ศธ.สรุปยึด กม.ปฏิรูป รุกครูสอน Active Learning ใช้หลักสูตรอิงมาตรฐานปัจจุบัน

 

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ซึ่งมี รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เกี่ยวกับแผนขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูปประเทศที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสําคัญ (Big Rock) ภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ และการประชุมออนไลน์ (Video Conference) เมื่อเร็วๆ นี้

โดยมี ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. เป็นประธานการประชุม ร่วมด้วย ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ (คณะทำงานฝ่ายนโยบายด้านการศึกษาของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.), รศ.ดร.วรากรณ์ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา, ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)

ผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา, อนุกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา, ผู้อำนวยการ (ผอ.) กอง 3 สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.)

ผอ.กลุ่มนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.), ผอ.ศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคี สอศ., ผอ.สำนักนโยบายและแผนการอาชีวศึกษา สอศ., ผอ.สำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ สอศ.

ผอ.สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), ผอ.กลุ่ม ป.ย.ป.ศธ. และนักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

โดยสรุปสาระการประชุมได้พิจารณาเรื่องรายละเอียดกิจกรรมปฏิรูปที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) ภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) และความก้าวหน้าการดำเนินงานกิจกรรมปฏิรูปที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสาคัญ หรือ Big Rock ตามรายละเอียดตัวชี้วัดในแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง)

ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ถัดจากวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา

ซึ่งระบุให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นเจ้าภาพหลัก ทั้งการดำเนินการใน Big Rock ที่ 2 เรื่องการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ และ Big Rock ที่ 4 ที่ระบุให้การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีและระบบอี่นๆ เน้นการฝึกปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบ นำไปสู่การจ้างงานและการสร้างงาน

ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com ได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวผู้เข้าร่วมประชุม 2 ท่าน ให้ข้อมูลตรงกันว่า ในที่ประชุมร่วมครั้งนี้ ดร.ชัยพฤกษ์ ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบาย ศธ. ได้นำเสนอประเด็นหารือเรื่องความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติของส่วนราชการกระทรวงศึกษาธิการ ต่อแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ของรัฐบาลดังกล่าว

และได้ข้อสรุปเป็นมติในที่ประชุมร่วมตามข้อสรุปของ ดร.ชัยพฤกษ์ ซึ่งทั้ง ดร.สุภัทร ปลัด ศธ.และ ดร.เกศทิพย์ รองเลขาธิการ กพฐ. ก็เห็นพ้องด้วยว่า การปฏิบัติในนามของกระทรวงศึกษาธิการ จะต้องดำเนินการตามรายละเอียดของแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ของรัฐบาล

ที่ระบุให้ ศธ.ปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนเป็นแบบ Active Learning ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานอิงมาตรฐานที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ไปสู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21

เนื่องจากเห็นว่า แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ของรัฐบาลดังกล่าว ถือเป็นกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐสภารับทราบแล้ว และ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับถัดจากวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา

อีกทั้งแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ยังเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560

ส่วนเรื่องการจัดทำหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน (หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ให้ถือเป็นเรื่องของระดับหน่วยงาน คือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการจะพิจารณาดำเนินการต่อไปอย่างไร หรือไม่  

อนึ่ง ในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับเมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ด้านการศึกษา (อยู่ในหน้า ๒๙๓-๓๒๓)

โดยในส่วนที่ ๑ บทนำ ระบุไว้ว่า “การปฏิรูปการศึกษา มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และปฏิรูประบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับความหลากหลายของการจัดการศึกษาและ ตอบโจทย์การพัฒนาของโลกอนาคต โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนทุกกลุ่มวัยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตาม มาตรฐาน มีทักษะที่จ าเป็นของโลกอนาคต สามารถแก้ปัญหา ปรับตัว สื่อสาร และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ อย่างมีประสิทธิผล มีวินัย มีนิสัยใฝ่เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต และเป็นพลเมืองที่รู้สิทธิและหน้าที่ มีความรับผิดชอบ มีจิตสาธารณะ มีความรักและความภาคภูมิใจในความเป็นไทย

โดยมีขอบเขตครอบคลุม ทั้งการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยไปจนถึงระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑

การปฏิรูปกลไกและระบบการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้มีคุณภาพมาตรฐาน จัดการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาโดยใช้ระบบทวิภาคีหรือระบบอื่น ๆ ที่เน้นการฝึกปฏิบัติ อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อนำไปสู่การจ้างงาน และการสร้างงาน และการปฏิรูปบทบาทการวิจัยและระบบธรรมาภิบาลของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางอย่างยั่งยืน นำไปสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ...”

สำหรับการอธิบายความในส่วนบทนำของแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ด้านการศึกษา ในเรื่อง “การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑” ดังกล่าว

ได้ระบุไว้ในหัวข้อส่วนที่ ๒ กิจกรรมปฏิรูปที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rockในหัวข้อย่อยที่ ๒.๒ กิจกรรมปฏิรูปที่ ๒ การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ (อยู่ในหน้า ๓๐๕-๓๐๘) ดังนี้

การจัดการศึกษาของประเทศ จะต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ ๒๕๖๐ และยุทธศาสตร์ชาติ คำนึงถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากร การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และพลวัตรของโลกยุคใหม่ ที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของประชากรในทุกช่วงวัย ที่จะต้องเผชิญ ความท้าทายกับวิถีชีวิตใหม่

จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการเรียนรู้และรูปแบบการเรียนการสอน โดยมีเป้าหมายที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ มีส่วนร่วมและลงมือปฏิบัติ ผู้เรียนได้รับการพัฒนาไปสู่ศักยภาพสูงสุดของแต่ละบุคคล เป็นผู้มีความรู้ มีทักษะและใฝ่เรียนรู้ (Learning Skills) สามารถเชื่อมโยงนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง มีทักษะชีวิต (Life Skills) ในโลกยุคใหม่ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ (Active Citizen) มีความรับผิดชอบ มีจิตสาธารณะ มีความรัก และความภาคภูมิใจในความเป็นไทย

โดยการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนตามหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard-based Curriculum) ในปัจจุบัน ไปสู่การเรียนรู้ที่พัฒนาสมรรถนะผู้เรียน (Competency-based Learning) เป็นสำคัญ

ทั้งนี้ การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะแบบผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง มุ่งเน้นกระบวนการเรียนรู้แบบถักทอความรู้ ทักษะ คุณลักษณะผู้เรียนเข้าด้วยกันด้วยการลงมือปฏิบัติจริง (Active Learning) มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจและเรียนรู้อย่างมีความสุขและพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ผ่านการทำงานเป็นทีมและความร่วมมือระหว่างผู้เรียนด้วยกัน

การมีครูอาจารย์ที่มีสมรรถนะ ด้านการจัดการเรียนรู้ที่ หลากหลาย เหมาะสมกับผู้เรียนและบริบทของท้องถิ่น ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารการศึกษามีสมรรถนะในการบริหารงานการจัดการเรียนรู้ การนิเทศการเรียนรู้ การสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ปลอดภัย และส่งเสริมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถกำหนดเส้นทางและจังหวะก้าวการเรียนรู้ของตนเอง (Personalized Learning) อย่างมีความหมาย

มีการวัดและประเมินผลเพื่อพัฒนาผู้เรียนในทุกมิติอย่างแท้จริง ตลอดจนมีการใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาที่เหมาะสมกับผู้เรียน และความพร้อมเพื่อให้การจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

โดยจุดเน้นของการจัดการศึกษาและการเรียนรู้แต่ละระดับ มีดังนี้

ระดับก่อนอนุบาล ส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาเด็กของผู้ปกครองและชุมชน เน้นการจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างสุขภาพ บ่มเพาะปลูกฝังวินัยและพัฒนาการที่ดีทั้งกาย ใจ และอารมณ์

ระดับอนุบาล มุ่งส่งเสริมสถานศึกษาจัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาทุกด้าน ทั้งร่างกาย สติปัญญา อารมณ์จิตใจ และสังคม บ่มเพาะปลูกฝังวินัย คุณธรรมและค่านิยมที่ดีด้วยความร่วมมือระหว่าง ผู้ปกครอง ชุมชน และสถานศึกษา พัฒนาการคิดวิเคราะห์เชิงระบบ ลงมือปฏิบัติ (Enactive) ด้วย ประสบการณ์ตามมุมต่าง ๆ เพื่อให้สัมพันธ์กับการเรียนรู้ของสมอง และจัดสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาให้ เห็นแบบอย่างของพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ดีงาม

ระดับประถมศึกษา พัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคคลตามแนวทางพหุปัญญาให้หลากหลายตาม ศักยภาพ พัฒนาการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงผ่านการบูรณาการกิจกรรมการเรียนรู้ที่ใช้ปัญหาหรือ โครงงานเป็นฐาน (Problem-based Learning & Project-based Learning) รวมถึงพัฒนาทักษะสำคัญในการเรียนรู้ อันได้แก่ ทักษะทางภาษา ทักษะการคิด ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทักษะ การคิดสร้างสรรค์มีการวัดและการประเมินผลผู้เรียนที่มุ่งเน้นการเรียนรู้ที่เป็นชิ้นงาน ผลผลิตเชิงประจักษ์ เสริมสร้างสมรรถนะ และทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ ๒๑ ให้ผู้เรียนพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง สร้างงาน สร้างนวัตกรรม ที่สามารถพัฒนาไปเป็นผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นได้

ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มุ่งต่อยอดการเรียนรู้ผ่านกระบวนการคิดเชิงระบบ ผู้เรียนสร้างความรู้ ระดับความคิดรวบยอด และระดับหลักการใช้ความรู้ผลิตผลงานอย่างสร้างสรรค์ เน้นทักษะพื้นฐาน ทางการเรียนรู้และการดำรงชีวิต คือ ทักษะความเป็นมนุษย์ ได้แก่ ทักษะการตัดสินใจ ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการสังเคราะห์ ทักษะการสร้างสรรค์ ทักษะการทำงานเป็นทีม ทักษะการสื่อสาร บนพื้นฐานของคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมที่ดีและส่งเสริมทักษะเฉพาะทางด้านความรู้คำนึงถึงความแตกต่างของแต่ละบุคคลตามความถนัด ความสนใจ ทั้งด้านวิชาการและพื้นฐานวิชาชีพ มีศักยภาพในการสร้างผลผลิตจากการ เรียนรู้และต่อยอดนวัตกรรม คิดสร้างสรรค์ได้มีนิสัยปรับปรุงพัฒนางานอยู่เสมอ สร้างและผลิตผลงานใหม่ๆ เพื่อ ประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเอง ครอบครัว และเชื่อมโยงทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ ชุมชน ท้องถิ่น ภูมิภาค และประเทศ

ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มุ่งต่อยอดการเรียนรู้ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูง ผ่านการเรียนรู้แบบ ใช้ปัญหาหรือโครงงานเป็นฐาน ผู้เรียนสามารถใช้ความรู้ผลิตผลงานอย่างสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมน้าไปใช้ ประโยชน์ในชีวิตจริง เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเอง ครอบครัว และสังคม ต่อยอดพื้นฐาน ทางการเรียนรู้และการดำรงชีวิต คือ ทักษะความเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่าระดับสูง เน้นทักษะความเป็นผู้น้า รวมทั้งส่งเสริมทักษะเฉพาะทางด้านวิชาการและวิชาชีพและฝึกประสบการณ์อย่างเข้มข้นในด้านความรู้ และส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างความรู้จากปฏิบัติการเชิงวิจัยทั้งในสถานศึกษาและชุมชน เพื่อพัฒนาให้เป็นนวัตกรรม ทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์และโครงการ ความร่วมมือปฏิบัติการวิจัยในระดับชุมชนเชื่อมโยงกับพหุวัฒนธรรม และบริบทของชุมชนท้องถิ่น ภูมิภาค และประเทศ

ระดับอาชีวศึกษา เน้นการลงมือปฏิบัติจริงให้สอดคล้องกับการใช้เทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรมนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง ปรับปรุงพัฒนาอยู่เสมอ พลิกผันให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงต่อ สถานการณ์ตามบริบทของภูมิภาคและโลก ส่งเสริมทักษะเฉพาะทางด้านวิชาการและวิชาชีพ และฝึกประสบการณ์อย่างเข้มข้นในด้านความรู้ตามความถนัดความสนใจรายบุคคล และต่อยอดทักษะความเป็น มนุษย์ผ่านการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาหรือโครงงานเป็นฐาน ทั้งในสถานศึกษาและสถานประกอบการ ที่มุ่งสร้าง ความคิดรวบยอดด้านการคิด ด้านคุณธรรมจริยธรรม และค่านิยมขั้นสูง และปลูกฝังจรรยาบรรณทางวิชาชีพ และมีความเป็นผู้นำ

การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย มุ่งให้ประชาชนได้รับโอกาสการเรียนรู้สามารถนำหลักการมาใช้พลิกผันแก้ปัญหาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ประยุกต์ใช้ในการพัฒนาตนเอง พัฒนางาน พัฒนา อาชีพ ชุมชน สังคม และประเทศชาติได้เหมาะสมสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกและเทคโนโลยี ให้ประชาชนทุกช่วงวัยเรียนรู้ได้ต่อเนื่องตลอดชีวิต พัฒนาสู่การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้

ทั้งนี้ ในแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ด้านการศึกษา ยังระบุชัดเจนถึงเป้าหมายและตัวชี้วัดของกิจกรรมปฏิรูปที่ ๒ การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ ดังนี้

เป้าหมาย (๑) ผู้เรียนทุกระดับเป็นผู้มีความรู้ ทักษะและใฝ่เรียนรู้ มีทักษะในการดำรงชีวิตในโลกยุคใหม่ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลก เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ มีความรับผิดชอบ และมีจิตสาธารณะ

(๒) ครู/อาจารย์มีสมรรถนะด้านการจัดการเรียนรู้ ประกอบด้วย การออกแบบการ เรียนรู้ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ มีจิตวิทยาการเรียนรู้ สื่อและการใช้สื่อ เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาและการ เรียนรู้ การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริง มีความศรัทธาในวิชาชีพและความเป็นครู

(๓) ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารการศึกษามีสมรรถนะในการบริหารงาน วิชาการ และการนิเทศการจัดการเรียนรู้ ประกอบด้วย ด้านหลักสูตรการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ สื่อและ เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริง การนิเทศการจัดการเรียนรู้ มีภาวะ ผู้น้าทางวิชาการ มีจิตวิทยาในการส่งเสริมและสร้างขวัญกำลังใจในการจัดการเรียนรู้ และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ในการร่วมมือกับบุคคล หน่วยงานและชุมชนในการส่งเสริมและสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ปลอดภัยสำหรับ ผู้เรียน

ตัวชี้วัด (๑) มีหลักสูตรการศึกษาที่ยืดหยุ่น ตอบสนองต่อความถนัดและความสนใจของ ผู้เรียนรายบุคคล

(๒) ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการพัฒนาศักยภาพในการจัดการเรียนรู้ แบบ Active Learning ผ่านการพัฒนาการคิดขั้นสูงเชิงระบบ

(๓) ครูผู้สอนจัดการเรียนรู้ที่มุ่งพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนแบบถักทอความรู้ ทักษะ และเจตคติค่านิยม และคุณลักษณะผู้เรียนเข้าด้วยกันแบบ Active Learning ในทุกระดับการศึกษา

(๔) ระบบการประเมินผลลัพธ์ผู้เรียนมีความหลากหลาย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เป็นรายบุคคล (personalized learning) และสามารถสะท้อนสมรรถนะของผู้เรียนได้ตามบริบทของสถานศึกษา ลดสัดส่วนของการนำผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนในระดับชาติมาใช้ในการพิจารณาประเมินผลของครูและผู้บริหาร สถาบันการศึกษา

(๕) มีแพลตฟอร์มการเรียนรู้อัจฉริยะ ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการจัดการ เรียนรู้ สื่อการสอนคุณภาพสูง และการประเมินและพัฒนาผู้เรียน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เป็นรายบุคคล (personalized learning) สำหรับผู้เรียนทุกช่วงวัย

ที่สำคัญในแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ด้านการศึกษา ยังมีการระบุในหน้า ๓๐๗ ในหัวข้อที่ ๒.๒.๒ เรื่องหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลัก คือ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) , กำหนดในหัวข้อ ๒.๒.๓ เรื่องระยะเวลาดำเนินการ รวม ๑ ปี ๙ เดือน (มกราคม ๒๕๖๔ – กันยายน ๒๕๖๕) , ๒.๒.๔ ประมาณการวงเงินรวม และแหล่งที่มาของเงิน คืองบประมาณของหน่วยงาน

ตลอดจนในแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ด้านการศึกษา ยังระบุชัดในหน้า ๓๐๗-๓๐๘ หัวข้อ ๒.๒.๕ ขั้นตอนและวิธีการการดำเนินการปฏิรูป ให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ) เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักในการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ ดังนี้

ขั้นตอนที่ ๑ ปรับแนวทางการจัดการเรียนรู้ทุกระดับ ที่เน้นการเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบที่นำไปสู่สมรรถนะหลักที่จำเป็นในแต่ละระดับตามแนวทางการจัดการเรียนรู้เชิงรุก และการวัดผลประเมินผลเพื่อพัฒนาผู้เรียน ปฏิรูปการเรียนรู้ระดับห้องเรียนด้วยการปรับวิธีสอนจาก Passive Learning ที่เน้นป้อนข้อมูลโดยการท่องจำเนื้อหา มาเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อให้ผู้เรียนสร้างความรู้ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ ด้วยการให้ผู้เรียนรวบรวมข้อมูลเป็น วิเคราะห์สังเคราะห์ออกแบบ ตัดสินใจบนพื้นฐานคุณธรรมและค่านิยมเพื่อสังคม ประเทศชาติและนำความรู้ไปสู่การลงมือปฏิบัติอย่างมีแบบแผน ตรวจสอบเพื่อแก้ปัญหา พัฒนาจนเกิดผลผลิตที่ดีกว่า มีคุณค่าต่อสังคม มากกว่าเดิม และกำกับการเรียนรู้ของตนเองในการตรวจสอบกลไกเชิงระบบของงานที่ท้าเพื่อเพิ่มคุณค่า คุณธรรม ค่านิยม และขยายประโยชน์สู่สังคมที่กว้างขึ้น

ด้วยการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนทุกระดับชั้น ตั้งแต่ระดับอนุบาล ระดับประถมศึกษา จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ระดับอาชีวศึกษา การศึกษาตามอัธยาศัย และระดับอุดมศึกษาตลอดแนว โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

โดยมีระยะเวลาดำเนินการ ๑ ปี (มกราคม ๒๕๖๔ – ธันวาคม ๒๕๖๕)

ขั้นตอนที่ ๒ พัฒนาครูให้มีศักยภาพในการออกแบบการเรียนรู้ สามารถจัดและอำนวยกระบวนการเรียนรู้ การใช้สื่อและเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ และวัดผลประเมินผลเพื่อพัฒนาผู้เรียน และพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและศึกษานิเทศก์ ให้มีความรู้ความเข้าใจ สามารถกำกับดูแล ช่วยเหลือแนะนำ การโค้ชครูรวมถึงการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ปลอดภัยสำหรับผู้เรียน

มีระยะเวลาดำเนินการ ๑ ปี (มกราคม ๒๕๖๔ – ธันวาคม ๒๕๖๔)

ขั้นตอนที่ ๓ ปรับปรุงระบบการวัดผลและประเมินผล ให้มุ่งเน้นที่การประเมินผลผู้เรียนตามสภาพจริง โดยพัฒนาวิธีการที่หลากหลายในการประเมินผู้เรียนที่เหมาะสมกับบริบทและศักยภาพของผู้เรียน

ระยะเวลาดำเนินการ ๑ ปี ๙ เดือน (มกราคม ๒๕๖๔ – กันยายน ๒๕๖๕)

ขั้นตอนที่ ๔ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและการเรียนรู้กับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน ในการเสริมสร้างการเรียนรู้และยกระดับคุณภาพผู้เรียน ทั้งด้านทรัพยากรและองค์ความรู้ด้านวิชาการ ทักษะ และการบ่มเพาะคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมที่ดี

ระยะเวลาดำเนินการ ๑ ปี ๙ เดือน (มกราคม ๒๕๖๔ – กันยายน ๒๕๖๕)

ขั้นตอนที่ ๕ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ประชุมหน่วยงานผู้รับผิดชอบ ติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการ และร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ประเมินผลการดำเนินงานและขยายผลต่อไป

มีระยะเวลาดำเนินการ ทุก ๓ เดือน

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)