ครูสุราษฎร์ร้องถึง‘ตรีนุช-ศบค.ศธ.’ สกัด ผอ.เปิด On-site สวนโควิด-19 ระบาด

 

 

ตรีนุช เทียนทอง

สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 มีครูโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในพื้นที่ตัวอำเภอในบางจังหวัด ได้ทยอยร้องเรียนผ่าน สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com เพื่อให้สะท้อนเสียงดังๆ ไปถึง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงศึกษาธิการ (ศบค.ศธ.) ซึ่งมีนายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. เป็นประธานกรรมการบริหารศูนย์ ศบค.ศธ.

ขอให้ช่วยสกัดผู้อำนวยการโรงเรียน ไม่ให้เปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนการสอนมาเป็นแบบ On-site แต่ให้ใช้รูปแบบ On อื่นๆ เหมือนเดิม เพื่อสกัดความเสี่ยงของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในโรงเรียน

โดยอ้างเหตุผลว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยขณะนี้ มีการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ถึงระดับ 6,000 คนแล้ว และมียอดผู้เสียชีวิตในระดับสูง มีการติดเชื้อไปถึงเด็กระดับปฐมวัย และไม่ได้จำกัดวงพื้นที่ผู้ป่วยใหม่อยู่เฉพาะในกรุงเทพฯ และ 10 จังหวัดพื้นที่เข้มงวดสูงสุดเท่านั้น แต่ยังกระจายเพิ่มมากขึ้นในหลายจังหวัด

ตัวเลขแถลงจาก ศบค.เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 มีผู้ป่วยใหม่ 6 พันกว่าคน มีเพียง 1 พันกว่าคน ที่อยู่ในพื้นที่ กทม. แต่อีก 5 พันคน กระจายอยู่ในต่างจังหวัด

ความหวาดวิตกดังกล่าวนี้ แม้แต่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็ยังออกหนังสือด่วนที่สุด เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2564 แจ้งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ให้กำชับสถานศึกษาเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 อันเนื่องจากสถานการณ์ปิดแคมป์คนงานในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล จนเกิดการเคลื่อนย้ายของคนงานกลับภูมิลำเนา

นอกจากนี้ ยังมีหลายจังหวัดที่ทยอยมีคำสั่งทางจังหวัดให้สถานศึกษางดทำการเรียนการสอนแบบ On-site และให้ใช้รูปแบบ On อื่นๆ แทนตามความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น Online, On-air, On-demand, On-hand เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงและลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่

โดยห้ามสถานศึกษาโต้แย้ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าไป จะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชน

ครูโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ใน จ.สุราษฎร์ธานีแห่งหนึ่ง กล่าวว่า ได้อ่านข่าวใน เว็บไซต์การศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com ทราบว่ามีครูจำนวนหนึ่งแจ้งผ่าน บรรณาธิการ สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com ยอมรับว่า “เอาจริงๆ แทบไม่มีโรงเรียนทำได้ตามเกณฑ์ประเมินความเสี่ยงในระบบไทยเซฟไทย (Thai save Thai) 44 ข้อ ไม่มีใครทำได้ครบหรอก โดยเฉพาะให้ผู้ปกครองประเมินความเสี่ยงทุกวัน คนต่างจังหวัดตื่นมาเขาไปทำงานกันหมด ขนาดข้าวยังไม่หุงให้ลูกกินเลย ต้องมาสัมผัสเองถึงจะรู้ โรงเรียนต้องเปิด On-site เพราะโดนบังคับ”

ขณะเดียวกันก็มีครูอีกจำนวนมากที่รับรู้สภาพความเสี่ยงในการเปิดการเรียนการสอนแบบ On-Site จากที่ได้พยายามชี้แจง “ในความเป็นเด็ก หรือแม้แต่คนโตจริงๆ ก็ปิดแมสไว้ตลอดไม่ได้หรอก แล้วสำคัญเด็กก็คือเด็ก การจะให้ห่างกัน 2 เมตร ไม่ให้หยอกล้อกันบ้าง ใครที่ทำได้ทำให้ดูหน่อยครับ แม้แต่พ่อแม่ก็ยังห้ามไม่ได้เลย การจะมาโทษครูว่าไม่ดูแล ไม่ทำตามมาตรการ สังคมโหดร้ายมากครับ”

ครูคนเดิมกล่าวต่อว่า ตนจึงขอเรียกร้องผ่านไปยัง น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. และศูนย์ ศบค.ศธ. ขอให้มีการตรวจสอบโรงเรียนที่มีการขอเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนมาเป็นแบบ On-Site ในระยะนี้ว่า ได้ทำตามขั้นตอนผ่านหลักเกณฑ์ประเมินความเสี่ยงในระบบไทยเซฟไทย (Thai save Thai) ทั้ง 44 ข้อ จริงหรือไม่

เพราะที่โรงเรียนของตนเองมีแนวโน้มว่า ผู้อำนวยการโรงเรียนเท่านั้นที่จะกรอกเอกสารเกณฑ์ประเมินความเสี่ยงในระบบไทยเซฟไทย และมีแนวโน้มว่าจะกรอกให้ผ่านทุกข้อด้วย ทั้งๆ ที่ในพื้นที่อำเภอของโรงเรียนตนใน จ.สุราษฎร์ธานี เพิ่งจะหมดผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ ไปไม่นานมานี้

"ถ้า ศบค.ศธ.ตรวจสอบพบผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งรวมถึงโรงเรียนในจังหวัดอื่นๆ ด้วย ที่ขอเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนมาเป็นแบบ On-Site ในระยะนี้ มีการกรอกข้อมูลอันเป็นเท็จ จะด้วยเพราะมีเรื่องผลประโยชน์จากการเปิดโรงเรียนอยู่เบื้องหลังอะไรหรือไม่ก็ตาม จะต้องลงโทษขั้นเด็ดขาด เพื่อให้ครูในโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศได้กล้าที่จะออกมาเปิดเผยความเป็นจริงในทุกเรื่อง” ครูโรงเรียนสังกัด สพป.ใน จ.สุราษฎร์ธานี คนเดิมกล่าว

แกนนำครูคนหนึ่งในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ที่ผ่านมาครูในโรงเรียน สพฐ.ไม่ค่อยกล้าจะโต้แย้งกับผู้อำนวยการโรงเรียน เพราะผู้อำนวยการโรงเรียนมักจะสนิทสนมกับทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา

แม้แต่บางโรงเรียนเคยมีกรณีกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานพาตัวผู้อำนวยการโรงเรียนที่กำลังเมาสุราอยู่ ไปร้องเรียนถึงสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา แต่สุดท้ายก็ไม่มีการลงโทษอะไร เรื่องเช่นนี้ตนเคยร้องเรียนกับผู้บริหารระดับสูงใน สพฐ.แล้ว

"ดังนั้น จึงอยากให้ น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. และผู้บริหารระดับสูงใน ศธ.ได้รับทราบข้อเท็จจริงเรื่องเหล่านี้ด้วย เพื่อประโยชน์ในการหาวิธีติดตามงานต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง"

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)