‘สานิตย์’โต้เดือด‘สุภัทร’ ชง‘ตรีนุช’เปลี่ยน ปธ.สืบฯสรรหา ผอ.สกสค.-ปลัด ศธ.

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 นายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (ผอ.สกสค.) จังหวัดชัยภูมิ 4 วาระ ในฐานะผู้ร้องเรียนกล่าวหาเงื่อนงำความไม่โปร่งใสในการสรรหา ผอ.สกสค.จังหวัด/กรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์กรณีนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงเงื่อนงำความไม่โปร่งใสในการสรรหา ผอ.สกสค.จังหวัด ตามที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. มอบหมาย ได้กล่าวกับสื่อมวลชนประจำ ศธ.เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา ว่า

“ได้เชิญผมในฐานะผู้ร้องเรียนไปให้ปากคำ พร้อมแสดงหลักฐานการร้องเรียน แต่ผมไม่ให้ความร่วมมือ ซึ่งการร้องเรียนจะต้องมีหลักฐานที่ชัดเจน ไม่ใช่การกล่าวอ้างลอยๆ ดังนั้น กำหนดเวลา 15 วัน ที่ให้สอบสวนเสร็จสิ้น ก็คงไม่เป็นไปตามนั้น" และยังกล่าวด้วยว่า " ไม่ใช่หน้าที่ของคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริง ที่จะต้องไปนั่งหาข้อมูลเอง” นั้น

นายสานิตย์ กล่าวว่า เรื่องการเชิญตนในฐานะผู้ร้องเรียนไปให้ปากคำนั้น เนื่องจากอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ตนจึงไม่สะดวกเดินทางจากที่พักใน จ.ชัยภูมิเข้าไปให้ปากคำในกรุงเทพฯ แต่ตนได้ประสานกับฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงชุดนี้แล้ว บอกให้ตนส่งเป็นหนังสือยืนยันข้อร้องเรียนกล่าวหาไปให้ก็ได้ ซึ่งตนก็ได้ส่งไปให้เรียบร้อยแล้ว 

“ในสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด ทางคณะกรรมการฯแจ้งมาให้ผมส่งเอกสารและยืนยันเอกสารข้อร้องเรียนกล่าวหา ผมก็ส่งไปให้แล้ว ยังมีหน้ามาบอกว่าผู้ร้องไม่ไปให้ปากคำ ไม่ให้ความร่วมมือ การกล่าวอ้างอย่างนี้ ผมขอถามนายสุภัทรว่า มีอะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่” 

เพราะการให้สัมภาษณ์ของนายสุภัทรเริ่มตั้งแต่ที่ระบุว่า น.ส.ตรีนุชได้แต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงกรณีการสรรหา ผอ.สกสค.จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ และหนองคายนั้น นายสุภัทรได้ทำหน้าที่ตรงกับข้อเท็จจริง หรือมีความบกพร่องแตกต่างไปจากบันทึกข้อความคำสั่งของ น.ส.ตรีนุช ที่ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 หรือไม่ 

โดยในบันทึกข้อความคำสั่งของ น.ส.ตรีนุช ระบุชัดเจนว่า "ตามที่ตนในนามสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ได้ร้องเรียนกล่าวหาขอให้ตรวจสอบการสรรหา ผอ.สกสค.จังหวัดที่ผ่านมา ไม่โปร่งใสและไม่เหมาะสม ซึ่งหมายถึงการสรรหา ผอสกสค./กรุงเทพมหานคร 64 จังหวัด เมื่อปลายปี พ.ศ.2563 รวมทั้งตนได้ร้องเรียนกล่าวหากรณีที่กำลังสรรหา ผอ.สกสค.จังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ และหนองคาย ด้วย ซึ่ง น.ส.ตรีนุชได้สั่งการไปยังสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.แล้ว ให้ชะลอการสรรหาออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด"  

แต่เพราะเหตุใดนายสุภัทรกลับให้สัมภาษณ์ว่า คณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงฯสืบเฉพาะกรณีการสรรหา ผอ.สกสค.จังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ และหนองคายเท่านั้น นายสุภัทรมีเจตนาอะไรถึงไม่ได้ทำหน้าที่ตรงตามบันทึกข้อความคำสั่งของ น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา 

การทำหน้าที่เช่นนี้ของนายสุภัทร อาจจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของ น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ด้วยหรือไม่ เพราะจากข่าวคราวตามบันทึกข้อความสั่งการของ น.ส.ตรีนุชดังกล่าว เป็นที่รับรู้ของสังคมก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในแวดวงครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งเป็นสมาชิกของ สกสค.ว่า น.ส.ตรีนุชได้สั่งการให้มีการสืบหาข้อเท็จจริงเงื่อนงำการสรรหา ผอสกสค.จังหวัด/กรุงเทพมหานคร 64 จังหวัด เมื่อปลายปี พ.ศ.2563 ด้วย

นายสานิตย์ กล่าวต่อว่า จากพฤติการณ์ดังกล่าว ทำให้ตนและเพื่อนสมาชิก สกสค.จำนวนมาก เกิดข้อสงสัยในการทำหน้าที่ของนายสุภัทร ดังนั้น ตนจะทำหนังสือถึง น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ขอให้พิจารณาเปลี่ยนตัวประธานคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงฯคนใหม่ โดยจะแนบเหตุผลข้อสงสัยในการปฏิบัติหน้าที่ของนายสุภัทรดังกล่าว

ประกอบกับข้อสงสัยในความเป็นกลางที่จะให้ความเป็นธรรม อันสืบเนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่า นายสุภัทรได้รับการเสนอชื่อแต่งตั้งโยกย้ายจากตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) มาเป็นปลัด ศธ. เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2563 ในสมัยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ซึ่งนายณัฏฐพลมีความสนิทสนมและเคยทำงานร่วมกับนายธนพร สมศรี เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. ตั้งแต่ทำงานการเมืองในพรรคพลังประชารัฐ จนเข้ามาทำงานในกระทรวงศึกษาธิการ

นายสานิตย์กล่าวด้วยว่า ไม่ใช่แค่เรื่องการสืบหาข้อเท็จจริงเงื่อนงำการสรรหา ผอ.สกสค.จังหวัด/กรุงเทพมหานคร เท่านั้น ที่เป็นที่คลางแคลงใจ ยังมีเรื่องข้อสงสัยในความล่าช้าในการคัดเลือกข้าราชการ ศธ.เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับต้น แทนตำแหน่งว่าง รวม 15 ตำแหน่ง ที่นายสุภัทร ปลัด ศธ.ได้ลงนามในประกาศ ศธ.สั่งชะลอมาตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2564 ในช่วงเปลี่ยนผ่านผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.จากนายณัฏฐพลมาเป็น น.ส.ตรีนุช 

จนถึงวันนี้ล่วงเลยมากว่า 3 เดือนแล้ว ความคืบหน้าเรื่องนี้ยังเงียบ จนมีข้าราชการที่มีรายชื่อมีสิทธิ์เข้ารับการคัดเลือกในครั้งนี้ด้วย ได้ร้องเรียนผ่านตนมาด้วยว่า ความล่าช้าเรื่องนี้ทำให้ราชการเกิดความเสียหายอะไรไปบ้างแล้วหรือไม่ เพราะแต่ละตำแหน่งล้วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนงานราชการใน ศธ.

ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) 1 ตำแหน่ง, ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) 1 ตำแหน่ง, ผู้ช่วยปลัด ศธ. 1 ตำแหน่ง, รองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) 1 ตำแหน่ง

รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) 2 ตำแหน่ง, รองเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) 3 ตำแหน่ง, รองศึกษาธิการภาค (ศธภ.) 2, รอง ศธภ.5, รอง ศธภ.6, รองศึ ศธภ.10, รอง ศธภ.13 และ รอง ศธภ.17

นายสุภัทรมัวทำอะไรอยู่ จึงไม่เดินหน้ากระบวนการคัดเลือกให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้ได้คนระดับผู้บริหารมาช่วยกันทำงานสนองนโยบาย น.ส.ตรีนุช 

"ดังนั้น น.ส.ตรีนุชสมควรตรวจสอบประสิทธิภาพการปฏิบัติหน้าที่ของนายสุภัทรด้วยว่า ยังสมควรอยู่ในตำแหน่งปลัด ศธ.อีกต่อไปหรือไม่? เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ของทางราชการ” นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ กล่าว

แหล่งข่าวในแวดวงข้าราชการ ศธ.กล่าวแสดงความคิดเห็นผ่าน สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com กรณีการคัดเลือกข้าราชการ ศธ.เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับต้น แทนตำแหน่งว่าง รวม 15 ตำแหน่งดังกล่าว ว่า ข้าราชการ ศธ.ที่มีสิทธิ์เข้ารับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับต้น อาจจะมีคนที่กำลังจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 นี้จำนวนหลายคน

"ถ้ายืดเยื้อไปเรื่อยๆ จนถึงวันที่พวกเขาเกษียณฯ จะทำให้พวกเขาเสียสิทธิ์ และอาจจะไปยื่นฟ้องร้องต่อศาลกรณีปลัด ศธ.ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ก็เป็นไปได้ ดังนั้น ถ้ารัฐมนตรีว่าการ ศธ.มีคนทำงานที่ไม่เข้าตา ก็ขอให้ใช้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสลับเก้าอี้ 4 องค์ชายได้เลยครับ"