ปธ.กมธ.ศึกษา สว.ติงแคมเปญ ศธ.! ให้ติวเตอร์มาอบรมครูก่อนเปิดเทอม’64

นายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา วุฒิสภา กล่าวถึงกิจกรรมกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) “เรียนรู้เพื่อการสอน สอนเพื่อการเรียนรู้” ช่วงวันที่ 12-28 พฤษภาคม 2564 ก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 ในวันที่ 1 มิถุนายน 2564 โดยจัดให้ติวเตอร์เอกชนมาสอนครู ถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ ZOOM MEETING , facebook live (สช.) , youtube live (สพฐ.) , สถานีโทรทัศน์การศึกษาขั้นพื้นฐาน obec channel ว่า

ตนเห็นข่าวการให้ติวเตอร์มาสอนครูแล้ว แม้ส่วนตัวจะไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวนัก แต่เมื่อฝ่ายบริหารตัดสินใจแล้ว ต้องรอผลการดำเนินการ ฝ่ายบริหารเองหากมีปัญหาก็ควรที่จะน้อมยอมรับและถอยบ้าง เพื่อให้ทุกอย่างเดินไปข้างหน้าได้

อย่างไรก็ตาม มีมิตรสหายบอกตนว่า ลองให้ความเห็นว่ามองเรื่องนี้อย่างไรซึ่งที่ตนบอกว่า ไม่เห็นด้วยนั้น มีเหตุและผลทั้งในทางวิชาการและข้อเท็จจริงมาอธิบายได้ง่ายๆ ดังนี้

ประการแรก  ครูทุกทุกคนล้วนผ่านหลักสูตรกระบวนการเรียนการสอนและฝึกอบรมพัฒนาให้เป็นครูอย่างมืออาชีพมาแล้วจากสถาบันการผลิตครูทั่วประเทศ จบมาแล้วก็ต้องสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการครู ก่อนจะเป็นครูต้องได้รับอนุญาตเพื่อมาประกอบวิชาชีพครูตามพระราชบัญญัติครู

นั่นแสดงว่า ครูผ่านกระบวนการคัดกรองมาอย่างเข้มงวดแล้ว ไม่มีใครที่เก่งและเชี่ยวชาญเท่ากับคุณครูอีกแล้ว แล้วติวเตอร์ที่ว่านั้นมีใบอนุญาตในการเป็นติวเตอร์หรือไม่ หลายคนเป็นลูกศิษย์ของคุณครูอยู่ด้วย เพียงเก่งวิธีท่องจำเท่านั้นจะมาฝึกอบรมครูหรือ?

ประการที่สอง ครูวันนี้ ครูยุคโควิด-19 ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปทั้งกระบวนการจัดการเรียนการสอน การวัดประเมินผล ประสบการณ์ที่ครูผ่านมาด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครูทั้งในรอบที่ 1 และรอบที่ 2 มีความสุดยอด มหัศจรรย์ มีความสลับซับซ้อน ผ่านความทุกข์ ความสุข ผ่านวิบากกรรม ผ่านความล้มเหลวและความสำเร็จมาแล้วด้วยตัวครูเอง

คนอื่นที่ไม่ได้ลงมือปฏิบัติแบบครูจะเข้าใจได้อย่างไรว่า การไปเยี่ยมผู้เรียนที่บ้านนั้นเสี่ยงแค่ไหน เป็นภาระแค่ไหน แต่ครูไม่เคยบ่นสักคำ เสมือนหนึ่งเป็นการวิจัยที่ใช้ชีวิตครูเป็นกระบวนการ คนอื่นที่เป็นติวเตอร์หรืออยู่ในเฉพาะหน้าจอจะรู้เรื่อง เข้าใจในจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูได้อย่างไร จะมีฝึกอบรมครูด้วยชุดความรู้ใด

ประการที่สาม กระบวนการจัดการเรียนการสอน หรือหลักสูตร หรือมวลประสบการณ์นั้น ในทางวิชาการคือกระบวนการพัฒนาผู้เรียนให้เจริญงอกงาม ทางกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา จริงอยู่ด้านสติปัญญาติวเตอร์อาจจะช่วยได้บ้างนิดหน่อย นิดเดียวจริงๆ ในสี่ด้าน แต่การพัฒนากาย อารมณ์ สังคม ติวเตอร์ไม่อาจจะช่วยครูได้ เพราะมันคือปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้เรียนโดยมีหลักสูตรเป็นเครื่องมือ  ครูเท่านั้นที่จะเข้าใจในความเป็นครู

นายตวงกล่าวด้วยว่า โดยสรุปครูเท่านั้นที่เข้าใจในครู คนเรียนครูเท่านั้นจะเข้าใจกระบวนการพัฒนาการของผู้เรียนทั้งทางกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา คนเรียนรู้ครูเท่านั้นจะเข้าใจจิตวิทยาการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับผู้เรียนที่มีความแตกต่างหลากหลาย

“หากกิจกรรมเรียนรู้เพื่อการสอน สอนเพื่อการเรียนรู้ ทำไปแล้วมีคนท้วงติง ต้องรับฟัง โดยเฉพาะคนที่อยู่ในวิชาชีพครูเขาเตือน พวกเขาคือครูตลอดชีวิต ไม่มีวาระ ทุกคนต่างมาแล้วจากไป แต่ครูจะอยู่กับวิชาชีพตราบนิรันดร์ ด้วยความศรัทธาและเชื่อมั่น” ประธาน กมธ.การศึกษา วุฒิสภา กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)