'ตรีนุช’กับปฏิบัติการ รพ.สนาม-ศูนย์พักคอย ศธ. พิสูจน์ใจขุนศึก ยามชาติวิกฤติ

รายงาน...

'ตรีนุชกับปฏิบัติการ รพ.สนาม-ศูนย์พักคอย ศธ.

พิสูจน์ใจขุนศึก ยามชาติวิกฤติโควิด-19  

 

สังคมวันนี้ เริ่มได้เห็นสัญญาณความเคลื่อนไหวกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในมุมบวก เมื่อทุกหน่วยงานใน ศธ.ระดมสรรพกำลัง ให้ความช่วยเหลือเป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ทวีความรุนแรง จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตมากขึ้นเป็นลำดับ  

โดยเฉพาะการอนุญาตให้ใช้อาคาร สถานที่ ของบรรดาหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัด ที่ไม่ได้ใช้จัดการเรียนการสอน แปลงเป็นหน่วยคัดกรอง โรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาลสนามสำรอง สถานที่กักตัว ที่พักคอย หรือสุดจะเรียกขานกันอย่างไรก็สุดแท้ ล้วนเพื่อให้คัดแยกผู้ติดเชื้อตามอาการต่าง ๆได้รับการดูแลเบื้องต้นภายใต้ความเห็นชอบของชุมชนและโรงเรียน โดยทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และจังหวัด เพื่อลดอัตราเสียชีวิตจากการแพร่ระบาด และรอการจัดหาเตียงเข้ารักษาในโรงพยาบาลหลัก  

แน่นอนว่า เพียงแค่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ สั่งการให้หน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการร่วมมือเท่านั้น ก็ได้เห็นพลังแห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวในสังกัดศธ.ทุกองค์กร ต่างทำการขานรับทันทีเหมือนเตรียมพร้อมทุกอย่างไว้แล้ว นับเป็นเรื่องที่ควรชื่นชมมากกว่า จะมาตั้งแง่บลูลี่ต่อกัน

ยกตัวอย่าง นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ (กพฐ.) อนุญาตให้ใช้อาคารสถานที่ในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นโรงพยาบาลสนามและสถานที่กักตัวหรือสถานที่พักคอยในชุมชน รวมถึงบริการสาธารณสุข รวม  673 โรงเรียนทั่วประเทศ จัดเพิ่มได้ตามสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่

จึงได้มาถึงโรงพยาบาลสนาม 67 โรง โรงพยาบาลสนามสำรอง 15 โรง โรงพยาบาลสนามและสถานที่กักตัว 27 โรง สถานที่กักตัว  348 โรง  สถานที่พักคอย  205 โรง สถานที่แวะเข้าห้องน้ำ 9 โรง หน่วยคัดกรอง 1 โรง และ 2 ค่ายลูกเสือ รองรับผู้ป่วยได้ถึง 15,619 เตียง เห็นตัวเลขอย่างนี้ จะไม่ให้ปลื้มไปกับ ตรีนุช เทียนทอง ได้ไง

นอกจากนี้ สพฐ.ยังมอบหมายให้สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สพฐ.) ในพื้นที่สีแดงเข้ม กรุงเทพฯ และปริมณฑล (นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร) โรงเรียนศึกษาพิเศษเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เตรียมพร้อมให้สถานศึกษาใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับบุคลากร นักเรียน ผู้ปกครอง และผู้พิการ ที่เป็นผู้ป่วยโควิด-19 อีกด้วย

❝...หากวันนี้เราไม่ช่วยกันสกัดคนเจ็บคนป่วยให้ลดน้อยลง ก็จะเป็นการผลักภาระให้กับหมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งกำลังอยู่ในภาวะยากลำบากอย่างยิ่ง นอกจากนั้น คือ เราไม่ต้องการเห็นคนเฒ่าคนแก่ผู้สูงอายุเจ็บป่วยเสียชีวิต.. วลีเด็ดของ อัมพร พิสานะ  ที่ยกมานี้ เป็นช่วงหนึ่งในการประชุม ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ บ่ายวันศุกร์ที่ 30 ก.ค.นี่เอง   

...ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ฝากมาถึงขอให้ ผอ.เขต ช่วยวางแผนออกแบบว่า ในแต่ละพื้นที่ถ้าหากจะมีที่พัก 1 แห่ง ควรจะใช้ที่ไหน ซึ่งอาจเป็นโรงเรียนที่ถูกยุบควบรวมแล้วไม่มีการใช้งาน หรือเป็นโรงเรียนที่ไม่มีการเรียน On-Site ในโรงเรียน โดยดูว่าจะใช้อาคารสถานที่ตรงไหนและจะบริหารจัดการความปลอดภัยได้อย่างไร เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่...❞ ตอกย้ำ เรียกพลังที่กำลังเหนื่อยล้า คืนสู่ความแข็งแกร่ง ที่มีบรรยากาศแห่งการร้องขอและแบ่งบัน ที่มีคุณค่ายิ่งการออกคำสั่งบังคับ 

หากคุณหมอ และพยาบาลได้ยินแล้ว เชื่อว่า รัก รมว.ศธ. รักคนกระทรวงศึกษาธิการ ขึ้นเป็นอีกทวีคูณ

ณะเดียวกัน นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ก็อนุญาตให้สถานศึกษาสังกัด จำนวน 7 แห่ง ปรับพื้นที่ อาคารเรียน เป็นโรงพยาบาลสนาม ในวิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี วิทยาลัยเทคนิคบ้านแพง จ.นครพนม และ  วิทยาลัยการอาชีพเวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี วิทยาลัยเทคนิคน้ำพอง จ.ขอนแก่น วิทยาลัยการอาชีพเสนา จ.พระนครศรีอยุธยา วิทยาลัยเทคโนโลยีวานรนิวาส จ.สกลนคร และวิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นโรงพยาบาลสนามเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่ได้รับการจัดตั้งเป็นศูนย์ปฏิบัติการสถานกักกันโรค และควบคุมโรคติดต่อ อาทิ อาชีวศึกษาไทเฉลิมราช จ.ชัยภูมิ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จ.สุราษฎร์ธานี ศูนย์ฝึกอบรมวิชาชีพ จ.สตูล และวิทยาลัยการอาชีพนาแก จ.นครพนม

ยังไม่รวมถึงสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๑ จัดพื้นที่เป็นศูนย์พักคอย ผู้ที่มีความเสี่ยงหรือผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อ และศูนย์พักคอย วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี กรุงเทพฯ ที่ดำเนินงานในนามของ "จิตอาสาพระราชทาน" ซึ่งประสานงานร่วมกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ สํานักงานตํารวจแห่งชาติ รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวได้มากถึง 140 เตียง

ส่วน ดร.วรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ให้การช่วยเหลือสนับสนุนผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัด ที่ขอใช้บริการสถานที่ของ กศน.เป็นโรงพยาบาลสนาม 3 แห่ง และสถานที่กัก 4 แห่ง ถ้าสถานการณ์แพร่ระบาดยังไม่คลี่คลาย ก็มีนโยบายพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่   

ก็ห่วงแค่หอพัก ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) หรือ หอพัก สกสค. ที่ได้พัฒนาขึ้นเป็นโรงแรมที่พักขนาด 7 ชั้น แบ่งเป็นห้องธรรมดา 228 ห้อง และห้องพิเศษ 12 ห้อง ซึ่งเป็นความคาดหวังของบรรดาข้าราชการ บุคลากร ที่ทำงานในกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดเพื่อนสมาชิกฯและครอบครัว ที่ติดเชื้อโรคโควิด 19 จะได้พึ่งพา ใช้เป็นสถานที่ดูแล ช่วยเหลือ กักตัว เพื่อดูอาการ หรือรอส่งต่อ

แต่ก็ยังดูเหมือนยังมีอะไรบางอย่าง เป็นอุปสรรคอยู่...?

ทั้ง ๆ ที่เป็นนโยบาย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. และประธานกรรมกรรมการ สกสค. ออกมาตรการในการดูแลช่วยเหลือครูและบุคลากรในสังกัด ศธ. ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและติดเชื้อโควิด โดยตั้งใจมั่นเหมาะที่จะใช้หอพัก สกสค.เป็นสถานที่พักคอยบรรดาข้าราชการ ครอบครัว ศธ. ตลอดบุคลากรที่ทำงานในกระทรวงศึกษาธิการได้พึ่งพา รวมทั้งจัดหาชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบเร่งด่วน และการติดตามอาการจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง ก่อนเตรียมส่งต่อให้สถานพยาบาล สำหรับผู้ป่วยหนักต่อไป และในกรณีติดเชื้อทั้งครอบครัว ก็จะได้รับการดูแลทั้งหมดด้วย

แต่จากประชาสัมพันธ์ สป.ศธ.รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ค.64 นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีความรู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตย์ และคณะ ลงตรวจด้านกายภาพเบื้องต้นพบว่า จำนวนห้อง จำนวนเตียง ระบบระบายอากาศ ของหอพัก สกสค. แม้จะมีความพร้อมพอสมควร แต่อาจจะต้องมีการปรับปรุงเล็กน้อย เพื่อให้ได้มาตรฐาน ตามที่กรมอนามัย และกรมควบคุมโรคกำหนด 

ภาษาสำนวนทางราชการ ที่ถ้อยทีถ้อยอาศัย นุ่มนวลไม่บาดจิตใจ ฟังแล้วก็จิตตกลงมิใช่น้อย

และแปลกใจค่อนข้างเล็กน้อยเช่นกันกับคำว่า อาจจะต้องมีการปรับปรุงเล็กน้อยนี่ เมื่อไม่มีรายละเอียดบ่งชี้ใด ๆ ก็ต้องมโนนึกคาดเดาเอาเอง คือขนาดไหน แต่เมื่อมาพิจารณาถึงหอพัก สกสค.ขนาด 7 ชั้น แบ่งเป็นห้องธรรมดา 228 ห้อง และห้องพิเศษ 12 ห้องแล้ว และเคยปิดปรับปรุงครั้งใหญ่ไปปีเศษ เพิ่งเปิดให้บริการในวันที่ 29 มิ.ย.2559 ก็น่าจะมีความเป็นไปได้สูงว่า หากใช้เป็นสถานที่ดูแล ช่วยเหลือ กักตัว เพื่อดูอาการของบุคลากร/ครอบครัว ศธ. ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 คงมิใช่เรื่องจิ๊บ ๆ แน่ ๆ 

อีกทั้งก็ยังเกรงว่า หากหอพัก สกสค.ไม่อาจนำมาใช้ประโยชน์ได้เต็มศักยภาพ แถมยังต้องมารอการปรับปรุง ซึ่งไม่รู้ว่าจะใช้งบประมาณจากไหน และระยะเวลาอีกนานเท่าใด จะทันการณ์ในการช่วยเหลือครูและบุคลากรในสังกัด ศธ.ในยามวิกฤติที่มีความเป็นความตายรออยู่ตรงหน้า หรือไม่?

จึงควรเป็นการบ้านขนานเอกของ รมว.น้องเล็ก น.ส.ตรีนุช เทียนทอง ประธานกรรมการ สกสค และนายสุภัทร จำปาทอง ในฐานะกรรมการ สกสค. และประธานบริหาร ศบค.ศธ. จะรอดพ้นความสุ่มเสี่ยงต่อความเชื่อมั่น เชื่อถือศรัทธาจากประชาคมคนการศึกษา ได้หรือไม่? 

  

เพราะขนาดสถานพยาบาล สกสค. หรือ รพ.ครูเอง ที่ตั้งอยู่ติดกับกำแพงรั้ว ศธ. ก็ยังไม่มีความพร้อมที่จะเปิดให้บริการและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งนายธนพร สมศรี เลขาธิการ สกสค. บอกสั้น ๆ เต็มปากเต็มคำฟังชัดว่า 

"...ไม่มีแล็บในการตรวจหาเชื้อ รวมถึงอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ หรือแม้แต่บุคลากรที่ไม่มีเฉพาะด้าน..." 

เวลานี้ จึงมีการถามหากันอย่างอึ้ง ๆ งง ๆ กันในทำนองว่า สกสค.ยุคนายธนพร สมศรี จะครองใจผู้รับบริการ และจะครองใจครูทั้งประเทศได้อย่างไร??

อย่างไรก็ตาม ในช่วงวิกฤตเชื้อระบาดโควิด-19 ไม่เพียงแค่กล่าวไว้เบื้องต้นเท่านั้น ยังหมายถึงการเข้าไปดูแลสิทธิประโยชน์ตลอดสวัสดิการอันพึงมีพึงได้ ในสิ่งที่ครูควรได้อย่างเท่าเทียมกับเจ้าหน้าที่หรือข้าราชการรัฐ คู่ควบไปกับนโยบายให้หน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัดช่วยเหลือ ดูแลครูและบุคลากร/ครอบครัวในสังกัด ศธ.  

จึงอยากให้รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ หันมามองในเรื่องค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการเรียนการสอน อาทิ ค่าไฟฟ้า ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าพาหนะ ค่าน้ำมัน ค่าจัดทำจัดเตรียมเอกสาร ประกอบการเรียนการสอน แม้ประกันความเสี่ยงฯ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้บริหาร ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ท่ามกลางสงครามเชื้อระบาดโควิด-19 ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด ทั้งภาครัฐและเอกชน อย่างเท่าเทียมกัน   

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)