หยุดวิกฤติ Learning Loss ดัน “สวัสดิการหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัย” หลังพบเด็กไทย 1.1 ล้านครัวเรือน เสี่ยงพัฒนาการล่าช้า

สานพลังร่วมหยุดวิกฤติ Learning Loss

ภาวะวิกฤติ Learning Loss ส่งผลต่อเด็กไทย

ภาวะวิกฤติ Learning Loss หรือ ภาวะความรู้ถดถอย ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้พื้นที่ทั่วประเทศไทยถูกล็อกดาวน์ และปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนของเด็กไทยจาก Onsite สู่ Online นั้น พบว่า ทักษะที่ถดถอยนั้นแบ่งเป็น ความรู้ทางวิชาการถดถอย (Academic Learning Loss) ผลสำรวจของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่า เพียง 50% ของโรงเรียนที่สอนแบบออนไลน์ สามารถเข้าถึงการเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เด็ก 40% สามารถเข้าถึงได้บ้าง แต่มีความไม่พร้อมของอุปกรณ์การเรียน และอินเทอร์เน็ต เด็กราวๆ 10% ไม่สามารถติดตามได้  จึงไม่สามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้  และ ทักษะเชิงความสามารถ และการใช้ชีวิตถดถอย (Work related Skills Learning Loss ) เช่น ทักษะการใช้ชีวิตด้านจิตวิทยาสังคม (psychosocial skill)ทักษะการจัดการตัวเอง/การมีวินัย (self management) ทักษะการทำงานกับเพื่อน (working with other)

ภาวะความรู้ถดถอยส่งผลอย่างมากกับเด็กปฐมวัย ช่วงชั้น อนุบาล - ป.
3 เด็กกลุ่มนี้ต้องได้รับการพัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้ ทักษะทางภาษา และพื้นฐานการคำนวณ (Literacy and Numeracy) แต่การเรียนออนไลน์ทำให้ทักษะด้านนี้พัฒนาได้น้อยมาก จึงทำให้เกิดภาวะ Learning Loss ที่สูงมาก


ขณะที่ การจัดอันดับ
ประเทศที่นักเรียนมีประสิทธิภาพด้านการอ่าน ด้านคณิตศาสตร์ และด้านวิทยาศาสตร์ โดย เว็บไซต์องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือโออีซีดี ตามโครงการประเมินนักศึกษาต่างชาติประจำปี 2561 (Programme for International Student Assessment - PISA) จากการประเมินนักเรียนในช่วงอายุ 15 ปี พบ เด็กไทยรั้งท้ายอันดับ 13 โลก ได้รับคะแนนประสิทธิภาพด้านการอ่าน 393 คะแนน จากค่าเฉลี่ย 487 ส่วนประสิทธิภาพด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ได้คะแนน 419 และ 426 คะแนน จากค่าเฉลี่ย 489

 
ด้านการสำรวจพัฒนาการของกรมอนามัย ปี 2557 พบว่า พัฒนาการของเด็กไทยที่มีความล่าช้ามากที่สุด คือ พัฒนาการด้านภาษา ล่าช้าถึง 38.2% และจากการสำรวจสถานการณ์ไอคิวและอีคิวของเด็ก ป.1 ทั่วประเทศโดยกรมสุขภาพจิต ปี 2559 พบ เด็กที่มีระดับสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์บกพร่อง หรือต่ำกว่า 70% คิดเป็นร้อยละ 5.8% และพัฒนาการด้านภาษามีปัญหามากกว่าด้านอื่นๆ 


ผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยปี
2562 พบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีเพียงร้อยละ 34 ที่มีหนังสือสำหรับเด็กอย่างน้อย 3 เล่มที่บ้าน (ลดลงจากร้อยละ 41 ในปี 2558) ขณะที่เด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี เล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สูงถึงร้อยละ 53 

 

สานพลังร่วมหยุดวิกฤติ Learning Loss

การอ่านหนังสือให้เด็กเล็กฟัง ส่งผลต่อพัฒนาการด้านต่างๆ


ข้อมูลจาก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (
TDRI) โดย อ.จิราภรณ์ แผลงประพันธ์ บอกถึงประโยชน์จากการอ่านหนังสือให้เด็กเล็กฟัง ซึ่งเกิดประโยชน์อย่างมากต่อชีวิตเด็ก ดังนี้


1.เกิดสายสัมพันธ์พิเศษ เป็นกิจกรรมที่ทำให้ได้แสดงความรัก ความผูกพันและได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น 

2.พัฒนาทักษะด้านภาษา ช่วยเสริมสร้างการออกเสียงพื้นฐาน การเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ 

3.พัฒนากระบวนการเรียนรู้ เรียนรู้วิธีการอ่านออกเสียงอย่างถูกต้อง เรียนรู้การปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ หรือบุคคลอื่น เพราะหนังสือคือโลกใบใหม่ของเด็ก

4.เพิ่มสมาธิและวินัย ทำให้เด็กนิ่งและอดทน สร้างสมาธิและวินัยให้เด็กจดจ่อกับสิ่งที่ฟังได้นานขึ้น 

5.เกิดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เด็กเกิดจินตนาการตามเรื่องราวที่ได้ฟัง และนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ 

6.ปลูกเพาะนิสัยรักการอ่านตลอดชีวิต ทำให้เด็กมองว่าหนังสือเป็นสิ่งที่ละทิ้งไม่ได้ ช่วยสร้างนิสัยรักการอ่านให้กับเด็ก

7.เตรียมความพร้อมสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ เด็กที่พ่อแม่อ่านหนังสือให้ฟัง มีแนวโน้มการเรียนรู้ได้ดีกว่าเด็กที่ไม่เคยได้ฟังการอ่านหนังสือเลย การอ่านหนังสือยังเสริมความถนัดในการเรียนรู้โดยทั่วไป และการตั้งคำถามระหว่างการอ่านจะช่วยกระตุ้นสมองให้เด็กรู้จักคิดและเรียนรู้ 

 
ซึ่งวิธีหนึ่งที่จพัฒนาทักษะด้านภาษาและพัฒนาการด้านอื่นๆ ให้ดีขึ้นได้ คือ การอ่านหนังสือกับลูก เป็นเครื่องมือที่ช่วยสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่และลูกตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึง
6 ปี

สานพลังร่วมหยุดวิกฤติ Learning Loss 

สสส.และภาคีเครือข่ายผนึกกำลัง “หยุดภาวะวิกฤติ Learning Loss

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2565 ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จับมือภาคีเครือข่ายสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านกว่า 340 ภาคี พร้อมกรุงเทพมหานคร (กทม.) กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย หยุดวิกฤติ Learning Loss ดันสวัสดิการหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัยหลังพบเด็กไทย 1.1 ล้านครัวเรือน เสี่ยงพัฒนาการล่าช้า โดยจัดเวทีพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายสานพลังร่วมหยุดวิกฤติ Learning Loss จากปฏิบัติการทางสังคมสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายมุ่งเป้าสนับสนุนให้เกิดสวัสดิการหนังสือในเด็กปฐมวัย

สานพลังร่วมหยุดวิกฤติ Learning Loss 

นางญาณี รัชต์บริรักษ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 เด็กส่วนใหญ่ไม่สามารถไปโรงเรียนเพื่อเรียนรู้ทักษะทางสังคมได้เต็มที่ 

ข้อมูลการเข้าถึงหนังสือ โดยสำนักสถิติแห่งชาติ พบ เด็กเล็กไม่มีหนังสือในบ้านกว่า 1.1 ล้านครัวเรือน เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ สะท้อนแนวโน้มที่อาจเพิ่มขึ้นของภาวะการเรียนรู้ถดถอยในเด็ก สสส. จึงเร่งสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย พัฒนาแนวทางการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านตั้งแต่เด็กปฐมวัย อายุ 0-6 ปี ริเริ่มโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ชวนกันอ่านสร้างสุข โครงการคัดสรร 108 หนังสือดี เปิดหน้าต่างแห่งโอกาสในการพัฒนาเด็กปฐมวัย โครงการนครแห่งการอ่าน โครงการอ่านยาใจ : สร้างภูมิคุ้มใจเด็กปฐมวัย มุ่งขยายผลขับเคลื่อนงานสุขภาวะทางปัญญา สร้างครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง ร่วมแก้วิกฤติพัฒนาการภาษาล่าช้า ลดภาวะถดถอยการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย


เวทีพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายสานพลังร่วมหยุดวิกฤติ Learning Loss จากปฏิบัติการทางสังคมสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายครั้งนี้ได้มุ่งเน้นการขับเคลื่อนปฏิบัติการทางสังคมด้วยการเสริมสร้าง เชื่อมโยง และเสริมพลังเครือข่าย เพื่อให้เกิดกลไกการทำงานกับทุกภาคส่วน  เช่น สวัสดิการสำหรับแม่ตั้งครรภ์และเด็กตั้งแต่แรกเกิด ที่สร้างโอกาสการเข้าถึงหนังสือคุณภาพและสวัสดิการหนังสือเด็กปฐมวัย เพื่อวางรากฐานการอ่านที่เป็นทักษะสำคัญของการแสวงหาความรู้ได้ด้วยตัวเองตลอดชีวิตนางญาณี กล่าว

สานพลังร่วมหยุดวิกฤติ Learning Loss 

ฟากฝั่ง กทม. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ร่วมสนับสนุนนโยบายส่งเสริมการอ่าน หนุนการมีหนังสือประจำบ้านให้เด็กอย่างน้อย 3-5 เล่ม โดยนโยบายส่งเสริมการอ่านหลัก ๆ มี 3 เรื่อง คือ 1. การลงทุนน้อยแต่ได้เยอะ ซึ่งเชื่อว่าเด็กอายุ 0-8 ปี เป็นช่วงที่มีพัฒนาการเร็วและสูง ถ้าเราลงทุนกับเด็กในช่วงนี้เป็นการลงทุนที่ไม่ได้ใช้เงินเยอะแต่ได้ผลก้าวหน้ามหาศาล ฉะนั้นการมีหนังสืออยู่ในบ้านจะช่วยส่งเสริมการอ่านให้เด็กและถ้าเด็กมีพัฒนาการที่ดีในช่วงนี้ได้จะเป็นรากฐานที่ดีให้เด็กในอนาคต ซึ่งกรุงเทพมหานครจะต้องหันมาดูเด็กก่อนวัยเรียนให้เข้มข้นขึ้น 2. บทบาทของพ่อแม่มีความสำคัญ เพราะพ่อแม่ใช้เวลาอยู่กับลูกมากที่สุด พ่อแม่จึงเป็นส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาการอ่านและส่งเสริมให้ลูกรักการอ่านมากกว่าที่จะฝากความหวังไว้กับครูหรือโรงเรียน 3. ทรัพยากร กทม. มีหน้าที่ต้องช่วยตรงนี้เนื่องจากประชาชนจำนวนมากมีรายได้น้อย การหาหนังสือให้เด็กอ่านทำได้ค่อนข้างยาก ฉะนั้นการจัดสวัสดิการสนับสนุนหนังสือให้เด็กมีหนังสือติดบ้านในช่วงแรกอย่างน้อย 3-5 เล่ม จะช่วยส่งเสริมการอ่านให้เด็กได้ โดยเป็นการหมุนเวียนหนังสือ เมื่อเด็กอ่านหนังสือที่มีอยู่ในบ้านหมดแล้วก็นำมาเปลี่ยนเป็นหนังสือเล่มอื่นไปไว้ติดบ้านเพื่อที่จะสามารถอ่านหนังสือได้ตลอดเวลา 


ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครมีห้องสมุดทั้งหมด
36 แห่ง บ้านหนังสืออีก 117 แห่ง จะต้องมีการเพิ่มคุณภาพของห้องสมุดและบ้านหนังสือเนื่องจากเป็นตัวช่วยในการส่งเสริมการอ่าน เพราะบางทีพ่อแม่ไม่มีเวลา เมื่อเด็กแวะเวียนมาใช้บริการบ้านหนังสือและมีอาสาสมัครช่วยด้านการอ่านให้กับเด็ก ก็จะช่วยส่งเสริมให้เด็กรักการอ่านได้อีกทาง


ด้าน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย มีนโยบาย ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างน้อย
1 แห่ง ต้องมีห้องสมุดศูนย์กลาง จึงได้ร่วมกับแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ริเริ่มโครงการ ท้องถิ่นรักษ์การอ่าน ปรับศาลากลางบ้าน วัด ส่วนของพื้นที่ราชการท้องถิ่น หรือบ้านของจิตอาสา เป็นพื้นที่อ่านหนังสือ แบ่งปันหนังสือของคนในชุมชน จำนวน 9,102 แห่ง พร้อมผลักดันนโยบายศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรในท้องถิ่น ให้มีมุมอ่านหนังสือ มีกิจกรรมเล่านิทาน สนับสนุนให้ผู้ปกครองอ่านหนังสือให้ลูกฟังอย่างน้อย 5-10 นาทีต่อวัน ส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมการเรียนรู้วงกว้างในระยะเวลาที่รวดเร็ว

สานพลังร่วมหยุดวิกฤติ Learning Loss 

ทิ้งท้ายที่ นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ที่กล่าวถึงสวัสดิการหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัยไว้ว่าเรามีความหวังใหม่ๆ จากวิกฤตโควิด-19 2 ปีกว่า  เวลาเราลงพื้นที่รับรู้ข่าวจากเพื่อนภาคีเครือข่าย พบว่า เด็กๆ เราถดถอยทั้งทักษะทางสังคม ทักษะชีวิต และพัฒนาการด้านสมอง ไม่น้อยกว่า 2-4 ปี สิ่งที่ PISA ถอดบทเรียนของประเทศที่ได้คะแนการจัดอันดับประเทศที่นักเรียนมีประสิทธิภาพด้านการอ่าน ด้านคณิตศาสตร์ และด้านวิทยาศาสตร์ อยู่ในอันดับคะแนนสูงๆ พบว่า แต่ละครอบครัวมีจุดเริ่มต้นจากการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง 

เราจะหยุดสถานการณ์นี้ได้ ด้วยกิจกรรมที่ง่ายที่สุด คือสวัสดิการหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัย โดยสร้างความรู้ ความเข้าใจทุกๆ ครอบครัว และผนึกกำลังทุกภาคส่วนทั่วประเทศไทยให้ทำงานร่วมกัน วันนี้มีความหวังมาก เนื่องจากหลายองค์กรพร้อมที่จะขยับและร่วมมือทั้งการประกาศนโยบาย การสานพลังพร้อมเปิดพื้นที่รับนโยบาย และดำเนินการทันที ขอเพียงภาครัฐในทุกจังหวัดประกาศนโยบายร่วมกันและสนับสนุน เราจะหยุดภาวะพัฒนาการถดถอยที่มีมากว่า 10 ปี และเห็นเด็กๆ มีพัฒนาการที่ดีขึ้นด้วยสวัสดิการหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัย

หยุดวิกฤติ learning loss

สวัสดิการหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัย กำลังจะขยับเข้าถึงครอบครัวทุกบ้านในประเทศไทย เพื่อหยุดภาวะการเรียนรู้ถดถอย และสร้างเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กไทยแบบที่ควรจะเป็น


บทความพิเศษ โดย คอลัมนิสต์ Edu-Healthcare