การศึกษายุคก้าวไกล หากผู้บริหารศธ.ไม่ เปลี่ยนมายเซ็ท ( Mindset ) อาจไม่มีที่ยืน

 

การศึกษายุคก้าวไกล หากผู้บริหารศธ.ไม่

เปลี่ยนมายเซ็ท ( Mindset ) อาจไม่มีที่ยืน    

วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์ บรรณาธิการ 

 

ในที่สุด หลังการเลือกตั้ง 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯ นำ 8 พรรค ก้าวไกล, เพื่อไทย,ไทยสร้างไทย,เสรีรวมไทย, ประชาชาติ,เป็นธรรม, เพื่อไทรวมพลัง, และพลังสังคมใหม่ ซึ่งรวมกันแล้ว ได้ 313 เสียง จัดตั้งรัฐบาล  ภายใต้เงื่อนไขที่มีการพูดคุยกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ของรัฐบาลก้าวไกล คือ...

 

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะได้เป็นนายกฯ ทุกพรรคต้องทำ MOU จัดตั้งรัฐบาล และทุกพรรคจะสร้างทีมงานเพื่อสานต่องานอย่างไร้รอยต่อ

 

แน่นอนว่า กระทรวงศึกษาธิการ ทีมีงบประมาณสูงถึง 325,900 ล้านบาท เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ  คงหนีไม่พ้นก้าวไกล หรือ เพื่อไทย ที่จะได้รับการหยิบยกขึ้นนั่งแท่นรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงอุดมศึกษา (อว.) นอกจากจะบริหารจัดการตามนโยบายที่ประกาศในช่วงหาเสียงลัว ยังต้องมี MOU กับพรรคก้าวไกล อีกด้วย

 

 อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ใช่เป็นผู้เลือกคนใดคนหนึ่งในพรรคใดพรรคหนึ่งเข้ามา แต่เมื่อทราบล่วงหน้าแล้วว่าพรรคใดที่น่าจะส่งคนเข้ามาคุมกระทรวงศึกษาธิการ หากมีการเตรียมตัวด้วยการศึกษาเรียนรู้ วางแผนรับมือในการเผชิญกับความท้าทายและแรงกดดันในการต้องขานรับนโยบายใหม่ ๆ สู่การปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถทำงานตอบโจทย์ให้การศึกษาก้าวไกลได้ฉับพลัน ย่อมจะเป็นความสำคัญยิ่งต่อตำแหน่งของผู้บริหารองค์กรทุกระดับในกระทรวงศึกษาธิการ 

 

EDUNEWSSIAM เคยย้ำว่า นับต่อไปนี้ กระทรวงศึกษาธิการ จะไม่เหมือนเดิม หากพรรคก้าวไกลได้เข้ามาดูแล ถ้าผู้บริหารการศึกษายังไม่เปลี่ยนมายเซ็ท ( Mindset )  อาจไม่มีที่ยืน 

 

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคก้าวไกล ที่มี นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ปาร์ตี้ลิสต์ อันดับ 11 คนรุ่นใหม่ไฟแรง สำเร็จการศึกษารระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ จากวิทยาลัยเซนต์จอห์น มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (เช่นเดียวกับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้เป็นน้าของเขา)

 

ปัจจุบันเป็นผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายพรรคก้าวไกล อาจจะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวในรายการดีเบตหลุมดำการศึกษาไทย จากช่อง PPTVHD36 กล่าวถึงปัญหาการศึกษาที่ผ่านมาว่าขาดประสิทธิภาพ

 

เด็กไทยเรียนหนัก แต่หลักสูตรไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะแปรความขยันเรียน เป็นทักษะที่แข่งขันกับนานาชาติได้ ไม่สามารถแปรงบประมาณออกเป็นการวางหลักการสิทธิในการเรียนฟรีได้ ต้องมีการเพิ่มความเห็นอกเห็นใจเปลี่ยนการศึกษาจากแบบอำนาจนิยมที่มองว่า เด็กที่ดีควรเป็นอย่างไร เป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้มีเสรีภาพทางการเรียนรู้ เติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ โอบรับความหลากหลายของผู้เรียน

 

เมื่อกล่าวสรุปถึงภาพรวมนโยบายการศึกษาของพรรคก้าวไกล ประกาศชัดเจนว่า

 

โรงเรียนต้องเป็นที่ปลอดภัย ไร้อำนาจนิยมภายใน 2 ปี กฎระเบียบของโรงเรียนต้องไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน ยกเลิกกฎระเบียบเรื่องทรงผม ยกเลิกกฎระเบียบ ที่เปิดช่องให้มีการลงโทษหรือใช้ความรุนแรงกับผู้เรียน พักใบประกอบวิชาชีพบุคคลากรที่มีส่วนละเมิดสิทธิมนุษยชนนักเรียนแทนการย้ายไปโรงเรียนอื่น

 

การประเมินทั้งครูและผู้บริหารโรงเรียน ให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการประเมินครูมีความยึดโยงกับผลสัมฤทธิ์ และ ความพึงพอใจของนักเรียน ในฐานะผู้รับบริการการศึกษา ครูมีส่วนร่วมในการประเมินผู้บริหารโรงเรียน เพื่อให้ผู้บริหารถูกประเมินจากข้อมูลที่รอบด้าน และป้องกันการใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบกับครู

 

งบประมาณ แก้การจัดสรรทรัพยากรในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยเพิ่มงบประมาณ 33,000 ล้านบาท 4,000 ล้านบาท ไปที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) 29,000 ล้านบาท

 

เพิ่มงบประมาณรายหัวในส่วนค่าอาหารฟรี เรียนฟรี มีรถรับส่ง ให้กับเด็กทุกคน กระจายงบให้กับโรงเรียนขนาดเล็กอย่างเป็นธรรมมากขึ้น ปรับสูตรคำนวณไม่ได้พึ่งแค่จำนวนนักเรียนเป็นหลัก

 

คืนครูให้กับนักเรียนภายใน 100 วัน ยกเลิกกิจกรรมต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เช่น การนอนเวร งานธุรการ จัดจ้างเจ้าหน้าที่ธุรการมาทำหน้าที่แทน ยกเลิกพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประเมิน

 

เปลี่ยนงบประมาณการอบรมครูจากส่วนกลาง เป็นการให้เงินตรงไปที่ครูแต่ละคนใช้ซื้อคอร์สอบรมพัฒนาทักษะที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ หรือโรงเรียนใช้ในการจัดอบรม เพื่อเพิ่มทักษะการสอนของครูในระดับโรงเรียน

 

โครงการคูปองเปิดโลก 1,000 – 2,000 บาทต่อปี ใช้ในการเรียนรู้นอกห้องเรียนสำหรับเด็กอายุ 7-18 ปี ชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา อุดมศึกษา ใช้งบประมาณ 11,000 ล้านบาท จากการยกเลิกการเกณฑ์ทหารภายใน 1 ปี คืนเสรีภาพและการประกอบอาชีพให้กับประชาชน

 

สนับสนุนการเรียนฟรีในระดับอาชีวศึกษา ปวช. และ ปวส. เปิดโอกาสเรียนในสายอาชีพ นำไปสู่ความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต

 

แก้ไขหลักสูตรภายใน 1 ปี และค่อย ๆ ปรับใช้ทุกระดับภายใน 4 ปี ลดวิชาบังคับ เพิ่มวิชาทางเลือก ในชั้นประถม-มัธยมต้น ออกแบบหลักสูตรทางการศึกษาหลักสูตรที่เน้นทักษะสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพและการใช้ชีวิต ปรับรูปแบบการเรียนการสอนแนะแนวเน้นการเชื่อมกับโลกภายนอก

 

ร่างหลักสูตรใหม่ภายใน 1 ปี และค่อยๆ ปรับใช้จนสามารถใช้ในทุกระดับชั้นได้ภายใน 4 ปี

 

หลักสูตรจะเน้นการสอนทักษะ-สมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพ (เช่น คิดวิเคราะห์ สื่อสาร ทำงานเป็นทีม เห็นอกเห็นใจผู้อื่น) และการใช้ชีวิต (เช่น ความรู้ทางการเงิน ความรู้ด้านสุขภาพ)

 

ปรับการสอนทุกวิชา ให้มุ่งเน้นทักษะสมรรถนะเป็นหลัก (เช่น การสอนภาษาอังกฤษที่เน้นทักษะการสื่อสาร หรือการสอนประวัติศาสตร์ที่เน้นการวิเคราะห์-ถกเถียง-แลกเปลี่ยน)

 

ปรับรูปแบบการเรียนการสอนแนะแนว ที่เน้นการเชื่อมกับโลกภายนอกและกิจกรรมทั้งในและนอกห้องเรียนที่ช่วยให้ผู้เรียนค้นพบตัวเอง

 

เพิ่มกิจกรรมทดลองเรียนรู้จากงานจริง หรือ job shadow การจัดคลินิกให้คำปรึกษา 1-ต่อ-1 การจัดสรรบัญชีวิทยากรจากภายนอกในอาชีพที่เด็กสนใจ

 

ลดจำนวนชั่วโมงเรียน 1,200 ชั่วโมงต่อปี เหลือ 800 – 1,000 ชั่วโมงต่อปี เพื่อให้ได้มีเวลาทำกิจกรรมนอกห้องเรียนและพักผ่อนมากขึ้น

 

ปรับหลักสูตร-การสอน-การประเมินวิชาภาษาอังกฤษ เน้นการสื่อสารหรือการใช้ภาษาเป็นหลัก มากกว่าเน้นหลักภาษาและไวยากรณ์ ตั้งเป้าให้ทุกโรงเรียนสอนเป็น 2 ภาษา ภายใน 4 ปี โดยการทยอยเพิ่มสัดส่วนวิชาและกิจกรรมในโรงเรียนที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ

 

ไม่ให้ออกข้อสอบที่วัดเนื้อหาเกินหลักสูตร เปิดเผยข้อสอบและเฉลยข้อสอบย้อนหลัง เพื่อยกระดับคุณภาพการสอบ เปิดให้เกิดการตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสมของคำถาม/คำตอบ สามารถเข้าไปใช้ฝึกฝนได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ปรับอัตราค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของ TCAS เป็นการจ่ายแบบอัตราเดียว (flat rate) ไม่เกิน 500 บาท สำหรับทุกบริการที่เป็นค่าใช้จ่ายของ ทปอ.

 

กระจายอำนาจทางการศึกษา นอกจากโรงเรียนมีการกระจายให้กับผู้เรียนโดยตรงด้วย คณะกรรมการสถานศึกษาต้องมีตัวแทนจากนักเรียนที่มาจากการเลือกตั้ง ตั้งสภาให้เยาชนให้นักเรียนเลือกผู้แทนไปเป็นตัวแทนในสภาเยาวชนแล้วเสนอกฎหมายไปที่สภาผู้แทนราษฎรได้ด้วย

 

อำนาจในการจัดการศึกษา ยังกระจุกตัวอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ มีหน่วยงานในรูปแบบคณะกรรมการที่อยู่ในส่วนกลางมากเกินไป ทำงานซ้ำซ้อนกัน

 

นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการกระจายอยู่ในส่วนภูมิภาค คือ ศึกษาธิการจังหวัด และศึกษาธิการภาค ซึ่งสุดท้ายแล้วโรงเรียนไม่ได้มีอำนาจในการจัดการศึกษาที่เป็นอิสระเหมาะสมกับบริบทของตัวเอง อีกทั้งยังขาดการมีส่วนร่วมจากนักเรียน เยาวชน ผู้ปกครอง ตลอดจนท้องถิ่น และภาคประชาสังคมอย่างเพียงพอในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับโรงเรียน

 

กระจายอำนาจให้โรงเรียน เติบโตได้ภายใต้ท้องถิ่น· กระจายอำนาจให้โรงเรียนด้านงบประมาณ (เช่น การจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนแบบไม่กำหนดวัตถุประสงค์) กระจายอำนาจเรื่องบุคลากร (เช่น กลไกในการให้โรงเรียนมีส่วนร่วมในการสัมภาษณ์และคัดเลือกครู) กระจายอำนาจเรื่องวิชาการ (เช่น การออกแบบหลักสูตรของโรงเรียนที่สอดคล้องต่อความต้องการของผู้เรียน การลดการควบคุมจากส่วนกลาง)

 

เพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่นในการบริหารจัดการ ตลอดจนดูแลโรงเรียนในพื้นที่ รวมถึงการบริหารจัดการสภาพแวดล้อมโดยรอบให้เอื้อต่อการศึกษาของประชาชนในพื้นที่ มีบอร์ดโรงเรียน ต้องมีตัวแทนนักเรียน กำหนดให้คณะกรรมการสถานศึกษาต้องมีตัวแทนนักเรียน และเพิ่มกลไกให้มีการจัดเลือกตั้งกรรมการสถานศึกษาในบางตำแหน่ง (เช่น ตัวแทนนักเรียน ตัวแทนผู้ปกครอง)

 

 

ด้านพรรคเพื่อไทยจะมี ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ปาร์ตี้ลิสต์ อันดับ 93 อาจจะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในกระทรวงศึกษาธิการอีกครั้ง 

 

ซึ่งเธอมีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนการศึกษาให้เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาส่วนช่วยให้คนไทยทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน

 

แต่เมื่อมองนโยบายการศึกษาของพรรคเพื่อไทยแล้ว ไม่ค่อยมีอะไรโดดเด่นไปจากแนวคิดเดิมเท่าใดนัก อาทิ การส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านขั้นตอน Learn to Earn เพื่อเรียนรู้มีรายได้ตลอดชีวิต ทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ทุกช่วงทุกวัย สามารถโอนหน่วยกิตที่สะสมไว้ หางานได้ในทุกช่วงของชีวิต

 

แพลตฟอร์มเชื่อมโยงกับหลักสูตรในมหาวิทยาลัยทั้งหมด เดิมทีทุกกระทรวงมีการเปิดหลักสูตรที่จัดการศึกษาแต่ว่าไม่มีการนำมารวมกัน ต้องมีธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ ไม่ได้เชื่อมเฉพาะระดับอุดมศึกษาแต่ต้องเชื่อมตั้งแต่อุดมศึกษา สถาบันอาชีวศึกษา กลุ่มโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัย

 

Free tablet for all 1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต และ โครงการ 1 ครู 1 แท็บเล็ต เพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาผ่านออนไลน์ สร้างบทเรียนที่กระตุ้นการเรียนรู้ ใช้แอปพลิเคชันช่วยการสอน

 

มีระบบร่นระยะเวลาบูรณาการให้ครูเหลือภาระงานให้น้อยที่สุด ให้กลับไปสู่ห้องเรียนให้ได้มากที่สุด นำครูที่เกินอัตรา โดยให้โรงเรียนใหญ่ส่งผ่านไปทางโรงเรียนขนาดเล็ก และ โรงเรียนที่ขาดแคลน

 

จบปริญญาตรีอายุ 18 ปรับระบบการศึกษาจาก 6-6-4 ไปสู่ระบบการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อสนับสนุนคนเข้าตลาดแรงงานเร็วขึ้น

 

โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน (ODOS) เรียนฟรีที่ฟรีจริง เพิ่มงบอาหารกลางวันและบริการรถรับส่งนักเรียนฟรี

 

เรียนอาชีวะฟรีจริงสถานอาชีวะเป็นศูนย์สร้างสรรค์สร้างตัวได้

 

โรงเรียน 2 ภาษานทุกท้องถิ่นสอนภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษและภาษาจีน ตั้งแต่ ป.1 ใช้ครูต่างประเทศสอนเสริมร่วมกับครูไทย ทั้งในห้องเรียนและออนไลน์

 

มีศูนย์การเรียนรู้แบบ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) และ อุทยานการเรียนรู้ TK park ให้ครบทุกจังหวัด

 

เปลี่ยนการศึกษาให้สร้างรายได้ใหม่ มีแพลตฟอร์มเชื่อมการเรียนเพื่อสร้างรายได้ให้สูงขึ้น และเติมเงินให้ครอบครัวละ 20,000 บาท กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านดิจิทัลวอเลตภายใน 4 กิโลเมตร นำไปใช้ในแพลตฟอร์มในการเรียนรู้ได้ฟรี

 

ตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป มี big data จับคู่ทักษะของแต่ละคนให้เข้ากับงาน ในอนาคตจะถูกเชื่อมเข้าไปเป็นคูปองในการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้

 

EDUNEWSSIAM ขอย้ำตบท้ายอีกครั้งว่า... นับต่อไปนี้ กระทรวงศึกษาธิการ จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อพรรคก้าวไกลได้เข้ามาดูแล หากผู้บริหารการศึกษาคนใด ยังไม่เปลี่ยนมายเซ็ท ( Mindset ) เดิม ๆ อาจไม่มีที่ยืน... 

 

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)