แซด!'ตรีนุช-อัมพร-วรากรณ์'ออกนอกลู่ Big Rock รัฐบาลปฏิรูป ปท.ด้านการศึกษา?

 

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564 สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานว่า เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวนมาก ตั้งข้อสงสัยและคำถามถึง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา จากกรณีร่วมงานเปิดตัว “โครงการนำร่องการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ จำนวน 265 โรงเรียน ใน 8 จังหวัด พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” พร้อมกล่าวสนับสนุนการดำเนินหน้าใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ

ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ซึ่งมีผลบังคับใช้เป็นกิจกรรมของหน่วยงานรัฐบาลในปีนี้ ในการปฏิรูปประเทศที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) ซึ่งเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา

โดยในหน้า ๓๐๕-๓๐๘ ระบุไว้ชัดเจนถึงกิจกรรมในแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ว่า “เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ การจัดการศึกษาของประเทศจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อทำให้ผู้เรียนใฝ่เรียนรู้ มีทักษะชีวิตในโลกยุคใหม่ เป็นพลเมืองตื่นรู้ มีความรับผิดชอบ มีจิตสาธารณะ มีความรักและภาคภูมิใจในความเป็นไทย โดยการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนตามหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard-based Curriculum) ในปัจจุบัน ไปสู่การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง (Active Learning)”

ในกิจกรรม Big Rock ตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ดังกล่าว ไม่ได้มีการระบุไว้แม้แต่นิดเดียวว่า ให้กระทรวงศึกษาธิการ หรือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ แต่อย่างใด

แต่เมื่อจู่ๆ ทางสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. ได้ร่วมกับคณะอนุกรรมการสื่อสารและการมีส่วนร่วม ในคณะอนุกรรมการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (หลักสูตรฐานสมรรถนะ) จัดงาน “เวทีระดมสมองเพื่อการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน"

และเปิดตัว “โครงการนำร่องการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” ที่ กระทรวงศึกษาธิการ ในวันเดียวกันนี้ (11 ตุลาคม 2564) โดยมี น.ส.ตรีนุช, ดร.อัมพร และ รศ.ดร.วรากรณ์ ร่วมงาน พร้อมกล่าวสนับสนุนการเดินหน้าใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะดังกล่าว

ประกอบกับในช่วงการกล่าวเปิดงานเปิดตัว “โครงการนำร่องการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” ของนางสาวตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า "เรื่องการปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัย สู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ (Big ROCK) ทางด้านการศึกษา"

ยิ่งส่งผลทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งแกนนำองค์กรครูหลายภูมิภาคที่เคยแสดงความเห็นคัดค้านการจัดทำหลักสูตรสมรรถนะ เกิดความสับสนและข้อสงสัย พร้อมทั้งเรียกร้องให้ น.ส.ตรีนุช และ ดร.อัมพรได้ชี้แจงข้อเท็จจริงตามที่มีข้อสงสัยดังกล่าว

โดยเฉพาะคำตอบว่า การดำเนินการจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ และโครงการนำร่องการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาดังกล่าว ออกนอกลู่หรือขัดกับกิจกรรม Big Rock ตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ของรัฐบาลในปีนี้หรือไม่? อย่างไร? 

อนึ่ง ในราชกิจจานุเบกษา (๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔) ได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) โดยในหน้า ๓๐๕-๓๐๘ มีเนื้อความเกี่ยวกับกิจกรรมการปฏิรูปที่ ๒ การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ โดยไม่ได้มีการกล่าวถึงการจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ แต่อย่างใด

แต่กำหนดไว้ชัดเจนทั้งเรื่องเป้าหมายและตัวชี้วัดของกิจกรรมการปฏิรูป และขั้นตอนและวิธีการดำเนินการปฏิรูป โดยให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักในการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ในการปฏิรูปการเรียนรู้ระดับห้องเรียนด้วยการปรับวิธีสอนจาก Passive Learning ที่เน้นป้อนข้อมูลโดยการท่องจ้าเนื้อหา มาเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อให้ผู้เรียนสร้างความรู้ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ

ตลอดจนพัฒนาครูให้มีศักยภาพในการออกแบบการเรียนรู้, ปรับปรุงระบบการวัดผลและประเมินผล, ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและการเรียนรู้กับภาคีเครือข่ายต่างๆ

และให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ประชุมหน่วยงานผู้รับผิดชอบติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการ และร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการประเมินผลการดำเนินงานและขยายผลต่อไป 

ทั้งนี้ ยังได้กำหนดห้วงระยะเวลาให้ ศธ.ดำเนินการในแต่ละขั้นตอนไว้อย่างชัดเจน โดยมีระยะเวลาดำเนินการรวม ๑ ปี ๙ เดือน (ตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๖๔–กันยายน ๒๕๖๕) ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้  

 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)