มีน้ำหนักแค่ไหน? ฝ่ายค้านยื่น ป.ป.ช.เอาผิด "ณัฏฐพล" กรณีเลขาฯ สกสค.

มีน้ำหนักแค่ไหน? ฝ่ายค้านยื่น ป.ป.ช.เอาผิด "ณัฏฐพล" กรณีเลขาฯ สกสค.

ผ่านพ้นศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจมาหมาดๆ พรรคร่วมฝ่ายค้านก็เตรียมการส่งเรื่องกล่าวหารัฐมนตรีหลายคนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อสอบสวนหาความผิดต่อ

ซึ่งหนึ่งในรายชื่อคือ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

โดยเบื้องต้นนั้น ตามที่ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ให้ข่าวมีเรื่องกล่าวหาเข้าข่ายการทำผิดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง กรณีการดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ของนายธนพร สมศรี

ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ

ในขณะที่นายณัฏฐพล รัฐมนตรีว่าการ ศธ. “ยืนยันไม่กังวล เพราะได้ตรวจดูกระบวนการทำงานทุกอย่างมีความถูกต้อง ไม่มีปัญหา ยินดีรับการตรวจสอบ เพราะมั่นใจในข้อมูลหลักฐานต่างๆ ว่า ไม่ได้ดำเนินการอะไรที่ผิดกฎหมาย”

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าคนในรั้วกระทรวงศึกษาธิการต่างเคยได้รับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์กรณีการเข้ามานั่งเก้าอี้เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. ของนายธนพร สมศรี ในระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่มีบทสรุปเกี่ยวกับความถูกต้องชอบธรรมอย่างเป็นทางการ

ดังนั้น การที่พรรคฝ่ายค้านจะส่งเรื่องกล่าวหานี้ไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้สอบสวนหาข้อเท็จจริง ก็ถือเป็นแนวทางที่จะได้คลี่คลายข้อเคลือบแคลงสงสัยต่างๆ ให้เกิดความกระจ่าง

ทั้งนี้ทั้งนั้น เสียงวิพากษ์วิจารณ์เคลือบแคลงสงสัยถึงที่มาของการเข้ามาเป็นเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. ของนายธนพร สมศรี จากที่ทั้งพรรคการเมืองฝ่ายค้านและคนในรั้วกระทรวงศึกษาธิการต่างได้รับรู้รับฟังกันมา คงจะไม่ได้แตกต่างกันมากนัก

ประการแรก สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. เคยมีระเบียบคณะอนุกรรมการบริหารทรัพยากรบุคคลว่าด้วยมาตรฐานกำหนดตำแหน่งพนักงานเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๖๐

โดยระเบียบดังกล่าว ได้บัญญัติถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่ง “รองเลขาธิการ สกสค.” ไว้ว่า -มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโท –เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำ หรือเคยเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำ สกสค.มาแล้ว หรือเคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหาสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการรวมกันไม่น้อยกว่าสิบปี

หรือเคยเป็นข้าราชการในสายงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับ ๘ หรือระดับชำนาญการพิเศษหรือเทียบเท่าในกระทรวงศึกษาธิการมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี 

เหตุผลในการกำหนดคุณสมบัติบุคคลเช่นนี้ ก็เนื่องจากเจตนารมณ์ต้องการให้ผู้ที่เคยเป็นครูหรือบุคลากรทางการศึกษาที่อยู่ในวงการครู หรือเจ้าหน้าที่ใน สกสค.เป็นผู้ทำหน้าที่รองเลขาธิการ สกสค. เพราะเป็นกิจการของครู

ดังนั้น จึงต้องให้ครูดูแลและเฝ้าระวังรักษาผลประโยชน์ของครู เพราะ สกสค.มีสินทรัพย์ที่ใช้ในการบริหารหลายหมื่นล้านบาท      

ประการที่ ๒. สมัย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แต่งตั้งนายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการ กช.ปัจจุบัน ให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นเลขาธิการ สกสค.

และนายอรรถพลได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยดี เพราะเป็นนักบริหารการศึกษามีประสบการณ์สูงในหลายๆ เรื่อง มีความเข้าใจในปัญหาและโอกาสในเรื่องสวัสดิการครูเป็นอย่างดี

แต่ต่อมาเมื่อนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ มารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้นายอรรถพลพ้นจากปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค. และได้แต่งตั้งนายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ มาปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค.แทน

โดยไม่ได้แจ้งให้สังคมทราบว่า นายอรรถพลมีข้อบกพร่องอย่างไร และไม่ได้แจ้งให้สังคมทราบว่า นายดิศกุลมีความสามารถหรือมีอะไรดีกว่านายอรรถพล ทั้งนี้ ได้มีการแต่งตั้งนายดิศกุลให้ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค. เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๒

ดิศกุล เกษมสวัสดิ์

ประการที่ ๓. หลังจากได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการ สกสค.เพียง ๒๑ วัน นายดิศกุลได้ลงนามยกเลิกระเบียบคณะอนุกรรมการบริหารทรัพยากรบุคคลว่าด้วยมาตรฐานกำหนดตำแหน่งพนักงานเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๖๐

และได้ มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่ง “รองเลขาธิการ สกสค.” ไว้แต่เพียงว่า “มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษากำหนด มีคุณสมบัติและประสบการณ์ตามที่ สกสค.กำหนด”

การแก้ไขหลักเกณฑ์เช่นนี้ส่งผลให้ นายธนพร สมศรี ซึ่งเคยเป็นผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติในการทำหน้าที่เป็นรองเลขาธิการ สกสค. กลายเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติทันที

ประการที่ ๔. นายธนพร สมศรี ซึ่งเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ พรรคการเมืองเดียวกับนายณัฏฐพล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๒ ได้ลาออกจากการเป็นข้าราชการการเมืองฯเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๒

หลังจากที่นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ ลงนามแก้ไขหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่ง "รองเลขาธิการ สกสค." เพียงวันเดียว 

ธนพร สมศรี

ประการที่ ๕. เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค. ได้ลงนามแต่งตั้งนายธนพร สมศรี ให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ สกสค.

เป็นการลงนามแต่งตั้งนายธนพร สมศรี ให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ สกสค. หลังจากการยกเลิกแก้ไขหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติตำแหน่งรองเลขาธิการ สกสค.เพียง 7 วัน

ประการที่ ๖. เมื่อวันที่ ๕-๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๓ ได้มีการประกาศรับสมัครเลขาธิการคุรุสภา และเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. โดยมีผู้ที่มีความรู้ ความสามารถและมีประสบการณ์ด้านการศึกษา และเคยปฏิบัติหน้าที่ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการหลายรายยื่นใบสมัคร

นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ ซึ่งมีประสบการณ์ด้านการบริหารสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. แต่กลับไม่ได้ยื่นใบสมัครเป็นเลขาธิการ สกสค. แต่ไปยื่นสมัครเป็นเลขาธิการคุรุสภา

ส่วน นายธนพร สมศรี ซึ่งไม่ได้เรียนจบมาทางด้านการศึกษา ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการจัดการเรียนการสอน ไม่เคยเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ไม่เคยมีประสบการณ์ในการบริหารสวัสดิการของหน่วยงาน ได้ยื่นใบสมัครเป็นเลขาธิการ สกสค.

ประการที่ ๗. ผลการสรรหาปรากฏว่า นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ ได้รับการพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคุรุสภา และ นายธนพร สมศรี ได้รับการพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สกสค.

ลำดับเรื่องราวทั้งหมดนี้ สังคมครูและบุคลากรทางการศึกษาต่างตั้งคำถามที่ต้องการคำอธิบายจากผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องว่า

- การที่นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ ซึ่งเพิ่งจะปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค.เพียง ๒๑ วัน ก็ได้มีการดำเนินการให้มีการรื้อแก้ไขคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ สกสค.นั้น

ได้เคยมีการวิเคราะห์วิจัยไว้เป็นหลักฐานหรือไม่ว่า คุณสมบัติที่กำหนดไว้เดิมไม่ดีอย่างไร

- การที่นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ ได้แต่งตั้งให้นายธนพร สมศรี เป็นรองเลขาธิการ สกสค. (ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ สกสค.) หลังจากได้มีการลงนามแก้ไขเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติฯเพียง 7 วันนั้น

มีเหตุผลที่จะอธิบายต่อสังคมหรือไม่ว่า ทำไมต้องเลือกนายธนพร สมศรี ให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ สกสค. นายธนพรมีความรู้ ความสามารถอะไรเป็นพิเศษ หรือมีประสบการณ์อะไรเกี่ยวกับเรื่องการบริหารสวัสดิการครู จนถึงขั้นต้องแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ สกสค.

- ทำไมนายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สกสค. ไม่ลงสมัครเป็นเลขาธิการ สกสค. แต่กลับไปสมัครเป็นเลขาธิการคุรุสภา

- การที่คณะกรรมการสรรหาเลขาธิการ สกสค. ได้มีมติเลือกนายธนพร สมศรี ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สกสค. ทั้งๆ ที่ผู้สมัครรายอื่นต่างเคยอยู่ในวงการศึกษามานาน และบางรายมีประสบการณ์ในการบริหาร สกสค.มาก่อน

เรื่องเช่นนี้ คณะกรรมการสรรหาเลขาธิการ สกสค. จะอธิบายสังคมอย่างไร?

ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้ว่าพรรคการเมืองฝ่ายค้านจะอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลหลักฐาน เพื่อเตรียมยื่นเรื่องกล่าวหานี้ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้สอบสวนหาข้อเท็จจริงให้เกิดความกระจ่าง

แต่กระนั้น คนในวงการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งล้วนเป็นสมาชิกสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. จำนวนไม่น้อยที่อาจจะมีคำตอบอยู่ในใจกันบ้างแล้ว!!

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)