สพฐ. มองไกล เตรียมเด็กไทยทั้งประเทศสู่สมรรถนะ สากล ยกคุณภาพที่ห้องเรียนเป็นแกนขับเคลื่อน

 

 สพฐ. มองไกล เตรียมเด็กไทยทั้งประเทศสู่

สมรรถนะ สากล ยกคุณภาพที่ห้องเรียนเป็นแกนขับ

เคลื่อน

 

 ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting  นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ (รองเลขาธิการ กพฐ.) พร้อมคณะทำงานสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. ร่วมประชุมติดตามเตรียมการขับเคลื่อนการนำผลการประเมินจากโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล ไปใช้วางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับเขตพื้นที่การศึกษา ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting

  

มีการแต่งตั้งคณะทำงานการขับเคลื่อนการนำผลการประเมินจากโปรแกรมสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ระดับเขตพื้นที่การศึกษา (เพิ่มเติม) ประกอบด้วย 2 ชุดคณะทำงาน ได้แก่ 

 

ชุดที่ 1 คณะทำงานขับเคลื่อนงานด้านวิชาการ ติดตามและประเมินผล โดยมี ดร.ชนาธิป ทุ้ยแป เป็นประธาน

 

และชุดที่ 2 คณะทำงานขับเคลื่อนระดับเขตพื้นที่ โดยมี ดร.ภูริวรรษ คำอ้ายกาวิน เป็นประธาน และ ผอ.เขตพื้นที่ ผอ. โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย คอยเป็นพี่เลี้ยงขับเคลื่อนที่พื้นที่ร่วมกัน

 

ที่ประชุมได้นำเสนอผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ของหน่วยงานภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประกอบด้วย

 

1. สำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา และคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินงานขับเคลื่อน PISA โดยให้บริการวิชาการ ทั้งในระดับเขตพื้นที่การศึกษาด้านวิชาการ  โรงเรียนในเครือข่ายเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ สร้างความตระหนัก และกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของการเข้าร่วมโครงการ PISA พร้อมทั้งสร้างทีมจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย

 

พบว่า นักเรียนควรได้รับการพัฒนาในด้านความฉลาดรู้ ด้านการอ่านเพื่อเป็นการเติมเต็มศักยภาพนักเรียนให้สมบูรณ์พร้อมในทุกมิติ รวมถึงการพัฒนาบทอ่านตามระดับความฉลาดรู้ด้านการอ่านสำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และวางแผนส่งเสริมสนับสนุนขยายผลไปสู่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนขยายโอกาส 

 

2. สถาบันภาษาไทย ที่มีสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ได้นำเสนอโครงการพัฒนาสมรรถนะการอ่านขั้นสูง สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564-2565 แบ่งออกเป็น 4 ระยะ

 

ระยะที่ 1 การพัฒนาวิทยากรแกนนำ

 

ระยะที่ 2 การขยายผลสู่การปฏิบัติ

 

ระยะที่ 3 การนิเทศติดตามการดำเนินงาน และ สรุปผลการนิเทศ

 

ระยะที่ 4 การต่อยอดการพัฒนาสมรรถนะการอ่านขั้นสูง รวมทั้งให้บริการสี่อผ่านช่องทางออนไลน์ที่หลากหลาย

 

น่าเสียดายที่ไม่ได้เห็นสรุปผลทั้ง 4 ระยะ นั้น เป็นอย่างไร 

 

3. ศูนย์ PISA สพฐ. ได้รายงานผลการดำเนินงานใน ปีงบประมาณ 2566 ที่ให้บริการข้อสอบประเมินความฉลาดรู้ตามแนวทางการประเมิน PISA พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนเพื่อยกระดับสมรรถนะความฉลาดรู้ด้านการอ่าน ของผู้เรียนด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ จากโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล รวมถึงสื่อสารสร้างความเข้าใจเพื่อเตรียมความพร้อมรับการประเมิน PISA 2025 และกำหนดกรอบการพัฒนาความฉลาดรู้ของผู้เรียนระดับประถมศึกษาตอนปลาย ไว้แล้ว

 

ในรายงานระบุว่า ดำเนินการวางแผนและรูปแบบการดำเนินงาน ประกอบด้วย แผนการพัฒนาระยะยาวเพื่อยกระดับความฉลาดรู้ด้านการอ่าน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับมัธยมศึกษา โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาจำแนกตามระดับชั้น ได้แก่

 

ชั้นประถมศึกษาตอนต้น ให้ส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน มีสมาธิในการอ่าน และเล่าเรื่องราวที่อ่านได้

  

ชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ให้ส่งเสริมการอ่านคล่อง การอ่านบทอ่านที่หลากหลาย รวมทั้งการคิดเชิงวิพากษ์จากบทอ่าน

  

และนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ให้ส่งเสริมทักษะ เทคนิค การอ่านบทอ่านดิจิทัล และการอ่านบูรณาการข้ามกลุ่มสาระการเรียนรู้

 

ซึ่งดำเนินการขับเคลื่อนระดับสถานศึกษา ที่ว่านี้ หน่วยงาน ภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประกอบด้วย กลุ่มเป้าหมายจากสถาบันภาษาไทย ศูนย์ PISA สพฐ. และ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย จะเป็นผู้สร้างทีมแกนนำ โดยนำผลการดำเนินงานทั้งหมด มากำหนดขอบเขตระดับเขตพื้นที่และระดับสถานศึกษาให้เหมาะสม และจัดประชุมเพื่อยกร่างหลักสูตรฝึกอบรมฯ แยกตามภูมิภาค จำนวน 4 จุด เพื่อให้โรงเรียนสามารถขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติระดับนักเรียน จนก่อให้เกิดผลสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

 

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวอย่างมีความหวัง ว่า เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา รวมถึงครูที่มีความสนใจและมีโอกาสร่วมพัฒนาเครื่องมือประเมินผลการเรียนรู้ตามแนวทางสากล เพื่อนำไปใช้พัฒนานักเรียนในระดับห้องเรียน ผ่านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ที่มีการบูรณาการข้ามกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่มสาระฯ ล้วนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการยกระดับคุณภาพของนักเรียนให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม

  

ซึ่งผลจากการปฏิบัติ มั่นใจว่าจะสามารถช่วยพัฒนานักเรียนให้เกิดสมรรถนะสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับนานาชาติได้อย่างครอบคลุม ทั้งองค์ประกอบในด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และทักษะการอ่านรู้เรื่องความฉลาดรู้ด้านการอ่าน ทำให้เกิดสมรรถนะที่จำเป็นแก่นักเรียนได้อย่างรอบด้านครบทุกมิติ  

 

ซึ่งการเริ่มพัฒนาคุณภาพตั้งแต่ในห้องเรียนจะส่งผลให้นักเรียนของเราก้าวไปสู่ความเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพในที่สุด" รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)