มหากาพย์ลดหนี้สินครู! จับตา 4 มาตรการยุค"รมว.ตรีนุช" ทำได้จริงหรือขายฝัน?

 

มหากาพย์ลดหนี้สินครู!

จับตา 4 มาตรการยุค รมว.ตรีนุช

ทำได้จริง หรือ ขายฝัน?

คิดนอกกรอบ: 10 พ.ย.2564

“ปัญหาหนี้สินครู” หาใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นมหากาพย์ที่รัฐบาล โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หลายยุคหลายสมัยพยายามหามาตรการแก้ไข เพื่อช่วยเหลือพ่อพิมพ์และแม่พิมพ์ของชาติ ซึ่งจะส่งผลดีต่อคุณภาพการจัดการเรียนการสอนตามไปด้วย แต่จนแล้วจนรอด “ปัญหาหนี้สินครู” ก็ยังคงเป็นอยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้

หนำซ้ำยังทวีความรุนแรงจากหลักหลายแสนล้านบาท พุ่งสูงขึ้นไปจนมียอดหนี้สินรวมมากกว่า 1 ล้านล้านบาท ไปเป็นที่เรียบร้อยมาหลายปีแล้ว

จากในอดีตที่ครูและบุคลากรทางการศึกษามีหนี้สินเดิมอยู่กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูในจังหวัดต่างๆ เป็นหลักรวมราว 6 แสนล้านบาท มาถึง ศธ.ยุคหนึ่งมีความพยายามที่จะลดยอดหนี้สินในสหกรณ์ออมทรัพย์ครูดังกล่าวลง

โดยผุดโครงการให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นสมาชิกได้กู้เงินกับธนาคารออมสิน ในโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิกกองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) และสมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาในกรณีคู่สมรสถึงแก่กรรม (ช.พ.ส.)

ด้วยหวังว่าจะให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาใช้เงินกู้จากธนาคารออมสินที่ดอกเบี้ยถูกกว่า ไปโปะใช้หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู เพื่อตัดยอดหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาแต่ละคนให้ลดลง

แต่ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่า ครูและบุคลากรทางการศึกษาส่วนใหญ่หลายแสนคนกลับเป็นหนี้ทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ครู และธนาคารออมสิน โดยมียอดหนี้พุ่งสูงขึ้นจากราว 6 แสนล้านบาท ทะยานไปจนถึงมากกว่า 1 ล้านล้านบาท จนถึงทุกวันนี้

กระทรวงศึกษาธิการก่อนหน้านี้ ก็มีความพยายามหาแนวทางแก้ปัญหาลดยอดหนี้ครูฯให้ได้ โดยที่เห็นแนวทางเป็นรูปธรรม แต่ยังเห็นผลไม่ชัดเจน คือ กรณีที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ขณะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้เจรจากับธนาคารออมสินให้ยกเลิกการหักเงินส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินกู้ 0.5% ในโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. และ ช.พ.ส. ที่หักเข้ากองทุนสนับสนุนพิเศษ ช.พ.ค. คืนให้แก่ครูที่มีวินัยทางการเงินดีจากเดิม 0.5% เพิ่มเป็น 1% เพื่อเป็นการลดอัตราดอกเบี้ย มีครูได้รับประโยชน์กว่า 390,000 คน

ล่าสุดมาถึงรัฐบาลปัจจุบันในยุค น.ส.ตรีนุช เทียนทอง เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา มีนายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ. เป็นประธาน

ได้มีการประชุมหาแนวทางมาระยะหนึ่ง จนตกผลึกสรุปเป็นมาตรการที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาหนี้สินครูเบื้องต้นนี้ โดยผ่านการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา อาทิ ผู้แทนธนาคารออมสิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกระทรวงการคลัง มีทั้งสิ้น 4 มาตรการ ที่ระบุว่าสามารถดำเนินการได้ทันที

ประกอบด้วย 1.ลดดอกเบี้ย ซึ่งสถาบันการเงินยินดีร่วมมือ 2.ลดยอดหนี้ครูที่มีหนี้จำนวนมาก เช่น ลดยอดหนี้ด้วยหุ้นสหกรณ์ออมทรัพย์ครู หรือลดด้วยเงินสะสมในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) รวมถึงพิจารณาจากเงินสมาชิกกองทุน ช.พ.ค.และกองทุน ช.พ.ส. ซึ่งเร็วๆ นี้ จะประชุมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เพื่อหาแนวทางต่อไป

3.ลดค่าธรรมเนียมที่ไม่จำเป็นต้องจ่าย โดยเฉพาะเงินประกันเงินกู้ ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องทำประกัน เพราะครูผู้กู้มีหุ้น หรือมีเงิน ช.พ.ค.-ช.พ.ส. และเงิน กบข.ที่สามารถใช้เป็นหลักค้ำประกันได้ และ 4.ตั้งคณะกรรมการควบคุมการกู้เงินของครูฯ เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีการควบคุมการปล่อยกู้ให้กับครูอย่างเป็นระบบ จนครูฯเป็นหนี้สินค่อนข้างมาก ซึ่งต่อไปจะต้องมีคณะกรรมการพิจารณาข้อมูลทางการเงิน เพื่อให้ครูฯมีเงินเหลือไม่น้อยกว่า 30% ต่อเดือน เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่เดือดร้อนมาก

ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู กล่าวตอนท้ายด้วยว่า ในกรณีครูผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ จะมีคณะกรรมการแก้ปัญหา โดยมีตัวแทนจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครู และจากสถาบันการเงินมาร่วมหาทางแก้ไข เช่น ปรับโครงสร้างหนี้

“ทั้งนี้ น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้เน้นย้ำว่า มาตรการใดทำได้ก่อน ให้เร่งทำโดยเร็วที่สุด” นายสุทธิชัย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าวย้ำ

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com ได้รับกระแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวนหนึ่ง รวมถึงมีกลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษาที่แสดงความคิดความเห็นผ่านโซเชียล สอดรับกัน ในทำนองตั้งข้อสังเกตว่า ทั้ง 4 มาตรการดังกล่าว สามารถดำเนินการได้จริงหรือไม่? แก้ปัญหาได้ตรงจุดหรือไม่? หรือเป็นเพียงการขายฝัน?

โดยสะท้อนว่า มาตรการที่ 1.ลดดอกเบี้ย ที่ระบุว่า สถาบันการเงินยินดีร่วมมือนั้น จะทำได้จริงหรือ? ประชาชนกลุ่มอื่นจะยอมให้เกิดความลักลั่นหรือไม่?, มาตรการที่ 2.ลดยอดหนี้ครูที่มีหนี้จำนวนมาก เช่น ลดยอดด้วยหุ้นสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ลดด้วยเงินสะสมในกองทุน กบข. รวมถึงพิจารณาจากเงินสมาชิกกองทุน ช.พ.ค.และกองทุน ช.พ.ส.นั้น ครูลูกหนี้จะยินยอมหรือไม่? จะกระทบกับทายาทที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ จนครูลูกหนี้ไม่ยินยอมหรือไม่?

มาตรการที่ 3.ลดค่าธรรมเนียมที่ไม่จำเป็นต้องจ่าย โดยเฉพาะเงินประกันเงินกู้ ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องทำประกัน เพราะครูผู้กู้มีหุ้นสหกรณ์ออมทรัพย์ครู หรือมีเงิน ช.พ.ค.-ช.พ.ส. และเงิน กบข. ที่สามารถใช้เป็นหลักค้ำประกันได้นั้น จะกระทบกับผู้ค้ำประกันต้องมารับผิดชอบแทนหรือไม่? และจะกระทบกับทายาทที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ จนครูลูกหนี้ไม่ยินยอมหรือไม่?

และมาตรการที่ 4.ตั้งคณะกรรมการควบคุมการกู้เงินของครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อควบคุมการปล่อยกู้ให้กับครูอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ครูฯมีเงินเหลือไม่น้อยกว่า 30% ต่อเดือนนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้จริงหรือไม่?

เนื่องจากตามที่ปรากฏเป็นกระแสข่าวการกู้ยืมเงินของครูและบุคลากรทางการศึกษาในระดับสถานศึกษา หรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหลายๆ แห่ง มักจะมีการหมุนสลับการเป็นผู้กู้กับผู้ค้ำภายในหน่วยงานเดียวกัน จึงอาจจะเป็นเรื่องยากที่จะตั้งคณะกรรมการมาควบคุม 

รายการ EduGuide 4.0 สรรค์สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ หนึ่งในแขนงงานสื่อค่าย สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com พาไปชมคลิป! โครงการช่วยบรรเทาและแก้ปัญหาหนี้สินครูฯ ของสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ในยุคนายอรรถพล ตรึกตรอง ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. 

คลิกชมโดยพลัน...

 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)