ส่อง กสศ.- หอการค้า - TDRI หนุนขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา แก้เหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพ

 

ส่อง กสศ.- หอการค้า - TDRI หนุนขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา แก้เหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพ

 

เมื่อ 3 หน่วยงาน อย่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จับมือ หอการค้าไทย และ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI ) เข้ามาจับมือร่วมกันปฏิรูปการศึกษา โดยทำข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ใน 19 จังหวัด เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยการวิจัยพัฒนานวัตกรรมการศึกษา เป็นอีกก้าวที่ทำให้เห็นภาพการพัฒนากำลังคน มีทิศทางและเห็นโอกาสยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ชัดเจนมากขึ้น

 

เดิมนั้น แนวคิดในการปรับการเรียนรู้ให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลง เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันระหว่างคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ร่วมกับ TDRI และ หน่วยงานในภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP) ยกร่าง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เสนอแก่รัฐบาล ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนให้มีการขยายพื้นที่ดำเนินการจากจุดเริ่มต้นใน 8 จังหวัดสู่ 19 จังหวัด ในปัจจุบันและเพิ่มจังหวัดบุรีรัมย์ ขึ้นมาอีกหนึ่งจังหวัด

 

ดังนั้น พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจึงเหมือนเป็นสนามปฏิบัติการ (sandbox) ในการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ เพื่อพัฒนาต้นแบบในการทดลองจัดการศึกษาในรูปแบบใหม่  ตั้งแต่ การใช้หลักสูตรใหม่ สื่อการเรียนการสอนแบบใหม่ วิธีการเรียนการสอนแบบใหม่ การทดสอบและประเมินผลแบบใหม่ ตลอดจนการบริหารจัดการแบบใหม่ ในระดับโรงเรียนและเขตการศึกษา เพื่อเพิ่มความเป็นอิสระให้แก่สถานศึกษาและกระจายอำนาจให้แก่จังหวัด

 

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล 

 

ก็ต้องเอาใจช่วย ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร (กสศ.) ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI และ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่ลงมาทำในเรื่องนี้ให้มีพลังมากขึ้น

 

ด้วยความตระหนักถึงความเป็นส่วนหนึ่งของกลไกในการผลักดันแนวทางการขับเคลื่อน และพัฒนาการศึกษาของประเทศ ให้สอดคล้องกับภูมิเศรษฐกิจโลก และเทคโนโลยียุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 

 

และงานนี้เริ่มต้นจากการวิจัยพัฒนานวัตกรรม ที่สอดคล้องกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่มีอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ จนได้รูปแบบและแนวทางการทำงานที่เป็นรูปธรรมก่อนนำไปทดสอบใช้จริงในพื้นที่ จนพบว่าสามารถแก้ปัญหาที่มีอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

อีกทั้งยังยกถึงความสอดคล้องกับข้อสรุปจากการประชุมนานาชาติ เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา All for Education Conference 2022 ที่ กสศ. ได้ร่วมกับองค์การ UNESCO และ UNICEF ได้สรุปบทเรียน " 7 ตัวเปลี่ยนเกม " 7 Game Changers อันเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ในระดับนานาชาติ ที่สามารถช่วยให้ประเทศต่าง ๆ สามารถบรรลุเป้าหมาย การศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All) ด้วยแนวคิด ปวงชนเพื่อการศึกษา (All for Education) ได้แก่

 

1.ระบบข้อมูลและสารสนเทศการศึกษา

2. นวัตกรรมการเงินและการคลังเพื่อการศึกษา

3. ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน

4.การส่งเสริมการกระจายอำนาจเพื่อการจัดการการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area-Based Education)

5. การพัฒนาครูและสถานศึกษา

6.การพัฒนาระบบคุ้มครองทางสังคมในระบบการศึกษา 5 ด้าน ได้แก่

ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงของสถาบันทางครอบครัว ความพร้อมและความปลอดภัยของสถานศึกษาและครู ความพร้อมและความปลอดภัยในการเดินทาง และความพร้อมของชุมชนท้องถิ่น

7.การผลักดันแนวคิด All for Educationให้การศึกษาเป็นกิจของทุกคน

 

ยืนยันจาก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย 3 หน่วยงานดังกล่าว จะสามารถสร้างกลไกส่งเสริมขีดความสามารถในการระดมทรัพยากรและความร่วมมือของกลไกระดับพื้นที่ เพื่อพัฒนานวัตกรรม ในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในมิติต่าง ๆ ทั้งโอกาส และคุณภาพการเรียนรู้รวมไปถึงการเสริมสร้างประสิทธิภาพในการบริหารการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน

 

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

 

TDRI หวังจะได้เห็นความร่วมมือที่ริเริ่มโดย 3 หน่วยงาน ในพื้นที่ 19 จังหวัด เจริญงอกงามของสังคมไทย เป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จที่ประชาชนจากทุกภาคส่วนในทั้ง 77 จังหวัดของประเทศไทย จะสามารถลุกขึ้นมา "กำหนดอนาคต และโจทย์ปฏิรูปการศึกษา" ของจังหวัดตัวเองได้ด้วยตนเอง โดยร่วมกันลงมือทำให้สำเร็จได้จริง ด้วยทรัพยากรตัวเอง เพราะมีความเข้าใจในโอกาสและอุปสรรคของพื้นที่ตนเองได้มากกว่าคนในพื้นที่อื่น 

 

หากความร่วมมือในวันนี้ จะสามารถจุดประกายให้ประชาชนในทุกจังหวัดของประเทศไทยได้ลุกขึ้นมาเป็น "เจ้าของ" วาระการปฏิรูปการศึกษาของบ้านเกิดตัวเองได้ อาจได้เห็นนวัตกรรมการการแก้ไขปัญหาสำคัญในหลาย ๆ ด้านของการศึกษาไทยที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้ ในชั่วชีวิตของเรา

 

ขณะเดียวกัน หอการค้าไทย ยังประกาศถึงแนวทางสนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจและรูปแบบการดำเนินธุรกิจ จากนักธุรกิจผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญพร้อมเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนในสถานศึกษา เข้าไปเรียนรู้และฝึกประสบการณ์จริงในสถานประกอบการ เพื่อสร้างพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา อย่างเป็นรูปธรรม

 

สนั่น อังอุบลกุล 

 

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ YEC ที่มีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ามามีส่วนร่วมในการเชื่อมโยงการทำงานตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในปัจจุบัน

 

อีกทั้งยังมีภาคเอกชน จะเข้ามามีส่วนร่วมในการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยมากขึ้น จนนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในมิติต่าง ๆ ของประเทศได้ต่อไปในอนาคต  แต่ในขณะเดียวกัน ต้องอาศัยการผลักดันจากรัฐบาลให้มีมาตรการสร้างแรงจูงใจ เช่น สิทธิประโยชน์ด้านภาษี เพื่อให้ภาคธุรกิจ

 

ยกอ้างถึง ผลจากการศึกษาของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ชี้ว่า การลงทุนด้านการศึกษา การพัฒนาทุนมนุษย์สร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงถึง 7 เท่า เมื่อเทียบกับต้นทุน และ ยังช่วยให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ประเทศที่มีรายได้สูงในอนาคต

 

หากภาคธุรกิจเอกชน รวมถึงพลังของเครือข่ายผู้ประกอบการรุ่นใหม่ทุกจังหวัด ร่วมสนับสนุน Education Sandbox Fund โดยลงทุนพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จะส่งผลต่อการพัฒนากำลังคนในอนาคตของประเทศ ให้มีศักยภาพช่วยยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน สร้างอนาคตที่เต็มไปด้วยโอกาสและการเติบโตอย่างยั่งยืน ของประเทศไทย.

 

 

Photo:bkbtodays 

 

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam  

ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage