องค์กรครูจี้'ตรีนุช-สพฐ.'เห็นแก่อนาคตเด็ก ปูพรมตรวจโควิดก่อน on site เทอม 2

ประธานสมาพันธ์ครูชี้ ศธ.ทำโรงเรียนตาบอด เสี่ยงเป็นคลัสเตอร์โควิด-19 ระลอกใหม่ เหตุออกหลักเกณฑ์เปิด on site เทอม 2 แค่ให้สุ่มตรวจหาเชื้อ แม้อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม หวั่นผู้ปกครองไม่กล้าส่งบุตรหลานมาเรียนกับครู กระทบพัฒนาการ บานปลายเป็นปัญหาเหลื่อมล้ำ ได้เปรียบเสียเปรียบ เรียกร้อง “ตรีนุช-บิ๊ก สพฐ.” เห็นแก่เด็ก รีบลงมาแก้ปัญหา อย่าโดดเดี่ยว ร.ร.

จากกรณีนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ลงนามเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องหลักเกณฑ์การเปิดโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา (ฉบับล่าสุด) ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 34) มีผลตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป

โดยตามหลักเกณฑ์ส่วนที่ 1 เงื่อนไขหลักของมาตรการ Sandbox: Safety Zone in School รองรับการเปิดภาคการศึกษาที่ 2/2564 โดยจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาแบบ on site จำแนกตามเขตพื้นที่แพร่ระบาด โดยกำหนดเงื่อนไขการตรวจคัดกรองหาเชื้อ

แบ่งเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสีเขียว ไม่ต้องตรวจคัดกรอง , ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังสูงสีเหลือง พื้นที่ควบคุมสีส้ม พื้นที่ควบคุมสูงสุดสีแดง และพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดสีแดงเข้ม กำหนดไว้เพียงให้มีการสุ่มตรวจเป็นระยะๆ นั้น

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 นายสิรภพ เพ็ชรเกตุ ประธานชมรมครูภาคกลาง และแกนนำสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษา (สคคท.) กล่าวว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน เพื่อนผู้บริหารโรงเรียนและครู รวมทั้งตน ต่างเห็นควรว่า ก่อนเปิดโรงเรียนแบบ on site ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ต้องมีการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 ให้กับนักเรียน ครูและบุคลากรในสถานศึกษาทุกคน ไม่ใช่ไม่ตรวจ หรือสุ่มตรวจเท่านั้น และในระยะต่อๆ ไปจึงค่อยสุ่มตรวจ

เพราะไม่เช่นนั้นโรงเรียนก็จะเหมือนตาบอด เนื่องจากไม่มีฐานข้อมูลเกี่ยวกับการติดเชื้อของนักเรียน ครูและบุคลากรในสถานศึกษาเลย ประกอบกับทุกวันนี้ ยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ในแทบทุกจังหวัด ไม่รู้ว่าวันไหนจะเข้ามาอยู่ในโรงเรียน เพราะเชื้อโรคเรามองไม่เห็น

ฉะนั้น ขอเรียกร้อง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. และหัวหน้าส่วนราชการองค์กรบริหารหลักใน ศธ. โดยเฉพาะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้โปรดอย่าโดดเดี่ยวสถานศึกษา อย่าปล่อยให้ผู้บริหารสถานศึกษาต้องแบกความรับผิดชอบ และความเสี่ยงตามลำพัง

“ที่ผ่านมาการเรียนการสอนในรูปแบบต่างๆ ที่นักเรียนไม่ได้พบและเรียนรู้กับครู ล้วนเป็นปัญหาต่อพัฒนาการของนักเรียนทั้งสิ้น เด็กประถมศึกษาที่มีปัญหาเรื่องการอ่านออกเขียนได้ หากไม่ได้เรียนกับครูในเทอม 2 นี้อีก จะยิ่งเป็นปัญหาเพิ่มขึ้น ดังนั้น ทุกโรงเรียนจึงอยากเปิดแบบ on site เพื่อประโยน์ของนักเรียน”

จึงอยากเรียกร้องให้ทั้ง น.ส.ตรีนุช ผู้บริหาร ศธ.และ สพฐ.ได้ลงมาช่วยโรงเรียนเพื่อให้โรงเรียนได้เปิดการเรียนการสอนแบบ on site อย่างมั่นใจในความปลอดภัย ผู้ปกครองเกิดความเชื่อมั่น ด้วยการอำนวยความสะดวกในเรื่องการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 โดยให้มีประกาศออกมาชัดเจนเลยว่า ศธ.หรือ สพฐ.จะสนับสนุนงบประมาณและบุคลากรใช้ชุดตรวจ ATK อย่างไรได้บ้าง

เพราะขณะนี้ทั้ง สพฐ.และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ไม่มีความชัดเจนเรื่องเหล่านี้ ในขณะที่โรงเรียนก็ไม่กล้าใช้งบประมาณที่โรงเรียนมีอยู่จัดซื้อ กลัวผิดระเบียบ กฎหมาย เกรงเป็นความผิด จึงเรียกร้องให้ สพฐ.ออกระเบียบการให้โรงเรียนสามารถใช้งบประมาณใดซื้อชุดตรวจ ATK

รวมทั้งให้ ศธ.ประสานขอความอนุเคราะห์กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ช่วยสนับสนุนบุคลากรใช้ชุดตรวจ ATK เพราะครูไม่มีความรู้ความสามารถในการใช้ชุดตรวจ หากทำนักเรียนโดยเฉพาะเด็กเล็กอนุบาลโพรงจมูกอักเสบ ก็จะกลายเป็นอีกปัญหา

ถ้า รมว.ศธ.และผู้บริหาร สพฐ.ปล่อยให้โรงเรียนต่างๆ เปิดสอน on site โดยไม่มีการตรวจคัดกรองเชื้อโรคโควิด-19 ให้กับนักเรียน ครูและบุคลากรในโรงเรียนทุกคน ย่อมจะเสี่ยงต่อการกลายเป็นคลัสเตอร์โควิด-19 ระลอกใหม่

"ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้น แน่นอนว่าผู้บริหารโรงเรียนต้องรับผิดชอบในปัญหาต่างๆ ที่จะรุมเร้าเข้ามาเต็มๆ จะตกเป็นโรงเรียนฉาวโฉ่ และที่สำคัญผู้ปกครองจะขาดความเชื่อถือ และจะไม่ยอมส่งบุตรหลานมาโรงเรียนอีก ไม่รู้ว่าอีกนานเท่าไหร่ผู้ปกครองถึงจะยอมให้เด็กๆ มาเรียนกับครู" ประธานชมรมครูภาคกลาง และแกนนำ สคคท. กล่าว

นายประทุม เรืองฤทธิ์ ประธานสมาพันธ์ครูภาคใต้ กล่าวว่า เพื่อนครูในภาคใต้ไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์การเปิดโรงเรียนแบบ on site ของ ศธ.ที่กำหนดเงื่อนไขการตรวจคัดกรองหาเชื้อควิด-19 เพียงการสุ่มตรวจเป็นระยะๆ เท่านั้น ไม่ได้ตรวจทุกคน เพราะจะทำให้ผู้ปกครองจำนวนมากที่มีความตื่นตัวเรื่องความปลอดภัย จะไม่ยอมส่งบุตรหลานมาโรงเรียน

โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดใหญ่ในตัวอำเภอ และจังหวัด ที่มีเด็กๆ เดินทางมาเรียนจากหลากหลายชุมชน จากหลายอำเภอ ซึ่งบางพื้นที่อาจมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จำนวนมากอยู่ อีกทั้งในกลุ่มเด็กประถมและมัธยมศึกษา เฉพาะอย่างยิ่งในต่างจังหวัด ต้องยอมรับว่าอาจมีวิถีชีวิตรวมกลุ่มแบบขาดการป้องกันโรค เช่น ตกเย็นก็จะไปกระโดดลำคลองเกาะคอเล่นน้ำกันแทบทุกวัน ไม่รู้เลยว่าวันไหนใครจะติดเชื้อโควิด-19 เดินเข้ามาในโรงเรียน

ดังนั้น โรงเรียนต่างๆ ในทุกพื้นที่จึงต้องการตรวจคัดกรองหาเชื้อควิด-19 ให้กับนักเรียน ครูและบุคลากรทุกคน แบบปูพรม จะสุ่มตรวจไม่ได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น เฉพาะอย่างยิ่งจากผู้ปกครอง เพราะถ้าเด็กไม่ได้มาเรียนกับครูในภาคเรียนที่ 2 แต่เรียนในรูปแบบอื่นๆ อีก ซึ่งได้รับความรู้น้อยกว่า จะบานปลายกลายเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียม กลายเป็นความได้เปรียบเสียเปรียบ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่กำลังจะจบชั้น ป.6 เตรียมไปสอบเข้าชั้น ม.1 โรงเรียนชื่อดัง

ประธานสมาพันธ์ครูภาคใต้ กล่าวต่อว่า ตนแปลกใจว่า จนถึงวันนี้ใกล้เปิดเทอม 2 ในสัปดาห์หน้าแล้ว แต่เหตุใดผู้บริหาร ศธ.และ สพฐ.ยังเงียบอยู่ ยังไม่ให้ความชัดเจนเรื่องที่โรงเรียนสะท้อนปัญหาทั้งการจัดซื้อ ATK มาตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 ให้กับนักเรียน ครู และบุคลากรในโรงเรียนทุกคน รวมทั้งการประสานความร่วมมือกับ สธ.ขอให้จัดหาบุคลากรสาธารณสุขมาช่วยใช้ชุดตรวจ

“เวลานี้โรงเรียนต่างๆ พอจะมีงบประมาณจัดซื้อ ATK ได้ เพราะมีงบฯเหลือจากภาคเรียนที่ 1/2564 ที่ไม่ได้เปิดโรงเรียน แต่กลัวนำมาใช้แล้วผิดระเบียบ กฎหมาย เกรงถูก สตง.เอาผิด ว่าใช้งบฯผิดประเภท อย่างกรณีงบฯอาหารกลางวัน ซื้อของมาทำกับข้าวให้เด็กรับประทานได้ แต่ไปซื้อแก๊สหุงต้มมาทำกับข้าวไม่ได้ ดังนั้น โรงเรียนต่างๆ จึงอยากเรียกร้องให้ผู้บริหาร ศธ.และ สพฐ.รีบสั่งการช่วยเหลือโรงเรียนเรื่องนี้มาโดยด่วน” ประธานสมาพันธ์ครูภาคใต้ กล่าว

 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)