เปิดรายละเอียด! จ่ายเงินเยียวยา น.ร. 2 พันบาท พิสูจน์ฝีมือ สพฐ.-ศธ.?

เสวนากับบรรณาธิการ วันที่ 25 สิงหาคม 2564

 

 

เปิดรายละเอียด! จ่ายเงินเยียวยา น.ร.

11 ล้านคน รวม 2.2 หมื่นล้านบาท

พิสูจน์ฝีมือ "สพฐ.-ศธ."

วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์ : บรรณาธิการ

 

...หากผู้ปกครองมีบัญชีธนาคาร ก็สามารถโอนเงินเข้าบัญชีผู้ปกครองได้โดยตรง หากใช้วิธีโอนเงินไม่ได้ ให้โรงเรียนบริหารจัดการผ่านครูประจำชั้น ในการออกแบบการจ่ายเงินสดให้ผู้ปกครอง เช่น นัดหมายผู้ปกครองเข้ามารับเงินสดที่โรงเรียน โดยให้ผู้ปกครองลงลายมือชื่อ พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือ สำเนาทะเบียนบ้าน เพื่อเป็นหลักฐานในการจ่ายเงิน...  

หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติเม็ดเงิน จำนวน 2.2 หมื่นล้านบาท สำหรับโครงการเยียวยาฯ นักเรียน ที่อยู่ในระบบสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ได้กลายเป็นประเด็นอยู่ก่อนหน้านี้ติดต่อกันมาตลอด ถึงวิธีการปฏิบัติและขั้นตอนเพื่อนำ ไปสู่กลุ่มเป้าหมาย 11 ล้านคน ที่ ศธ.สัญญาจะโอนให้คนละ 2,000 บาท ภายในสิ้นเดือนสิงหาคม นี้ นี่ก็เหลืออีกเพียงไม่กี่วัน...

รวมไปถึงการสนับสนุนอินเตอร์เน็ตสำหรับการเรียนออนไลน์ และ มาตรการสำหรับครู เพื่อการลดสิ่งไม่จำเป็นต่างๆ  เพื่อให้ครูมีเวลาดูแลนักเรียน ทั้งนี้ยังมีมาตรการช่วยลดภาระผู้ปกครองด้วย นั้น

ในเรื่องนี้ขอเน้นไปที่โครงการเงินเยียวยาฯ นักเรียนที่อยู่ในระบบ สังกัด ศธ. ที่มีนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และคณะผู้บริหาร กำกับดูแลรับผิดชอบ ยืนยันล่าสุดตรงกันว่า

ขณะนี้ สพฐ.เตรียมความพร้อมไว้แล้ว รอแค่การโอนเงินจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมาถึงเท่านั้น และทันทีที่ได้รับเงินงบฯจำนวนดังกล่าว ก็พร้อมส่งต่อเปิดกว้างให้แต่ละสถานศึกษา บริหารจัดการให้เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ทันที

และเพื่อให้เกิดความคล่องตัว จึงมีทั้งการจ่ายผ่านทางธนาคาร หรือ รับเงินสด ซึ่งผู้ปกครองจะได้รับเงินเยียวยาภายใน 7 วัน แน่นอน ตามนโยบายของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. เพราะเข้าใจถึงความเดือดร้อนของผู้ปกครอง

ฟังท่านเลขาธิการ สพฐ.กล่าวแล้ว ใจชื้นขึ้นมาเป็นกอง มั่นใจได้ว่าคงไม่ทำให้ใครผิดหวังหรือทิ้งใครตกหล่น โดยพิจารณาจากข้อมูลและกระบวนการที่วางไว้  ดังนี้

เนื่องจาก สพฐ.มีระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายคนในภาคเรียนที่ 1 ที่มีตัวตนในโรงเรียนจริง ในวันที่ 10 มิถุนายน ปีการศึกษา 2564  (และกำหนดนับยืนยันตัวตนนักเรียนอีกครั้งวันที่ 25 มิถุนายน) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลพื้นฐานสำคัญที่เชื่อมโยงฐานข้อมูลระบบสารสนเทศอื่นของ สพฐ. ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมระบบบริหารจัดการสถานศึกษา ระบบสารสนเทศเพื่อบริหารการศึกษา ปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน และระบบอื่นของสพฐ.

อีกทั้ง สพฐ.ได้มีหนังสือย้ำเพื่อสร้างความเข้าใจไปถึง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ขอความร่วมมือในการอำนวยความสะดวก ผู้บริหารและผอ.เขตพื้นที่การศึกษา ต้องอยู่สถานที่ ในช่วง 7 วันดังกล่าว เพื่อแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ขณะเดียวกันทางส่วนกลาง สพฐ.เอง ก็ตั้งคณะขึ้นมาช่วยแก้ปัญหาด้วยเช่นกัน  

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยังมีอีกหลากหลายประเด็นที่ได้เห็นได้ฟังจากสื่อ ในเรื่องเอกสารตามระเบียบข้อกำหนดที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องทางราชการ ต่าง ๆ ไปยืนยันแสดงตัวตนเพื่อรับสิทธิก็ดี ตลอดข้อมูลที่อาจมีความคลาดเคลื่อนเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจก่อให้เกิดปัญหาและความหวาดหวั่นในผู้ปกครอง ผู้บริหารสถานศึกษา จะช่วยวินิจฉัยตัดสินใจได้ ซึ่งจะมีการบันทึกไว้ตามระเบียบอยู่แล้ว

เนื่องจาก ครู ผู้มีหน้าที่สอน แต่ได้รับมอบหมายให้เข้ามาดูแลเรื่องการเยียวยานักเรียนคนละ 2,000 บาท  ในสถานศึกษาต่าง ๆ อาจมีความกังวลสับสน ไม่มั่นใจ หากเกิดความผิดพลาดพลั้งไป ย่อมไม่เป็นผลดีต่อประวัติชีวิตและราชการแน่ ๆ

จึงทำให้บรรดาคุณครูหรือบุคลากรผู้ปฏิบัติต่างสะท้อนออกมาดังที่ สำนักข่าวการศึกษา edunewssiam  เคยนำเสนอมาให้เห็นก่อนหน้านี้ไปแล้ว

รวมไปถึง การเรียกร้องถึงข้อเสนอของครูผู้ปฏิบัติ ขอความชัดเจนในขั้นตอนและวิธีการ จะได้ไม่ต้องทำงานซ้ำซ้อน แม้แต่เรื่องเงินต้องให้ รร.ไปเปิดบัญชีใหม่ เพื่อรับโอนเงินจาก สพฐ. ทำให้โรงเรียนต้องเสียเวลาทั้ง ๆ ที่ ร.ร.มีบัญชีกระแสรายวันอยู่แล้ว หรือ  โรงเรียนก็สามารถจ่ายเป็นเงินสดให้ผู้ปกครองได้ไหม

เรื่องนี้มีคำตอบในแนวทางของการจ่ายเงิน สพฐ.กำหนดไว้ 2 แนวทาง

แนวทางที่ 1 หากผู้ปกครองมีบัญชีธนาคาร ก็สามารถโอนเงินเข้าบัญชีผู้ปกครองได้โดยตรง

แนวทางที่ 2 หากใช้วิธีโอนเงินไม่ได้  ให้โรงเรียนบริหารจัดการผ่านครูประจำชั้น ในการออกแบบการจ่ายเงินสดให้ผู้ปกครอง คือ เช่น นัดหมายผู้ปกครองเข้ามารับเงินสดที่โรงเรียน โดยให้ผู้ปกครองลงลายมือชื่อ พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือ สำเนาทะเบียนบ้าน เพื่อเป็นหลักฐานในการจ่ายเงิน

แต่ต้องเป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคของ ศบค.

สำนักข่าวการศึกษา edunewssiam  ได้ติดตามสอบถามความชัดเจนถึงแนวทางข้อปฏิบัติจาก เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สรุปได้ว่า

นักเรียนที่จะได้รับเงินเยียวยา ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนนักเรียนของโรงเรียนที่ได้ลงข้อมูลไว้ ณ วันที่ 25 มิถุนายน 2564 เมื่อมีรายชื่อเป็นนักเรียน อยู่ที่โรงเรียนใด สพฐ.ก็จะจัดสรรเงินไปตามรายชื่อของนักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนนั้น ๆ โดยโรงเรียนจะจ่ายเงินให้เฉพาะนักเรียนที่มีตัวตนจริง 

ส่วนนักเรียนที่ไม่มีชื่อในทะเบียน ในวันที่ 25 มิ.ย. แต่มาเรียนเพิ่มเติมในโรงเรียนนั้น ซึ่งนักเรียนจะยังมีชื่ออยู่ที่โรงเรียนเดิม ทางโรงเรียนใหม่จะต้องเพิ่มชื่อนักเรียนเข้าไป แล้วรายงานไปยังสำนักงานเขตฯ ในส่วนนี้ทางโรงเรียนจะยังไม่สามารถจ่ายเงินให้ได้ จนกว่าสำนักงานเขตฯ จะเคลียร์ข้อมูลให้เรียบร้อย จึงจะอนุมัติการจ่ายเงินได้

โดยสรุปคือ ทุกโรงเรียนต้องสำรวจรายชื่อนักเรียนของตนเองว่า ยังมีชื่ออยู่ในโรงเรียนครบถ้วนหรือไม่ และยังมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ หากมีครบไม่ได้ย้ายออกไปไหน ถือว่าจบไม่มีปัญหา

แต่หากมีย้ายออกไปก็ให้โรงเรียนกรอกข้อมูลเข้ามาว่าเด็กย้ายไปอยู่ที่ไหน หรือหากมีเด็กย้ายเข้ามาก็ให้กรอกข้อมูลว่ารับย้ายมาจากที่ไหนด้วย

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ การจ่ายเงิน 2,000 บาท จะจ่ายตามจำนวนนักเรียน เช่น หากผู้ปกครองมีบุตรหลานเรียนอยู่ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน (อนุบาล-ม.6) จำนวน 1 คน ก็จะได้รับเงินเยียวยา 2,000 บาท แต่หากมีบุตรหลานเรียนอยู่ จำนวน 3 คน ก็จะได้รับเงินรวม 6,000 บาท

โดยคนที่จะรับเงินเยียวยา มีหลักว่า หากนักเรียนอยู่กับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ก็คือ พ่อ-แม่

แต่หากนักเรียนอยู่กับญาติ  ผู้ปกครอง ก็คือ ญาติที่นักเรียนอาศัยอยู่ด้วย

ซึ่งครูประจำชั้นต้องรู้ข้อมูลในส่วนนี้ คือ ผู้ปกครอง

หากเด็กอยู่กับมูลนิธิ หรือ อยู่บ้านพักเด็ก ทางโรงเรียนก็สามารถจ่ายเงินเยียวยาให้กับนักเรียนโดยตรงได้ โดยระบุว่า เด็กคนนี้อยู่บ้านพักเด็ก ที่ไหน หรืออยู่กับมูลนิธิอะไร เพื่อเป็นการยืนยันว่า เด็กอยู่กับใครและเงินถึงมือเด็กหรือไม่

ขณะนี้ สพฐ. อยู่ในช่วงพร้อมเต็มพิกัด หากเงินลงมาถึงโรงเรียนเมื่อใด ก็อยากให้เงินถึงผู้ปกครองภายใน 3 วัน โดยให้โรงเรียนถือปฏิบัติตามแนวทางในหนังสือฉบับใหม่ที่ได้ส่งไปแล้ว โดยแจ้งว่าในส่วนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ต้องเปิดบัญชีใหม่เพื่อรองรับ ส่วนโรงเรียนจะมีการซักซ้อมวิธีปฏิบัติเพื่อให้เข้าใจตรงกันอีกครั้งหนึ่ง

ย้ำว่าเมื่อ สพฐ. ได้รับเงินจัดสรรเมื่อใดก็จะโอนเงินไปยังบัญชีของสำนักงานเขตฯ ภายในวันเดียวกันนั้น และให้เขตฯโอนต่อไปยังโรงเรียนภายใน 3 วัน เมื่อถึงบัญชีโรงเรียนแล้ว ขอให้โรงเรียนโอนเงินหรือจ่ายเงินถึงมือผู้ปกครองภายใน 3 วันเช่นเดียวกัน โดยรวมแล้วทั้งกระบวนการขอให้จบภายใน 7 วัน

แต่ในขณะนี้ สพฐ. ยังไม่ได้รับเงินจัดสรรจากกระทรวงการคลังมาถึงกระทรวงศึกษาธิการ จึงยังไม่มีเงินลงไป

ทั้งนี้ นักเรียนและผู้ปกครองที่มีบุตรหลานกำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียน สังกัด สพฐ. สามารถตรวจสอบสถานะการมีสิทธิ์ตามโครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา (COVID-19) ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน ได้แล้ว ที่เว็บไซต์ https://student.edudev.in.th 

โดยจะต้องมีข้อมูลเลขประจำตัวประชาชนและเลขประจำตัวนักเรียน ที่โรงเรียนรายงานเข้ามาในระบบและยืนยันข้อมูล ณ วันที่ 25 มิ.ย. 2564 ( กรณีที่มีการย้ายสถานศึกษาหลัง วันที่ 25 มิ.ย. 2564 ให้ใช้เลขประจำตัวของโรงเรียนเดิมจึงจะพบสิทธิ์ และนักเรียนที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์หรือเกินเกณฑ์ จะยังไม่ได้รับสิทธิ์ในรอบนี้ )  

แจงถี่ยิบถึงรายละเอียดการจ่ายเงินเยียวยาขนาดนี้ อาจอิงเข้ากับสำนวนที่ว่า  คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล ” คือ ออกทะเลอย่าประมาททะเล เพราะอาจเกิดอันตรายได้ทุกเมื่อ

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ก็มีเสียงร้องออกมาอีกว่า... “ไปกันใหญ่แล้ว เอกสารประกอบขอเงินช่วย 2,000 บาทโรงเรียนเดียวกัน แต่คนละชั้นต้องการไม่เหมือนกัน เช่น ชั้นนึงจะเอาแนวตั้ง อีกชั้นนึงต้องเป็นแนวนอน สำหรับบัตรประชาชน  ชั้นนึงต้องการด้านหน้า อีกชั้นต้องการทั้งหน้าหลัง  Book Bank เหมือนกัน อีกชั้น ต้องการหน้าที่บอกเลขบัญชี อีกชั้นต้องการทั้งหมดเลย  กรรมจริง ๆ  ฮึ ๆ แบบนี้ นี่เอง ทำโอกาส ให้เป็นวิกฤต ได้ทุกระดับจริง ๆ”

และล่าสุด ก็มีข่าวหลุดออกมามาอีกว่า... “ ก.คลัง เพิ่งจะออกระเบียบว่า ให้โอนเงินเยียวยาสองพันเข้าบัญชีเท่านั้นไม่ให้จ่ายเงินสด ลองหลับตานึกดูกันเอาเองเถิดว่า ผปค.จะมีบัญชีเงินฝากกันกี่คน และบางคนอยู่ไกลต้องเดินทาง 1 วันมาเปิดบัญชีอีกราวห้าล้านคน และ ต้องกรุงไทย เท่านั้น...หากเป็นจริงดังว่า จะเป็นเรื่องงี่เง่าที่สุด ”

 

 

“...หากเป็นเช่นนั้นจริง ลองคิดเล่น ๆ ดู ว่า เปิดบัญชีใหม่ต้องใช้ คนร.ร.ละ 3 คน อำเภอหนึ่งมี 120 ร.ร.=120×3=360 คิดดูว่าคนจะไปรวมกันจำนวนที่ ธนาคาร ความเสี่ยง ความปลอดภัย หากเกิดคัลเตอร์ใหม่ละ ไม่อยากคิดเลย” เป็นเสียงที่เคยสะท้อนออกมาก่อนหน้านี้

 

อย่างน้อย นายสุภัทร์ จำปาทอง ปลัดศธ. ยังแจงขั้นตอนยืนยันการจัดสรรเงินเยียวยานักเรียน 22,000 ล้านบาท ทุกคน ตั้งแต่วันที่ 5 เป็นต้นไป ทุกสังกัด 2,000 บาท/คน สพฐ. โอนเงินเข้าบัญชีผู้ปกครอง สอศ. ผู้ปกครอง รับเงินสดที่วิทยาลัย  สช. ผู้ปกครองรับเงินสดที่โรงเรียน หรือรับเข้าบัญชี ตั้งแต่วันที่ 7 กศน. ผู้ปกครองรับเงินสด จาก กศน.อำเภอ หรือ ศชช. ตั้งแต่วันที่ 7 เป็นต้นไป เช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม ต้องชื่นชมสพฐ.ที่ขอให้ผู้บริหารสถานศึกษา ผอ.เขตพื้นที่ฯ ต้องอยู่ ณ  ที่ทำการ และจัดเจ้าหน้าที่ สามารถตอบคำถาม แก้ปัญหา ให้คำแนะนำ ประจำไว้ที่ศูนย์คอลเซ็นเตอร์ รับเรื่องราวที่อาจจะมี ทั้งในส่วนกลาง ศธ.และทุกเขตพื้นที่การศึกษา

 

ซึ่ง 7 วัน สำคัญในการดำเนินการจ่ายเงินเยียวยา ล้วนมีความหมายและพิสูจน์ถึงศักยภาพ คุณภาพของคน สพฐ.และศธ. ได้ดีที่สุด 

 

 (โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)