำโดยนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เข้าร่วมประชุมกับ พล.อ.ประยุทธ์ และทีมการศึกษาของรัฐบาล เรื่องร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ

พร้อมนำเสนอประเด็นความต้องการสำคัญ 5 ประการ ได้แก่ 1.เรื่องคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา รวมถึงการจัดการศึกษาในอนาคต 2.เรื่องเอกภาพในการบริหารจัดการศึกษา ไม่ซ้ำซ้อนในการบริหาร และต้องมีธรรมาภิบาล 3.เรื่องการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ต้องเน้นเรื่องระบบคุณธรรม

4.เรื่องการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาลงสู่สถานศึกษา การให้คงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา และการมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา 

และ 5.เรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา โดยให้มีกองทุนครูแห่งแผ่นดิน และกองทุนเทคโนโลยีทางการศึกษา

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)