ทางรอด? ผู้บริหาร ร.ร.ที่โคราช กรณีถูกลงโทษไล่ออกคดีสนามฟุตซอล

จากกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เริ่มทยอยสรุปผลการไต่สวนและชี้มูลความผิดคดีโครงการก่อสร้างปรับปรุงสนามกีฬาพร้อมอุปกรณ์ (สนามฟุตซอล) ของโรงเรียนในพื้นที่ จ.นครราชสีมา เป็นล็อตแรก ให้ต้องโทษวินัยร้ายแรงในข้อหาร่วมกันทุจริต และแจ้งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำเนินการ

ซึ่งต่อมา ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ลงนามในคำสั่งไล่ออกจากราชการ ผู้เกี่ยวข้องทั้งครูและผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่ จ.นครราชสีมา รวม 65 คน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564  นั้น

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ ประธานชมรมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้เขียนบทความเชิงข้อเสนอแนะสะท้อนผ่าน สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com ในชื่อหัวข้อเรื่อง "ถ้าผมเป็นผู้บริหารโรงเรียนที่จังหวัดนครราชสีมา ที่ถูกลงโทษไล่ออกเรื่องฟุตซอล ผมจะทำอย่างนี้​​..."

๑.อุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อคณะกรรมการข้าราการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ในประเด็น​​​​​​​​ 

      - ข้อเท็จจริงที่เคยต่อสู้ไว้ให้ครบทุกประเด็น​​​​​​​     

      - กรณีผู้ถูกสั่งลงโทษ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ให้อุทธรณ์ข้อกฎหมายว่ากระบวนการสั่งลงโทษมิชอบเพราะไม่ได้ดำเนินการตามมาตรา ๑๐๐ วรรค ๔ อนุ (๒) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม กล่าวคือไม่ได้เสนอเรื่องให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) พิจารณา และเลขาธิการ กพฐ.ไม่มีอำนาจสั่งลงโทษ เพราะมิได้เป็นผู้มีอำนาจตามมาตรา ๕๓ แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยขอให้ผู้มีอำนาจยกเลิกเพิกถอนคำสั่งลงโทษดังกล่าว​​​​​​​​​​ ​

      - อุทธรณ์ระดับโทษ โดยขอให้ลดโทษเป็นปลดออก ให้เหตุผลว่าถ้าเป็นความผิดก็เป็นความผิดครั้งแรก อ้างคุณงามความดีต่างๆ การได้รับเครื่องราชฯ ทั้งนี้ ให้อ้างว่าเป็นสิทธิที่ผู้มีอำนาจสามารถลงโทษปลดออกได้ตามมาตรา ๙๘ แห่งแห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม 

อนึ่ง เรื่องนี้แม้ว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เคยมีมติว่า ถ้าทุจริตให้ไล่ออกสถานเดียว ก็ต้องถือว่ามติ ครม.นี้มิได้เป็นกฎหมาย หรือหากตีความได้ว่ามติ ครม.เป็นกฎหมาย ก็เป็นกฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่า พ.ร.บ. จะขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ.ไม่ได้ มติ ครม.ดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับใช้​​​​​​ 

     - ถ้าได้ยื่นอุทธรณ์ไปแล้วและไม่ได้มีเนื้อหาตามข้างต้น ก็ให้ยื่นอุทธรณ์เพิ่มเติม

     ​​​​- หาก ก.ค.ศ.รับเรื่องอุทธรณ์ไปแล้ว ยังไม่แจ้งตอบภายใน ๙๐ วัน ให้ยื่นฟ้องศาลปกครอง ให้ศาลยกเลิกเพิกถอนมติ ป.ป.ช.และยกเลิกคำสั่งลงโทษ การฟ้องศาลปกครองต้องฟ้องหน่วยงานเท่านั้น​

๒.เรื่องคดีสนามฟุตซอลนี้ จะไปสู่ศาลทุจริตด้วย ดังนั้น หากมีการมอบเรื่องให้ทนายความดำเนินการ ควรมอบเรื่องให้ทนายความที่มีประสบการณ์ มีความรู้หรือผ่านการศึกษาอบรมมาทางด้านการดำเนินคดีในศาลปกครองและการดำเนินคดีในศาลทุจริต

เพราะกระบวนการเนินการในศาลปกครองและศาลทุจริตนั้น แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับกระบวนการในศาลจังหวัด ศาลแพ่งหรือศาลอาญาทั่วไป หากทนายความที่ไม่เคยมีความรู้ ไม่เคยผ่านการศึกษาอบรม ไม่เคยมีประสบการณ์ แต่รับคดีไว้ ก็อาจทำให้เกิดความเสียหายได้​

สอบถามเพิ่มเติมหรือต้องการความช่วยเหลือใดๆ โปรดติดต่อชมรมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา ​​​​​​​​​​โทร.๐๘๓-๒๖๕-๒๖๙๓

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)