ทำไม...ส.ส.-ส.ว. ต้องได้บำเหน็จบำนาญ?


รายงานพิเศษ : อมรรัตน์ ล้อถิรธร

 

ทำไม...ส.ส.-ส.ว.

ต้องได้บำเหน็จบำนาญ?

 

สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com ขออนุญาตย้อนหลังไปนำเสนอ รายงานพิเศษ : ทำไม...ส.ส.-ส.ว. ต้องได้บำเหน็จบำนาญ? ใน MGR Online ที่ คุณ อมรรัตน์ ล้อถิรธร เขียนไว้เมื่อ 2 ส.ค.2548 หรือเมื่อ 17 ปี ที่ผ่านมา ว่าด้วยเรื่องของสิทธิที่ข้าราชการการเมือง เราจะเห็นพฤติกรรมของนักการเมืองไทยในเชิงด้อยพัฒนาแทบทุกด้านชัดเจนไม่ว่าการนำเสนอหรือคิดสร้างสรรค์ในเชิงทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองและประชาชนอย่างแท้จริง  

คุณอมรรัตน์ ล้อถิรธร เจาะลึกลงโดยเฉพาะ ส.ส.-ส.ว.คิดว่าตนเองควรจะได้รับ ปรากฏเป็นข่าวเป็นระยะ ๆ ในช่วงนั้น เริ่มตั้งแต่ขอขึ้นเงินเดือน มาจนถึงเรื่อง ส.ส.-ส.ว.ต้องได้รับบำเหน็จบำนาญเช่นข้าราชการประจำ ล่าสุด มีการขอขึ้นอัตราบำเหน็จบำนาญขึ้นอีกเท่าตัว รวมทั้งขอให้อดีต ส.ส.-ส.ว.ที่พ้นตำแหน่งก่อนเดือน ต.ค.40 ได้สิทธินี้ด้วย รวมไปถึงขอเลื่อนชั้นบินฟรี ก่อนที่เรื่องเหล่านี้จะได้ข้อยุติ เรามาติดตามที่มาที่ไป และความเห็นของผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ไม่เกี่ยวข้อง แต่รู้สึกว่าตนเองได้รับผลกระทบว่าจะเป็นอย่างไร?

เคยเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันไปรอบหนึ่งแล้ว ช่วงปลายปี ’47 เมื่อ ครม.ทักษิณ 1 ไฟเขียวให้ขึ้นค่าตอบแทนแก่ข้าราชการการเมือง โดยเฉพาะ ส.ส.-ส.ว.ที่เงินเดือนขึ้นจาก 77,000 บาท เป็น 104,330 บาท

ครม.คราวนั้นไม่เพียงอนุมัติให้เพิ่มเงินเดือน ส.ส.-ส.ว.เท่านั้น แต่ยังเห็นชอบให้ข้าราชการการเมืองเหล่านี้ ได้รับบำเหน็จบำนาญเมื่อพ้นจากตำแหน่ง เฉกเช่นข้าราชการพลเรือนทั่วไปด้วย เช่น เป็น ส.ส.-ส.ว.มา 2-3 ปี ก็ได้บำเหน็จบำนาญ 20% ของเงินเดือน หากเป็น 20 ปีขึ้นไปก็ได้มากกว่า คือ 70% ของเงินเดือน

เมื่อข่าวผ่านไปจนประชาชนเริ่มจะลืม ก็มีข่าวขึ้นอีกครั้ง เมื่อ ส.ส.เดินเรื่องจะให้มีการเพิ่มอัตราบำเหน็จบำนาญที่เคยกำหนดไว้เดิมขึ้นมาอีกเท่าตัว เช่น เป็น ส.ส.-ส.ว.มา 2-3 ปี ก็ให้ได้บำเหน็จบำนาญ 40% ไม่ใช่ 20%

หากเป็นมา 20 ปีขึ้นไป ก็ให้ได้ 140% ไม่ใช่ 70% แบบที่กำหนดไว้เดิม นอกจากนี้ยังจะขอให้ผู้ที่เป็นอดีต ส.ส.-ส.ว.ก่อนวันที่ 11 ต.ค.2540 ได้รับบำเหน็จบำนาญด้วย จากเดิมที่ให้เฉพาะอดีต ส.ส.-ส.ว.หลังวันที่ 11 ต.ค.40 เท่านั้น อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 เริ่มประกาศใช้

นอกจากเรื่องบำเหน็จบำนาญ ก็ยังมีเรื่องที่ ส.ส.ขอเลื่อนชั้นบินฟรี คือ เวลาเดินทางโดยเครื่องบิน ขอเลื่อนตั๋วที่นั่งจากชั้นประหยัด เป็นชั้นธุรกิจ เพื่อให้สมเกียรติสมศักดิ์ศรี จึงเป็นข่าวฮือฮาขึ้นมาอีกครั้ง พร้อมกับเสียงติติงจากหลายฝ่ายว่า ส.ส.-ส.ว.เวลานั่งเครื่องบินก็ฟรีอยู่แล้ว เพราะสภาจ่ายให้ ยังจะขอนั่งชั้นพิเศษอีก นั่งชั้นประหยัดก็น่าจะดีอยู่แล้วจะได้ใกล้ชิดประชาชนมากยิ่งขึ้น เหล่านี้เป็นต้น

ขณะนั้น ทั้ง 3 เรื่อง (เพิ่มอัตราบำเหน็จบำนาญ-ให้อดีต ส.ส.-ส.ว.ก่อนเดือน ต.ค.40 ได้รับบำเหน็จบำนาญด้วย-เลื่อนชั้นบินฟรี) ยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะได้รับการตอบรับจากประธานรัฐสภาและรัฐบาลหรือไม่ ช่วงเวลาแห่งการลุ้นผลนี้ ลองมาฟังสุ้มเสียงของผู้เกี่ยวข้องหน่อยเป็นไร เผื่อจะช่วยจุดประกายให้ตัดสินใจได้ว่า ควรจะออกหัว-ออกก้อยอย่างไร



เริ่มจากเรื่องเล็กกว่า คือ การเลื่อนชั้นบินฟรี  ส.ว.ตาก เป็น 1 ในผู้ที่รู้สึกว่า ส.ส.-ส.ว.ควรนั่งเครื่องบินชั้นธุรกิจอยู่แล้ว เพราะข้าราชการซี- 9 ซี-10 ยังนั่งชั้นธุรกิจ ถ้า ส.ส.-ส.ว.ไม่มีสิทธินั่งชั้นธุรกิจ ข้าราชการก็ไม่ควรมีสิทธิเช่นกัน

เป็นที่ยอมรับกันหรือเปล่าล่ะว่า ส.ส./ส.ว.ถ้านั่งเครื่องบินแล้วมันควรจะได้นั่งชั้นธุรกิจ มันก็ต้องเทียบกับข้าราชการอื่น ข้าราชการอื่นไปราชการ ขึ้นเครื่องบินเขาก็มีเกรดมีชั้นของเขาเหมือนกัน ซี-9 ขึ้นไป ก็นั่งชั้นธุรกิจเหมือนกัน ผมว่าการพิจารณามันต้องอยู่ตรงนั้น ว่าตามสิทธิเราควรจะได้นั่งชั้นอะไร”

ด้าน นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคไทยรักไทย และรองประธานกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสวัสดิการสมาชิกรัฐสภาและบุคลากรรัฐสภา ขณะนั้นบอกว่า

"ที่ผ่านมา การบินไทยก็ดูแล ส.ส.-ส.ว.อย่างดีอยู่แล้ว โดยจัดให้นั่งชั้นธุรกิจ ถ้ามีที่ว่าง แม้สภาจะจ่ายเงินให้ในชั้นประหยัดก็ตาม ดังนั้น น่าจะกำหนดให้เป็นระเบียบไปเลยหรือไม่ว่า นั่งชั้นไหนก็ควรจ่ายในราคาชั้นนั้น ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหา เพราะสภาคงใช้งบเพิ่มแค่ 10%"

อย่างไรก็ตาม นายไพจิตยอมรับว่า ในทางปฏิบัติไม่มีระบบตรวจสอบว่า ส.ส.หรือ ส.ว.คนใดบินฟรีโดยไม่ใช่งานในหน้าที่หรือไม่ เพราะเวลาจองตั๋วไม่ต้องแจ้งว่าจะเดินทางด้วยภารกิจใด เพียงแต่แจ้งจุดหมายปลายทางที่ต้องการไปเท่านั้น ดังนั้น การจะตรวจสอบคงอยู่ที่พรรคต้นสังกัด รวมทั้งจริยธรรมและจรรยาบรรณของ ส.ส.-ส.ว. แต่สุดท้ายก็ต้องควบคุมโดยประชาชน

ผมก็ไม่ได้ปฏิเสธนะว่า บางทีก็ไม่ได้เป็นงานการเมือง 100% แต่โดยส่วนใหญ่เท่าที่ผมสัมพันธ์อยู่กับ ส.ส.ทุกคนก็ระมัดระวังกัน แต่เดินทางไปเขาก็จะอยู่ในสายหรือเส้นทางที่เป็นภารกิจของเขา จังหวัดต่อจังหวัด หรือกรรมาธิการที่จะไปในคณะในงานของเขา ส่วนจะบินไปเที่ยว บินไปบางคนก็บอกไปเรียนปริญญาโท ปริญญาเอก ผมก็ว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นแล้ว ถ้าเป็นยุคปัจจุบัน บางคนแทบไม่มีไมล์ในการเดินทางเลย เพราะเขาอยู่ในชานเมือง ในภูมิประเทศที่ไม่มีสนามบินอยู่ 200-300 กม.ก็ไม่ได้เดินทาง”

ส่วนเรื่องขอขึ้นเงินบำเหน็จบำนาญ ส.ส.-ส.ว.อีกเท่าตัว และขอให้อดีต ส.ส.-ส.ว.ที่พ้นตำแหน่งก่อนเดือน ต.ค.40 ได้รับด้วย มีที่มาที่ไปเหตุผลความจำเป็นใดนั้น นายไพจิต ยืนยันว่าไม่ได้ขอเพิ่ม แต่เป็นอัตราเดิมที่เคยเสนอรัฐบาลไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่รัฐบาลให้ไม่ถึง การเสนอครั้งนี้จึงเป็นการยืนยันในอัตราเดิมที่เคยเสนอ เมื่ออดีต ส.ส.ร้องว่า ควรให้ ส.ส.ก่อนปี 40 ได้รับบำเหน็จบำนาญด้วย จึงน่าจะพิจารณาแก้ไขไปในคราวเดียวกัน

คณะ (กมธ.กิจการสภาผู้แทนราษฎร) ก็ยังได้รับหนังสือร้องทุกข์ หนังสือต่อว่าอะไรสารพัดสารเพ รับโทรศัพท์รับอะไรจากอดีต ส.ส. หลังจากที่รัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) บำนาญให้ตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค.40 เป็นต้นมา และทำให้คนที่เป็นก่อนหน้านี้ไม่มีสิทธิได้รับบำนาญ ท่านประธานสภาโภคินก็ได้กรุณาให้คณะกิจการสภาได้ดูจะช่วยเหลือสมาชิกเราได้อย่างไร ผมก็ได้นำคณะอนุกรรมาธิการเรื่องสวัสดิการได้ศึกษาข้อมูลตัวเลขประกอบ

ที่สุดก็มีความเห็นว่า ควรที่จะต้องแก้กฤษฎีกาใหม่ให้ครอบคลุมไปถึงอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่าน ให้ครอบคลุมจำนวนคนก่อน ซึ่งขณะนี้จะมีตัวเลขอยู่ก็ประมาณ 1,300 คนเศษ ซึ่งในจำนวนอดีตสมาชิกทั้งหมด 1,300 คน ส่วนหนึ่งก็จะอยู่ในกลุ่มนี้ ซึ่งก็จะคัดสรรออกมา ที่เหลือก็จะเหลือประมาณสักครึ่งหนึ่ง 600-700 คน ที่ยังไม่ได้รับอยู่ในกฤษฎีกาที่รัฐบาลออก จำนวนนี้น่าจะต้องย้อนไป ซึ่งจะต้องแก้ไขกฤษฎีกา ส่วนจำนวนเงินที่ให้กับท่านอดีตสมาชิก วันนี้ต่ำสุดก็ประมาณ 7,700 บาท คนที่เป็น 2-3 ปี ก็น่าจะปรับให้สูงขึ้นอีกนิดหน่อย คนที่ได้ต่ำสุดน่าจะเริ่มต้นด้วย 10,000, 15,000 บาทอะไรอย่างนี้ ซึ่งจะมีตัวเลขที่คำนวณไว้ ตาม Rate เพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยที่รัฐบาลกำหนด เพิ่มไม่ถึง 100% เพิ่มประมาณสักครึ่งหนึ่ง

คือ บอกว่าให้ 7,000 ก็น่าจะเป็นสัก 10,000 หรือ 12,000 ถ้าคนอยู่ระหว่าง 3-6 ปี ท่านละ 15,000 ก็น่าจะเป็นสัก 20,000 หรือ 25,000 ถ้าเป็น 6-12 ปี 20,000 ก็น่าจะเป็นสัก 30,000 ซึ่งตัวเลขพวกนี้ผมก็ได้สรุปเสนอคณะกรรมาธิการกิจการสภา และท่านประธานโสภณ(เพชรสว่าง) ก็ทำบันทึกถึงท่านประธานสภาแล้ว เพื่อให้ท่านประธานสภาได้ดำเนินการให้ฝ่ายกฎหมายของสภาดูให้เกิดความรอบคอบอีกที และก็ส่งให้กับรัฐบาล ประสานงานกับรัฐบาล เพราะเรื่องเหล่านี้อยู่ที่รัฐบาลจะกรุณาให้กับอดีตเพื่อนสมาชิกได้สักเท่าไหร่”



ด้าน ประธานรัฐสภา โภคิน พลกุล บอก (เมื่อ 25 ก.ค.2548) ว่า คงต้องแยกพิจารณาเรื่องอดีต ส.ส.-ส.ว.ก่อนเดือน ต.ค.40 ควรจะได้รับบำเหน็จบำนาญหรือไม่ ออกมาต่างหาก เพราะอาจขัดรัฐธรรมนูญได้ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดแค่สมาชิกที่ดำรงตำแหน่งในรัฐธรรมนูญปี ’40 เท่านั้น ส่วนเรื่องขึ้นบำเหน็จบำนาญ นายโภคิน บอกว่า ส.ส.ก็ไม่ได้มีเงินเดือนมากมายนัก และทุกคนก็ทำงานด้วยความทุ่มเท เสียสละ ก็ควรได้รับการดูแลเรื่องบำเหน็จบำนาญให้เหมาะสม และให้เหมาะกับประเทศด้วย

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว.กทม. ไม่เห็นด้วยที่จะขึ้นบำเหน็จบำนาญ บอกอัตราเดิมก็เพียงพอแล้ว เพราะถ้าจะเทียบ ส.ส.-ส.ว.ว่า เท่ากับข้าราชการระดับ 11 คงไม่เหมาะสม เนื่องจากข้าราชการต้องสะสมอายุราชการ ต้องทำงานนานกว่าจะเป็นปลัดกระทรวง แต่ ส.ส.-ส.ว.เป็นตามวาระ แล้วจะให้กระโดดมาเป็นระดับ 11 เลย คงไม่เหมาะสม

ขณะที่ นายสุรชาติ ชำนาญศิลป์ ส.ส.อุดรธานี พรรคไทยรักไทย บอกการให้บำเหน็จบำนาญ ส.ส.-ส.ว.เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะมาโจมตี เพราะเงินเดือน ส.ส.ก็ไม่ได้มาก แถมแต่ละเดือนยังถูกหักภาษีเยอะ ค่ารักษาพยาบาลภรรยาและลูกก็ไม่มีเหมือนข้าราชการ

เสียภาษีหนักเลย ของพี่เดือนๆ หนึ่งเสีย 27,000 บาท เงินรับรอง ค่าโรงแรม ค่าที่พัก ค่ารักษาพยาบาลลูกเมีย ค่าเรียนลูก เบิกอะไรไม่ได้หมด ส.ส.เบิกอะไรไม่ได้เลย เข้าโรงพยาบาล 4-5 พัน 1-2 หมื่น ก็โดนหมด บางคนผ่าตัดที 5-6 แสน เบิกได้ที่ไหน เบิกไม่ได้เลย ข้าราชการเขายังเบิกกันเต็ม ๆ หมด ค่าเล่าเรียนบุตร ค่ารักษาพยาบาลได้ฟรีหมด แล้วทำไมไม่โจมตีข้าราชการบ้าง ...พี่เป็นผู้แทนมาตั้งแต่เดือนละ 8,000 ไล่มา 18,000 มา 30,000 กว่า ไล่มาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ น่าเห็นใจนักการเมือง”

แต่ในความรู้สึกของนักวิชาการชื่อดังด้านรัฐศาสตร์ อย่าง ศ.กิตติคุณ ดร.เขียน ธีระวิทย์ ไม่เห็นด้วยด้วยประการทั้งปวงที่จะให้ ส.ส.-ส.ว.ได้รับบำเหน็จบำนาญเหมือนข้าราชการ เพราะเจตนารมณ์ของการให้บำเหน็จบำนาญข้าราชการนั้น เป็นคนละเรื่องกับข้าราชการการเมือง

 ต้องเข้าใจว่า ข้าราชการการเมืองมันมีต้นกำเนิดมาจากตะวันตกในสมัยกรีก เขามีตั้งแต่สมัยอริสโตเติล เขาให้เกียรตินักการเมืองที่เป็นอาสาสมัคร ทำงานให้ฟรี ๆ แล้วตอนนั้นมีเกียรติมาก ตอนหลังประเทศอื่นก็ให้เงินค่าตอบแทน ก็โอเคค่าตอบแทน แต่มาถึงบำเหน็จบำนาญผมคิดว่ามันไปอีกระดับหนึ่งแล้ว นั่นอันหนึ่ง 

แต่เดิมข้าราชการการเมืองมันเป็นอาสาสมัคร ทำงานด้วยใจสมัคร มีอาชีพอยู่แล้ว ไปเปรียบเทียบกับพวกข้าราชการประจำไม่ได้ ข้าราชการประจำเขาเริ่มต้นโดยให้เงินเดือนต่ำมากนะ คนที่เป็นข้าราชการประจำ คนที่มีไฟแรงนะ มีความสามารถมากไม่ค่อยจะอยู่กันหรอก เพราะฉะนั้นข้าราชการประจำ เขาจึงเอาบำเหน็จบำนาญไปเป็นเครื่องล่อใจว่า เอาละ..จน..จนไป แต่พอเกษียณอายุแล้ว เขายังอยู่ได้ พวกนี้เริ่มต้นโดยเงินเดือนของเขา ถ้าคุณวุฒิเท่ากับ ส.ส.-ส.ว.เงินเดือนเขาไม่ถึงเศษ 1 ส่วน 10 ของ ส.ส.-ส.ว. ที่เป็นอยู่ปัจจุบันนี้ พวกที่มีคุณวุฒิเท่าๆ กันเนี่ย คุณธรรมนี่คำนวณยากนะ วัดกันยาก มันเริ่มโดยอัตราเงินเดือนที่ต่ำมาก 

ฉะนั้น โดยเหตุผลที่เขามีอยู่ ก็เพื่อให้เป็นหลักประกันว่า เมื่อทำงานไปสักพักหนึ่งแล้ว มีหน่วยมีก้านมีชื่อเสียง และอะไรดี คนอื่นมาซื้อไปไม่ได้ ไม่งั้นพวกดีดี คนอื่นมาซื้อตัวไปหมด มันก็จะเหลือข้าราชการที่ไม่มีความรู้ความสามารถ ถ้าเช่นนั้นก็ทำให้ระบบราชการที่เป็นอยู่มันก็อ่อนแอ และรักษาผลประโยชน์ให้กับประเทศชาติไม่ได้”

ไม่เพียงแต่เจตนารมณ์ของการให้บำเหน็จบำนาญข้าราชการการเมืองจะไปด้วยกันไม่ได้กับข้าราชการพลเรือน แม้แต่เงินเดือนของข้าราชการการเมืองยังทิ้งห่างข้าราชการพลเรือนชนิดไม่เห็นฝุ่น ยิ่งมองไปถึงสิทธิแห่งการได้รับบำเหน็จบำนาญของข้าราชการการเมืองกับข้าราชการพลเรือนแล้ว ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะเป็น ส.ส.-ส.ว.แค่ 2 ปี ก็ได้บำเหน็จบำนาญแล้ว แต่ข้าราชการต้องทำงาน 15 ปีขึ้นถึงจะมีสิทธิได้รับบำเหน็จ และต้องทำงาน 25 ปีขึ้นไป ถึงจะมีสิทธิเลือก ว่าจะรับบำเหน็จหรือบำนาญ นี่ยังไม่รวมถึงว่า อัตราและยอดเงินบำเหน็จบำนาญที่แต่ละฝ่ายได้รับ จะต่างกันขนาดไหน



ระดับปลัดกระทรวง ซี-11 ระดับอธิบดี ซี-10 เราก็รู้กันว่า มันมีกี่คน ผมลองคำนวณประมาณ 40,000 คนจะมีระดับนั้นสัก 1 คน ระดับนั้นจะมีเงินเดือน 50,000-60,000 บาท นั่นก็เท่ากับครึ่งหนึ่งของข้าราชการการเมืองปัจจุบัน นั่นประเภท Top แล้วนะ สูงสุดของข้าราชการประจำ และเมื่อเร็ว ๆ นี้ผมได้ทราบจากคนที่ไปตำแหน่งสูงสุดในหน่วยของเขา หน่วยสำคัญมาก มีบำนาญไม่ถึง 30,000 บาทต่อเดือน นี่รับราชการมาเกือบ 40 ปี เพราะฉะนั้นพอเกิดเรื่องอย่างนี้ แม้กระทั่งอัตราที่อยู่ในร่างพระกฤษฎีกาปัจจุบัน ผมคิดว่าประชาชนรู้แล้วเนี่ย เขาทนไม่ค่อยไหวกันหรอกนะ”

นอกจากในแง่หลักการและแนวคิดที่ข้าราชการการเมืองไม่ควรได้บำเหน็จบำนาญแล้ว อ.เขียน ธีระวิทย์ ในฐานะอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่ร่วมร่างรัฐธรรมนูญปี 40 มาก่อน ยังยืนยันด้วยว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ได้กำหนดว่า ข้าราชการการเมืองต้องได้รับบำเหน็จบำนาญตามที่รัฐบาลตีความแต่อย่างใด เพราะมาตรา 229 ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่า

“บำเหน็จบำนาญหรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น(ขององคมนตรี ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งพ้นจากตำแหน่ง ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา)

ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญใช้คำว่า “หรือ” (บำเหน็จบำนาญหรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น) ไม่ได้ใช้คำว่า “และ” ย่อมไม่ได้เป็นการบังคับว่า ข้าราชการการเมืองต้องมีบำเหน็จบำนาญ อ.เขียน ยังแสดงความข้องใจด้วยว่า ถ้ารัฐบาลต้องการให้ข้าราชการการเมืองได้รับบำเหน็จบำนาญจริงๆ เหตุใดจึงไม่นำเรื่องเข้าสภาแล้วออกเป็น พ.ร.บ. เหมือนกับ พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการพลเรือนทั่วไป ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องผลประโยชน์ของพรรคพวกตัวเอง

ผมคิดว่าจะต้องดู พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ ปี 2494 ประกอบกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยคือ ข้าราชการอื่นๆ ทั้งหมดก็ต้องตราเป็นกฎหมาย เป็น พ.ร.บ. ถ้าตราเป็น พ.ร.บ.หมายความว่า เรื่องนี้ต้องเอาเข้ารัฐสภา เพราะฉะนั้นจะมีการถกเถียงอะไรต่างๆ พวก ส.ส.-ส.ว.หรือแม้แต่ประโยชน์ของตัวที่จะได้รับ แต่ส่วนมากก็จะต้องออกมาเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอะไรด้วย

แต่ในกรณีตรา พ.ร.ฎ. เขาให้สำนักงานกฤษฎีกาไปร่างมา แล้วเอามาดู แล้วก็มีคนกำกับ รัฐมนตรีหรือรองนายกฯ กำกับ และเข้าที่ประชุม ครม.แล้วก็ออกมา และทูลเกล้าฯ ถวายทรงลงพระปรมาภิไธย ซึ่งในลักษณะอย่างนี้ ในเรื่องการกำหนดบำเหน็จบำนาญ มันก็ไม่แตกต่างจากบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เพราะฉะนั้นทำไมข้าราชการต้องมาออกเป็น พ.ร.บ.แต่ข้าราชการการเมืองซึ่งให้ผลประโยชน์แก่พวกตัวเอง กลับมาให้นักการเมืองออกเป็นเรื่องสิทธิผลประโยชน์อภิสิทธิ์ให้ตัวเองได้ อันนี้ไม่สอดคล้องกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแน่นอน”

อ.เขียน แนะด้วยว่า หากนักการเมืองต้องการบำเหน็จบำนาญจริง ๆ น่าจะใช้วิธีทำ ”ประชามติ” ฟังเสียงประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่ ยังจะเป็นวิธีที่สง่างามมากกว่า และเวลาทำประชามติ ก็ควรบอกประชาชนด้วยว่า ขณะนี้ ส.ส.-ส.ว.มีเงินเดือนเท่าไหร่ และมีอภิสิทธิ์อะไรบ้าง เชื่อได้ว่า ประชาชนไม่อนุมัติแน่นอน เพราะภาพนักการเมืองของไทยส่วนใหญ่ไม่ใช่ภาพที่ดีนัก

ตนเชื่อว่า ไม่มีประเทศไหนในโลก ที่สมาชิกรัฐสภาโดดร่มมากเท่าประเทศไทย และคงไม่มีประเทศไหนในโลก เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีบ่อยเท่าประเทศไทยเช่นกัน ดังนั้น เมื่อนักการเมืองทำให้ภาพพจน์สถาบันตัวเองเสื่อมเสียขนาดนี้ ไม่ได้รับโทษก็ถือว่าดีแล้ว ยังจะตบรางวัลปูนบำเหน็จบำนาญให้อีก นี่จะทำให้ประชาธิปไตยเสื่อมทรามกันเกินไปหรือเปล่า?

* หมายเหตุ * ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า อัตราบำเหน็จบำนาญที่ กมธ.กิจการสภาผู้แทนราษฎร เสนอให้เพิ่มคือ เป็น ส.ส.-ส.ว. 2-3 ปี ได้รับบำเหน็จบำนาญ 40% ของเงินเดือน (เดิม 20%) ,3-7 ปี ได้รับ 60% (เดิม 30%) ,7-11 ปี ได้รับ 80% (เดิม 40%) , 11-15 ปี ได้รับ 100% (เดิม 50%) ,15-20 ปี ได้รับ 120% (เดิม 60%) และ 20 ปีขึ้นไป ได้รับ 140% (เดิม 70%) 

รายงานของคุณอมรรัตน์ ล้อถิรธร จบลงเพียงแค่นี้ ....

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com พบว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ได้โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก สมชาย แสวงการ ระบุว่า... 

 

 

ผมยืนยันว่าไม่เห็นด้วยที่สส.บางพรรคโจมตีด้อยค่าอดีตข้าราชการ หรือคิดจะปรับลดยกเลิกบำเหน็จบำนาญข้าราชการครับ เพราะข้าราชการที่ดี

ส่วนใหญ่ได้อดทนทุ่มเททำงานเพื่อชาติบ้านเมืองเสียสละรับเงินเดือนน้อย และในบั้นปลายชีวิตควรที่รัฐจะดูแล

ส่วนจะหาวิธีประการใดเช่นขยายอายุการรับราชการ หรือการเข้ากองทุนกบข .ที่ทำไปแล้วก็ดี หรืออื่นๆ ฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายบริหารคงต้องเสนอแนะอย่างสร้างสรรค์ ครับ 

และเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องจากการหยิบยกข้อมูลโต้กลับที่อาจยังไม่ครบถ้วน ผมจึงอยากให้ทราบข้อเท็จจริงพร้อมข้อสังเกตดังนี้ครับ 

ร่างกฎหมายที่อ้างว่านี้ น่าจะมีความพยายามเสนอเข้าสภาในสมัยรัฐบาลทักษิณ เมื่อปี 2548 ที่ผ่านมา แต่ไม่สำเร็จเพราะในด้านบนเอกสารสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจเสร็จเมื่อ 2548 และในมาตรา28 ของบทเฉพาะกาล เขียนว่าให้นับย้อนหลังได้ไม่เกิน พ.ศ.2540

สรุปได้ว่า กฎหมายดังกล่าวไม่ให้บำนาญ ส.ส. ส.ว. และ รมต.ตามที่อาจเข้าใจผิดกันในเวลานี้ ครับ 

 

ที่สมาชิกทั้ง ส.ส./ส.ว. ต้องจ่ายเงินร่วมสะสมรายเดือนซึ่งเดิมจ่ายเงินให้กับ ส.ส./ส.ว. ทุกคนที่แม้เป็น ส.ส./ส.ว. เพียงไม่กี่วันก็จะได้รับประโยชน์ตลอดชีวิตและเป็นวงเงินสูงมาก

ดังนั้น เมื่อ คสช.และรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เข้ามาจึงมีการปรับแก้ไขลดลงไปจำนวนมาก โดยให้นับอายุการดำรงตำแหน่งจริงมาประกอบและคำนวณลักษณะคล้ายกับข้าราชการและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือประกันสังคม ที่ ส.ส./ส.ว. ต้องร่วมจ่ายรายเดือน 

แต่จะใช้สิทธิในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ทุพพลภาพหรือตาย เมื่อพ้นสมาชิกภาพแล้ว และจะมีระยะเวลาจำกัดในการจ่ายรายเดือน ตามอายุการทำงานในสภา ต่อคนต่อเดือนไม่ได้มาก เหมือนร่างที่ผ่านการตรวจคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าวและมีความพยายามเสนอในปี 2548 ครับ

คงมีคำถามย้อนกลับมาถึง สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ที่บอกว่า สส./สว. ต้องจ่ายเงินร่วมสะสมรายเดือนซึ่งเดิมจ่ายเงินให้กับสส./สว. ทุกคนที่แม้เป็นสส./สว. เพียงไม่กี่วัน ก็จะได้รับประโยชน์ตลอดชีวิตและเป็นวงเงินสูงมาก มันสักเท่าไร มีเงินสบทบของรัฐที่เป็นภาษีประชาชนด้วยหรือไม่  

...อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนกลับไปดู ฉายาสภาผู้แทนราษฎรประจำปี 2555  ทีสื่อมวลชนประจำรัฐสภาตั้งให้ คือ “จองล้าง….จ้องผลาญ…” ด้วยเหตุผลที่ว่า การผลาญงบประมาณแผ่นดิน จากภาพที่เห็นชัดเจนคือ การพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2555 และปี 2556 ที่ ส.ส.จ้องจัดสรรงบฯ ให้พวกตัวเอง และการจัดทริปดูงานต่างประเทศของกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร ชุดต่าง ๆ

ซึ่งการไปดูงานต่างประเทศของคณะกรรมาธิการแต่ละชุด เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นการไปท่องเที่ยวพักผ่อน มากกว่าที่จะไปดูงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง! และเพราะงบประมาณ 5 ล้านบาท ที่ กมธ. ได้รับจากการจัดสรรเพื่อใช้ในการศึกษาดูงานในต่างประเทศ ในปีดังกล่าว ถือเป็นจำนวนที่มาก และเป็นงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชน...

“คำถาม”  จึงเกิดขึ้นตามมาว่า นี่เป็นพฤติกรรมส่วนหนึ่งของนักการเมืองไทย ที่ถ่ายทอดกันมาถึงวันนี้ใช่หรือไม่ และ การใช้งบประมาณในส่วนนี้ในลักษณะน่ารังเกียจที่ไม่มีความซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินและประชาชน มีความคุ้มค่าหรือไม่ ? เช่นกัน

 

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)