องค์กรครูชง‘บิ๊กตู่-วิษณุ’เคลียร์ปมหลักสูตรสมรรถนะขัด รธน.-มติ ครม.-รัฐสภา

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 นายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ เปิดเผยว่า ตนได้ทำหนังสือในนามสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ส่งถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.), ประธานกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร, ประธานกรรมาธิการการศึกษา สมาชิกวุฒิสภา, หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และหัวหน้าพรรคก้าวไกล เรื่องเรียกร้องขอให้ผลักดันกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้พิจารณายกเลิกการจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ

สานิตย์ พลศรี

เนื่องจากการจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ และการเตรียมนำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จำนวน 265 โรงเรียนใน 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ กาญจนบุรี ศรีสะเกษ ระยอง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ของกระทรวงศึกษาธิการ อาจดำเนินการขัดแย้งกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเรื่องเสนอรัฐสภารับทราบ เกี่ยวกับเรื่องแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 และต่อมาได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

โดยเนื้อหาในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ดังกล่าวในย่อหน้าสุดท้ายระบุว่า “บัดนี้คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเสนอ และรัฐสภารับทราบแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงให้ประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้ทราบโดยทั่วกัน”

ทั้งนี้ ในแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) กิจกรรมปฏิรูปที่ 2 ระบุไว้ชัดเจนให้พัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 โดยไม่ได้มีการกล่าวถึงการจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ แต่อย่างใด

แต่กำหนดไว้ว่า เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ การจัดการศึกษาของประเทศจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อทำให้ผู้เรียนใฝ่เรียนรู้ มีทักษะชีวิตในโลกยุคใหม่ เป็นพลเมืองตื่นรู้ มีความรับผิดชอบ มีจิตสาธารณะ มีความรักและภาคภูมิใจในความเป็นไทย โดยการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนตามหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard-based Curriculum) ในปัจจุบัน ไปสู่การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง (Active Learning)

อีกทั้งยังกำหนดเรื่องเป้าหมายและตัวชี้วัดของกิจกรรมการปฏิรูป และขั้นตอนและวิธีการดำเนินการปฏิรูป โดยให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักในการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ในการปฏิรูปการเรียนรู้ระดับห้องเรียนด้วยการปรับวิธีสอนจาก Passive Learning ที่เน้นป้อนข้อมูลโดยการท่องจำเนื้อหา มาเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อให้ผู้เรียนสร้างความรู้ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ

ตลอดจนพัฒนาครูให้มีศักยภาพในการออกแบบการเรียนรู้, ปรับปรุงระบบการวัดผลและประเมินผล, ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและการเรียนรู้กับภาคีเครือข่ายต่างๆ และให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ประชุมหน่วยงานผู้รับผิดชอบติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการ และร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการประเมินผลการดำเนินงานและขยายผลต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้กำหนดห้วงระยะเวลาให้ ศธ.ดำเนินการในแต่ละขั้นตอนไว้อย่างชัดเจนด้วย โดยมีระยะเวลาดำเนินการรวม ๑ ปี ๙ เดือน (ตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๖๔–กันยายน ๒๕๖๕)

นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ กล่าวด้วยว่า การจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ และการเตรียมนำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ยังขัดกับแนวทางการจัดการศึกษาตามนัยสำคัญของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 16 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 จ.ด้านการศึกษา (4)

ซึ่งบัญญัติให้ “ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทุกระดับเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัด และปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยสอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่” เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างยั่งยืน รวมทั้งยังขัดกับนโยบายด้านการศึกษาของศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้วย

“แต่เหตุใดนางสาวตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. จึงได้ประกาศเดินหน้าปรับหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard-based Curriculum) ที่ใช้ในปัจจุบัน มาทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ ทั้งที่ในแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ระบุไว้ชัดให้ ศธ.ปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนตามหลักสูตรอิงมาตรฐานในปัจจุบัน ไปสู่การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 โดยไม่ได้มีการกล่าวถึงการจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะแม้แต่นิดเดียว”

นายสานิตย์กล่าวต่อว่า ดังนั้น การประกาศเดินหน้าจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ และการให้ไฟเขียวนำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ของนางสาวตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ถือว่าขัดมติ ครม. และเรื่องเสนอรัฐสภารับทราบเกี่ยวกับเรื่องแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) หรือไม่? รวมทั้งมีข้อสังเกตว่า ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแล ศธ. คุมแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และคุม ศธ.ไม่ได้ ใช่หรือไม่?

โดยเฉพาะในขณะนี้พี่น้องเพื่อนครูที่ได้อ่านแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) เกิดความสับสนไปทั่วประเทศว่า จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรให้เป็นไปตามแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา จะต้องมุ่งปรับการสอนเป็นแบบ Active Learning ตามหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard-based Curriculum) ที่ใช้ในปัจจุบัน หรือรอรับการอบรมเพื่อสอนตามหลักสูตรฐานสมรรถนะ

ทั้งรองนายกฯ ดร.วิษณุ ซึ่งกำกับดูแลด้านการศึกษา และโดยเฉพาะพลเอก ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ตามความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จะต้องพิจารณาให้คำตอบแก่พี่น้องเพื่อนครูได้คลายข้อข้องใจและปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และตามข้อกฎหมาย

“เพราะหากมีการตรวจสอบภายหลังแล้วพบว่า การจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะของ ศธ.ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีเรื่องแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ซึ่งถือเป็นกฎหมายในการบริหารประเทศเช่นกัน” นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ กล่าว

 

 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)