อจท.จัดอบรมครูสู่หลักสูตรสมรรถนะ ท่ามกลางเสียงต้าน-ลุ้น'รมว.ตรีนุช'ระงับใช้


เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานว่า เว็บไซต์ครูวันดีดอทคอม https://www.kruwandee.com/ ได้นำเสนอข่าวเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2564 โดยมีหัวข้อข่าว "ลงทะเบียนฟรี! อักษรเจริญทัศน์จัดอบรมออนไลน์ เตรียมความพร้อมครูสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะ อบรมจบรับใบประกาศนียบัตร"

โดยเนื้อหาข่าวระบุว่า "ใกล้เข้ามาทุกทีกับการสอนหลักสูตรฐานสมรรถนะ อักษรไม่รอช้าจัดให้ครูไทย ปักหมุดไว้ได้เลย ศึกชิงครั้งนี้เต็มเร็วแน่นอน! กับการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการอบรมออนไลน์หลักสูตรเตรียมความพร้อมครูสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะ ด้วยการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ

จัดเต็มแบบไม่มีกั๊ก นำไปใช้ได้จริง ในหัวข้อ -การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน ด้วยหลักสูตรแกนกลางฯ พ.ศ.2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) -การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน -การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ เพื่อประเมินสมรรถนะผู้เรียน

ลงทะเบียนฟรี อบรมจบพร้อมรับใบประกาศนียบัตร แอบกระซิบว่าผู้ที่ผ่านการอบรมครั้งนี้จะได้รับสิทธิ์เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการอีกด้วย ห้ามพลาดทุกประการ"



อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานก่อนหน้านี้ เว็บไซต์สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com ได้นำเสนอข่าวต่อเนื่องความคืบหน้ากรณี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประกาศเรื่อง ศธ.ได้ตั้งคณะกรรมการจัดทำร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ และจะจัดนำร่องทดลองใช้ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ประมาณวันที่ 1 กันยายน 2564 นี้

ก่อนประกาศใช้จริงตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 เริ่มใช้ในระดับประถมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม, ปีการศึกษา 2566 ใช้ระดับมัธยมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม และใช้สำหรับระดับประถมศึกษาในทุกโรงเรียน และในปีการศึกษา 2567 จะใช้ในทุกโรงเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา

ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากนักวิชาการ สมาคม/ชมรมครูและบุคลากรทางการศึกษาภาคต่างๆ ตลอดจนชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย เนื่องจากเห็นว่าหลักสูตรยังขาดความสมบูรณ์ มีจุดบกพร่อง และขาดการรับฟังครูและบุคลากรทางการศึกษา

อาทิ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา ระบุว่า “ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะดังกล่าว มีจุดบกพร่องที่ควรแก้ไขหลายเรื่อง แต่ ศธ.ไม่เปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็น เช่น คณะกรรมการจัดทำร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ ยังแยกแยะไม่ออกด้วยซ้ำระหว่างความรู้ ทักษะ สมรรถนะ และเจตคติ โดยนำทุกอย่างมารวมอยู่ใต้กรอบสมรรถนะทั้งหมด เฉพาะอย่างยิ่ง การตั้งสมรรถนะเรื่องการคิดขั้นสูงของเด็กที่สูงเกินไป ไกลจากข้อเท็จจริงของมาตรฐานการศึกษาไทยที่จะทำให้เด็กไทยทั่วไปก้าวไปถึงขั้นนั้นได้

นอกจากนี้ ยังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ด้วยว่า มีผู้มีอำนาจคอยสั่งการให้เติมวิชานั้น วิชานี้เข้าไป จนร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะดังกล่าวนี้ บวมย้วยไปหมด จากเดิมที่ควรมีเพียง 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้ กลายเป็นต้องมาเรียนถึง 7 สาระการเรียนรู้ ตนสงสารครูในยุคเปลี่ยนผ่านหลักสูตร ต้องกลายเป็นครู 2 ซิม โดยเฉพาะต้องมีภาระเพิ่มขึ้นอีก หากร่างหลักสูตรไม่มีความชัดเจน และต้องคอยวิจัยปรับปรุงอยู่เรื่อยๆ" ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

อีกทั้งสมาคม/ชมรมครูและบุคลากรทางการศึกษาภาคต่างๆ ยังคัดค้านในประเด็นว่า เป็นการเพิ่มภาระและความเสี่ยงให้กับครู บุคลากรการศึกษา นักเรียนและผู้ปกครองในสถานการณ์วิกฤตโรคโควิด-19

โดยเฉพาะสถานศึกษานำร่องทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะที่อยู่ในจังหวัดสีแดงเข้ม และอยู่ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งมี 6 จังหวัด/ภูมิภาค ได้แก่ กลุ่มสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา จ.ระยอง และกาญจนบุรี เหลือที่ไม่ใช่จังหวัดสีแดงเข้มเพียง จ.ศรีสะเกษ เชียงใหม่ และสตูล เท่านั้น 

สานิตย์ พลศรี

รวมทั้งสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ โดยนายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคม ได้ทำหนังสือส่งถึง น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ขอให้พิจารณาทบทวนการประกาศใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ

โดยให้เหตุผล อาทิ นางสาวตรีนุช ควรทบทวนให้ดีกว่านี้ เพราะกลุ่มคนที่เป็นคณะทำงานเรื่องนี้ แทบทั้งหมดไม่เคยสอนหนังสือเด็ก ขณะเดียวกัน นางสาวตรีนุช มีความเข้าใจเรื่องเหล่านี้มากน้อยเพียงใด เกรงว่าอาจตกเป็นเครื่องมือของคนกลุ่มใดหรือไม่? ถึงได้กล้าตัดสินใจทำเรื่องสำคัญเช่นนี้ ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตของประเทศ อีกทั้งเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณจำนวนมาก และเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของสำนักพิมพ์หนังสือเรียนขาย 

 

"เพราะฉะนั้น น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ต้องอย่าให้พวกหาผลประโยชน์มิชอบมาหลอกอาศัยการใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการของคนเป็นรัฐมนตรีอีกต่อไป" นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ

กระทั่งเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2564 น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ศธ.ว่า เสียงสะท้อนจากกลุ่มครูต่างๆ ที่ยังไม่พร้อมนำร่องใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะดังกล่าว ตนยินดีรับฟัง และเข้าใจการเตรียมแผนงานของครูเป็นอย่างดี แต่การจะขยับแผนทดลองใช้หลักสูตรใหม่ในเดือนกันยายน 2564 นี้ ออกไปก่อนได้หรือไม่นั้น ตนขอหารือกับคณะกรรมการจัดทำร่างหลักสูตรฯก่อน

"ส่วนประเด็นการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ในครั้งนี้ จะส่งผลให้สำนักพิมพ์บางแห่งได้รับประโยชน์หรือไม่นั้น คิดว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น แต่ก็จะนำทุกประเด็นไปหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการจัดทำร่างหลักสูตรใหม่" รมว.ตรีนุช กล่าวล่าสุด ถึงเรื่องร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)