'ทุนเรียนดีมนุษย์สร้างชาติ' อุดมศึกษาไม่ปัง ทำมา 14 ปี งบเหลือบานเบอะ ได้ลุยต่อ เงินใคร...?

คิดนอกกรอบ : บทความ  1 เมษายน 2564

บทเรียน 'ทุนเรียนดีมนุษย์สร้างชาติ' อุดมศึกษาไม่ปัง 

ทำมา 14 ปี งบเหลือบานเบอะ ได้ลุยต่อเงินใคร...? 

 

สืบเนื่องจาก คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 อนุมัติให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดำเนินโครงการพัฒนากำลังคนด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (ทุนเรียนดีมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย) ระยะเวลา 14 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 - 2564 ในวงเงินงบประมาณ 6,412.25 ล้านบาท

ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นโครงการพัฒนาเพื่อสร้างฐานกำลังคนระดับคุณภาพในระดับปริญญาตรี – ปริญญาเอก ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยมีข้อผูกพันสัญญาผู้รับทุนต้องชดใช้ทุนด้วยระยะเวลาการเข้ารับราชการ

โครงการฯจะสิ้นสุด ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 นั่นหมายถึงเหลือเวลาอีกเพียง 6 เดือน เท่านั้น

แต่จากการดำเนินงานของโครงการฯแปลกใจว่า ผ่านมาถึงปีที่ 14 เฮือกสุดท้ายแล้ว เพิ่งจะมีรายงานแจ้งว่า ใช้งบฯไปเพียง 2,868 ล้านบาท เนื่องจากมีนักเรียนทุนที่อยู่ในระบบแค่ 483 คน จำแนกเป็นผู้สำเร็จการศึกษาแล้ว จำนวน 273 คน อยู่ระหว่างศึกษา จำนวน 210 คน

ส่งผลให้มีวงเงินเหลือบานเบอะถึง 3,544.13 ล้านบาท

กระทรวง อว.จึงได้นำเรื่องขอขยายระยะเวลาโครงการพัฒนากำลังคนด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (ทุนเรียนดีมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย) จาก พ.ศ. 2551 – 2564 เป็น พ.ศ. 2551 – 2570  เข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 16 มีนาคม 2564 และมีมติเห็นชอบ อนุมัติตามที่ กระทรวงอว.เสนอ  

ขณะเดียวกัน ก็มีการตั้งข้อสังเกตจากคนอุดมศึกษาด้วยกันถึงโครงการนี้ว่า ใน 13 ปีเศษที่ผ่านมา นอกจากไม่ได้กลุ่มเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ แสดงถึงไม่ได้รับความสนใจแล้ว ขณะที่ประเทศต้องการสร้างคนไทยให้มีทักษะการเรียนรู้ และทักษะที่จำเป็นของโลกศตวรรษที่ 21 เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้สอดคล้องรองรับบริบทของโลกเทคโนโลยีดิจิทัลและการเติบโตทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงสังคมของประเทศ

ทำไมจึงไม่คิดนำไปพัฒนาสร้างฐานกำลังคนระดับคุณภาพอาจารย์ในด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่กำลังเป็นที่ต้องการของประเทศ จะไม่ดีกว่าหรือ

แต่ทางออกของ สป.อว.เจ้าของโครงการฯกลับขอลุยถั่วไปต่อดื้อ ๆ โดยอ้างถึงผลการสำรวจข้อมูลผู้เกษียณอายุของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ยกตัวเลขในช่วงปี พ.ศ. 2561 – 2570 จะมีผู้เกษียณอายุในสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 4,659 คน  

หากไม่สามารถหาอาจารย์ที่มีคุณภาพมาทดแทนได้ จะส่งผลเกิดปัญหาขาดแคลนอาจารย์ในสาขาดังกล่าว และส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจัดการศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัย และการพัฒนาประเทศได้

โดยทำเรื่องผ่านคณะอนุกรรมการบริหารโครงการพัฒนากำลังคนด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ขอขยายระยะเวลาโครงการออกไปอีก 6 ปี จาก พ.ศ. 2551 - 2564 เป็น พ.ศ. 2551 – 2570 โดยใช้กรอบวงเงินเดิมในส่วนที่เหลืออยู่ จำนวน 3,544.13 ล้านบาท มาจัดสรรทุนการศึกษาสำหรับระดับป.เอก และ ระดับป.โท - เอก รวมทั้งสิ้น 637 ทุน ซึ่งเป็นจำนวนทุนที่ยังอยู่ในวงเงินตามเป้าหมาย

ดูแล้วกลายเป็นเรื่องที่ต้องแสดงความขอบคุณในความปรารถนาดีต่อไมตรีจิต ที่ทาง สป.อว. กรุณาหยิบยื่นให้

และคราวนี้ แตกลูกกลายพันธ์ออกไปเป็นทุนในประเทศ 175 ทุน แบ่งเป็นระดับป.เอก 75 ทุน ระดับป.โท – เอก 100 ทุน และ ทุนต่างประเทศ 462 ทุน แบ่งเป็น ระดับป.เอก 197 ทุน ระดับป.โท – เอก อีกจำนวน 265 ทุน เฉพาะส่วนนี้คิดเป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 3166.92 ล้านบาท

กระนั้น ก็ยังมีงบเหลืออีก จำนวน 259.50 ล้านบาท

เพื่อให้ได้รับอานิสงส์ทั่วกัน จึงได้เห็นการแตกลูก ออกเป็นทุนอบรม/ศึกษาเพิ่มเติม/วิจัยในต่างประเทศ 93 ทุน และทุนสนับสนุนศักยภาพในการทำวิจัยด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพื่อต่อยอดการทำวิจัยเชิงลึก ในสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในต่างประเทศ (Post -doctoral) 230 ทุน ระยะเวลา 1 ปี ทั้ง 2 ทุน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ทราบว่า กลุ่มมหาวิทยาลัยอย่างเช่น มหาวิทยาลัยราชมงคล หรือ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ได้เห็นและรับรู้สนใจกันบ้างไหม  

นี่ยังไม่รวม ค่าบริหารโครงการอีก จำนวน 117.71 ล้านบาท

โดยยกอ้างเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินโครงการฯและพัฒนากำลังคนด้านมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ให้มีคุณภาพและมีปริมาณเพียงพอรองรับการพัฒนาประเทศ รวมถึงสนับสนุนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะต่อไป นั่นมันเมื่อ 14 ปี มาแล้ว

สุดท้ายยังแสดงออกซึ่งความห่วงใยด้วยเกรงว่าหน่วยงานอื่นจะเข้าใจผิด จึงมีการระบุย้ำด้วยว่า โครงการฯที่ อว.เสนอ ไม่มีความซ้ำซ้อนกับการจัดสรรทุนลักษณะเดียวกันของโครงการอื่นภายใต้ อว.และสำนักงาน ก.พ. เนื่องจากเป็นทุนสำหรับสถาบันอุดมศึกษาเพื่อเป็นอาจารย์ในการสร้างบัณฑิตด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เท่านั้น

จึงเป็นที่มาของการเมาท์มอยถึงแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนประเทศ พ.ศ.2564 -2570 ดังนั้น โครงการพัฒนากำลังคนด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่ ครม.อนุมัติให้ความเห็นชอบขยายไปอีก 6 ปี รวมเป็น 20 ปี จึงค่อนข้างย้อนแย้งไม่ตอบโจทย์กระแสโลกาภิวัฒน์ ความก้าวหน้าโลกเทคโนโลยีดิจิทัล และทักษะที่จำเป็นของโลกศตวรรษที่ 21 ตามความต้องการที่แท้จริงของประเทศ ด้วยการสร้างองค์ความรู้ และนวัตกรรมใหม่

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ในระบบราชการ หลักการกับเหตุผลย่อมเหนือกว่าข้อเท็จจริง มิอาจบอกหยั่งรู้ได้จนกว่าผลลัพธ์จักได้สำแดง

 

EunewsSiam : คิดนอกกรอบ 

tulacom@gmail.com

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)