องค์กร ผอ.สพท.-ร.ร.-ครู เชียร์ รบ.จัดเวทีเคลียร์ ศธ.ทำ'ถูก-ผิด'กม. ปมหลักสูตรสมรรถนะ

องค์กร ผอ.สพท.-ผอ.ร.ร.-ครู หนุน “รบ.”เจ้าภาพเคลียร์ปม!หลักสูตรสมรรถนะ ศธ.ทำ'ถูก-ผิด'กม.ปฏิรูปประเทศสกัดปัญหาโต้แย้งบานปลายในวงการครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ต่างสถาบัน พร้อมพิสูจน์ “ก.ศึกษา” สวนนโยบาย “บิ๊กตู่” ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ดังที่นายกฯพร่ำสอน น.ร.ไทยหรือไม่??

ความคืบหน้าจากกรณีนายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ จะทำหนังสือในนามสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ส่งถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เรียกร้องให้รัฐบาลและ ศธ.เป็นเจ้าภาพเปิดเวทีวิชาการระดมความเห็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา และทำประชาพิจารณ์ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ

เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจชี้ขาดว่า จะให้ ศธ.ยกเลิกทำหลักสูตรฐานสมรรถนะในเวลานี้ แล้วเดินหน้าปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนของครูและนักเรียนเป็นแบบ Active Learning ตามที่ระบุในแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) หรือจะให้ครูรอสอนตามหลักสูตรฐานสมรรถนะที่ ศธ.กำลังจัดทำอยู่

ทั้งนี้ เพื่อคลายความสับสนให้กับผู้ปฏิบัติ เนื่องจากเกิดข้อโต้แย้งในวงกว้างในเรื่องดังกล่าว ณ ขณะนี้โดยเฉพาะในวงการคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งจะส่งผลเกิดปัญหาบานปลายตามมา

ประกอบกับเพื่อที่ผู้ปฏิบัติอันได้แก่ ครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ ตลอดจนนักเรียนและผู้ปกครอง จะได้รู้ทิศทางไหนถูกต้องสอดรับกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคศตวรรษที่ 21 กันแน่ จะได้ไม่เป็นหนูทดลองยา ไร้ทางเลือก เหมือนเช่นในอดีตที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาทุกครั้ง

นอกจากนี้ เพื่อคลายข้อสงสัยและข้อกล่าวหาเรื่องที่ ศธ.กำลังจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ อาจทำผิดกฎหมาย ขัดแย้งกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.๒๕๖๐ และบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา ๖๕ , มาตรา ๒๕๗ และมาตรา ๒๕๙ ซึ่งระบุไว้ชัดเจนให้ ศธ.ปรับปรุงพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของครูและนักเรียน โดยไม่ได้ระบุถึงการจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะแต่อย่างใด

ตลอดจนถึงจะได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงกรณีมีสียงวิพากษ์วิจารณ์ครหาในประเด็นต่างๆ เช่นที่มีการระบุว่า ในช่วงปลายสมัยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. เคยมีความพยายามจะใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะที่มีการยกร่างอยู่เดิม แต่ถูกครูท้วงติงว่าไม่มีส่วนร่วมรู้เห็นและเสนอแนะ และจะสร้างปัญหาให้กับการจัดการเรียนการสอน จนมีกระแสข่าวในขณะนั้นทำนองว่า นายณัฏฐพลได้สั่งยกเลิกดำเนินการเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะไปแล้ว โดยผู้บริหารระดับสูงใน ศธ.รับทราบเรื่องนี้ดี

รวมทั้งเรื่องผู้เสียประโยชน์ และรับประโยชน์จากการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่นายสานิตย์ นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ได้ทำหนังสือที่ สค.ชย.๐๒7/๒๕๖๔ ลงวันที่ 4 ตุลาคม ๒๕๖๔ ส่งถึง น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.

แจ้งให้ทราบข้อมูลเรื่องผู้เสียประโยชน์ คือ1.นักเรียนทั่วประเทศกลายเป็นหนูทดลองยา ทั้งที่นักวิชาการด้านการศึกษาหลายคนได้ท้วงติงและไม่คาดหวังความสำเร็จในอนาคตได้ 2.ครู เกิดปัญหาสับสนในการเรียนการสอน 3.พ่อแม่ ผู้ปกครอง สูญเสียโอกาสที่ลูกหลานตนเองจะได้รับการพัฒนาตามหลักสูตรอิงมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง 4.ประเทศชาติสูญเสียโอกาสในการพัฒนา เพราะการศึกษาของชาติต้องมาทดลองหลักสูตรแบบนับ “ศูนย์” ใหม่ อยู่เป็นระยะๆ

ส่วนข้อมูลผู้ได้ประโยชน์ อาทิ สำนักพิมพ์ได้ขายหนังสือเรียนใหม่ตามหลักสูตรใหม่ทั้งระบบ, คณะทำงานหลักสูตรได้ใช้งบประมาณระยะยาวหลายปี, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ใช้งบประมาณจัดซื้อครุภัณฑ์ใหม่ตามหลักสูตรฐานสมรรถนะที่ออกใหม่ โดยอาจมีบริษัทขายครุภัณฑ์บางแห่งจ่อได้รับประโยชน์หลักหลายร้อยล้านบาทนั้น

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 นายธนชน มุทาพร ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.) และแกนนำเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com ถึงเรื่องดังกล่าวว่า ในนามประธานชมรม ผอ.สพท. และแกนนำ ค.อ.ท. ซึ่งมีเครือข่ายทั้งองค์กรครูและบุคลากรทางการศึกษาในแขนงต่างๆ และระดับการศึกษาต่างๆ มีความเห็นด้วยอย่างยิ่ง และขอสนับสนุนให้ ศธ.เป็นเจ้าภาพจัดเวทีวิชาการระดมความเห็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา และทำประชาพิจารณ์ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ

เพื่อนำเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจชี้ขาดระหว่างให้ ศธ.จัดทำหลักสูตรใหม่ฐานสมรรถนะต่อไป หรือให้ ศธ.เดินหน้าปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนของครูและนักเรียนเป็นแบบ Active Learning โดยไม่ต้องรอหลักสูตรใหม่ จะได้คลายความสับสนสงสัยของผู้ปฏิบัติ ทั้งครูและบุคลากรทางการศึกษาในปมประเด็นต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะข้อครหาเรื่อง ศธ.อาจทำผิดกฎหมายหรือไม่ รวมไปถึงการสกัดปัญหาบานปลายกรณีเกิดข้อโต้แย้งในวงกว้างคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ต่างสถาบันอุดมศึกษา

“นอกจากนี้ จะได้เป็นการพิสูจน์ ศธ.ว่าได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พร่ำสอนเด็กและเยาวชนนักเรียน นักศึกษาในโอกาสต่างๆ เช่นในวันที่ไปเป็นประธาน Kick Off ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับเด็กนักเรียน อายุระหว่าง 12-18 ปี ที่โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 พลเอกประยุทธ์ได้กล่าวย้ำกับเด็กนักเรียนในวันนั้นว่า “คนเราต้องมีวินัย เพราะวินัย รวมถึงกฎหมาย จะทำให้ประเทศนี้อยู่ได้ ถ้าไม่มีอะไรเลยมันอยู่ไม่ได้ ประเทศนั้นก็เป็นโจรเท่านั้นเอง” ประธานชมรม ผอ.สพท. และแกนนำ ค.อ.ท.กล่าว

ด้าน นายสิรภพ เพ็ชรเกตุ ประธานชมรมครูภาคกลาง และแกนนำสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษา (สคคท.) กล่าวว่า ตนเห็นด้วยและขอสนับสนุนรัฐบาลหรือ ศธ.เป็นเจ้าภาพจัดเวทีวิชาการระดมความเห็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา และทำประชาพิจารณ์ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ เพื่อยุติข้อเคลือบแคลงสงสัยในปมประเด็นปัญหาต่างๆ

และเมื่อได้ข้อยุติประการใดแล้ว ไม่ว่าข้อสรุปจะให้ ศธ.เดินหน้าปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนของครูและนักเรียนเป็นแบบ Active Learning โดยไม่ต้องรอหลักสูตรใหม่ หรือให้ ศธ.เดินหน้าจัดทำหลักสูตรใหม่ฐานสมรรถนะต่อไป ก็ให้แจ้งผู้ปฏิบัติทั้งครู ผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตลอดจนนักเรียนและผู้ปกครอง ได้นำไปปฏิบัติตามนั้นอย่างตรงไปตรงมา

“ผู้ปฏิบัติจะได้รู้ทิศทางไหนถูกต้องสอดรับกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะเด็กไทยจะได้ไม่เป็นหนูทดลองยา ไร้ทางเลือก เหมือนเช่นในอดีตที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาทุกครั้ง เนื่องจากครั้งนี้ผ่านทั้งเวทีวิชาการระดับประเทศ และประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นของครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศด้วย” ประธานชมรมครูภาคกลาง และแกนนำ สคคท.กล่าว

ขณะที่ ดร.วิสิทธิ์ ใจเถิง นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) กล่าวว่า ในความเห็นของตนในฐานะนายก ส.บ.ม.ท. ยังอยากเสนอให้ผู้มีอำนาจในรัฐบาล และ ศธ.ได้ชะลอการดำเนินการเรื่องของหลักสูตรใหม่เอาไว้ก่อนในช่วง 1-2 ปีนี้ โดยตนมีเหตุผลสำคัญ 2 ประการ

ประการแรกคือ เรื่องของหลักสูตรไม่ใช่ประเด็นปัญหาเฉพาะหน้าสำคัญที่รัฐบาลและ ศธ.จะต้องเร่งรีบแก้ไขในเวลานี้ แต่ปัญหาใหญ่ ณ ขณะนี้ ที่สร้างความยุ่งยากลำบากต่อทั้งผู้บริหารโรงเรียน ครู นักเรียน ตลอดจนผู้ปกครอง ทั้งสถานศึกษาในระดับมัธยมศึกษาและประถมศึกษา คือการผจญกับปัญหาอุปสรรคต่างๆ ในการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

หากรัฐบาล ศธ.และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยังไม่สามารถส่งเสริม สนับสนุนกระบวนการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมและทั่วถึง แน่นอนว่าการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 จะยิ่งสร้างผลกระทบต่อพัฒนาการของนักเรียนในระดับชั้นต่างๆ โดยเฉพาะนักเรียนในระดับประถมศึกษา

เหตุผลสำคัญประการที่สองคือ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติของรัฐบาล กำลังจะมีการลงมติวาระแรกรับหลักการในการประชุมร่วมรัฐสภาในเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่จะถึงนี้ และจะมีการพิจารณาที่เหลืออีก 2 วาระรวด ก่อนตราออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ในอีกไม่นานนี้ ซึ่งจะต้องมีการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่อยู่ดี ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 และยังมีบทบัญญัติเรื่องการจัดตั้งสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้ ที่จะมาทำหน้าที่จัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ในช่วงวัยต่างๆ

“ผมจึงขอย้ำในข้อเสนอเดิมที่ว่า ให้ ศธ.และ สพฐ.ควรชะลอการจัดทำและใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะเอาไว้ก่อน เพื่อรอไปร่วมจัดทำหลักสูตรใหม่ตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติดังกล่าว ซึ่ง ศธ.และ สพฐ.จะช่วยรัฐบาลประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้จำนวนมหาศาล” นายก ส.บ.ม.ท.กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)