เล่าให้คิด! รัชชัยย์ ศรสุวรรณ "เมื่อผมเสนอ ผอ.ลงโทษครูกินเหล้าใน ร.ร. แต่..."

 

"เมื่อผมใช้ความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่เต็ม เสนอผู้บังคับบัญชาให้ลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงข้าราชการครูรายหนึ่ง..."

โดย: รัชชัยย์ ศรสุวรรณ

       นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา

เมื่อประมาณปี พ.ศ.2536 ผมยังคงปฏิบัติหน้าที่เป็นนิติกร กรมสามัญศึกษา และได้รับการสนับสนุนจากผู้บังคับบัญชาให้ออกไปปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งหนึ่ง (ตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการในสมัยนั้น เทียบเท่ากับรองผู้อำนวยการสมัยปัจจุบัน)

ในยุคนั้น กว่านิติกรระดับ 5 จะเลื่อนเป็นนิติกรระดับ 6 ได้ ต้องรอให้พี่ๆ ที่เป็นนิติกรระดับ 6 เกษียณอายุราชการหรือเสียชีวิตเสียก่อน จึงจะได้เลื่อนเป็นระดับ 6 ได้ (จึงเชื่อได้ว่าการแช่งให้พี่ๆ ที่เป็นนิติกรระดับ 6 รีบไปดำรงชีวิตอยู่กับนางฟ้าบนสวรรค์ น่าจะเกิดขึ้นทุกวันโดยที่พี่ๆไม่รู้ตัว) ที่สำคัญคือ ระดับ 6 ในสมัยนั้นมีฐานะเป็นหัวหน้า จึงต้องวิ่งเต้นกันถึงระดับรัฐมนตรี

ผมจึงยินดีและรีบตอบรับด้วยความขอบคุณยิ่งที่เจ้านายเสนอให้ไปเป็น ผช.ผอ.โรงเรียน (สมัยนั้นไม่มีสอบ)

ปฏิบัติหน้าที่ ผช.ผอ.ได้เพียงหนึ่งสัปดาห์ก็เจอดีจนได้…วันแรกของการปิดภาคเรียน ผอ.เชิญวิทยากรมาอบรมให้ครูทุกคนเรื่อง "การผลิตสื่อ" ครูทุกคนกำลังเข้าห้องประชุมที่ห้องประชุมชั้น 2 ของอาคารเรียนหลังที่ 1 ผมก็กำลังเดินเข้าห้องประชุม ถูก ผอ.ซึ่งยืนอยู่ที่ระเบียงอาคารเรียกไปพบ แล้วชี้ให้ผมมองลงไปที่สนามหน้าอาคาร

ผอ. : ชัย ชัย มานี่ซิ ดูข้างล่างโน่น ดูไอ้ ม.มันทำ จัดการให้หน่อย

ผมมองลงไปข้างล่าง เห็นครู ม.นั่งอยู่คนเดียวที่ม้าหินหน้าอาคารที่กำลังประชุม โดยมีเหล้าแม่โขง 1 ขวด ปริมาณเกือบเต็ม แก้วหนึ่งใบ วางอยู่ และครู ม.ก็เทเหล้าใส่แก้วและยกซดโดยไม่หวั่นเกรงสายตาผู้ใดทั้งสิ้น เลือดของความเป็นนิติกรเก่าสูบฉีดโดยพลัน แล้วรีบนำเรียนท่าน ผอ.ว่า

ผม : โอ…แย่มาก ทำอย่างนี้ได้ไง ไม่เกรงกลัวสายตาใครแม้สายตา ผอ.ก็ไม่กลัว พฤติกรรมเช่นนี้เข้าข่ายการกระทำความผิดวินัยมาตรา 92 และมาตรา 98 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 ฐานทอดทิ้งหน้าที่ราชการ และฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ระดับโทษขั้นต่ำคือปลดออกจากราชการครับ ขอเวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมง ผมจะไปร่างคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสอบสวนเบื้องต้น ครับ

ผอ. :  เห้ย…ไม่ใช่ ผมไม่ได้ต้องการให้คุณทำอย่างนั้นนะ

ผม : อ้าว…ก็เขากำลังกระทำความผิดวินัยเห็นๆ นะครับ และถ้า ผอ.ไม่ดำเนินการใดๆ  ท่าน ผอ.ก็จะมีความผิดตามมาตรา 99 วรรคท้าย นะครับ

ผอ. : เห้ย…คุณอย่าเอามาต ตง มาตตา อะไรมาคุยกับผม นะ 

ผม : อ้าว…แล้ว ผอ.จะให้ผมทำอะไรครับ

ผอ. : คุณไปหาซื้อน้ำแข็ง โซดา และกับแกล้มมาให้มัน แล้วชวนมันไปนั่งกินเหล้าต่อที่ห้องพักเวร ชวนมันคุย มันกินแต่เหล้าเดี๋ยวตับแตกตาย 

ผม : อ้าว…ทำไมล่ะครับ 

ผอ. : ไอ้ ม.มันเป็นคนดี ตั้งใจทำงาน ใส่ใจนักเรียน เมียมันก็สอนที่นี่ แต่เมียมันมักจะงี่เง่าใส่มัน วันนี้มันคงถูกเมียมันกดดันหนักมากนะ ครั้งนี้น่ะ มันก็คงประชดเมียมันนั่นเเหละ ถ้าไปลงโทษมันก็จะเสียครูดีๆ ไปคนหนึ่ง พวกเราเป็นผู้บริหาร ไม่ใช่ผู้คุมนักโทษ ดังนั้น ต้องใช้ศิลปะในการจัดการคน ไม่ใช่จะใช้แต่กฎหมายตะพึดตะพือ 

ผม : เอิ่มมม…ถ้าอย่างนั้นผมขออนุญาตดื่มเป็นเพื่อนมันนะครับ เพื่อ…

ผอ. : เห้ย! ไม่ต้องดื่ม แค่ชวนมันคุยและให้กำลังใจมันก็พอ 

…วันนั้นก็ผ่านไปด้วยดี และครู ม.ก็เป็นคุณครูที่ดี แต่คนที่เครียดคือผม เพราะนั่งคุยนั่งมองคนกินเหล้าด้วยสายตาปริบๆ มันทรมานใจ...

(หมายเหตุ 1.เมื่อปี พ.ศ.2535 เรื่องวินัยข้าราชการนั้น ให้ใช้กฎหมายของข้าราชการพลเรือนโดยอนุโลม 2.การบริหารคนไม่จำเป็นต้องใช้มาตตง มาตตา ตะพึดตะพือ นะครับ น้องๆ ผอ.ร.ร.ทั้งหลาย)

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)