สอศ.กับแผนสกัดเหตุความรุนแรง สถานศึกษาอาชีวะ

 

สอศ.กับแผนสกัดเหตุความรุนแรง สถานศึกษาอาชีวะ

 

ความรุนแรงในสังคมไม่ว่าจะกับใครหรือกลุ่มใดก็ตาม ก็ต้องมีการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดกับทั้งตัวนักเรียนนักศึกษา สถานศึกษา ไปจนถึงประชาชนทั่วไปด้วย  ขณะที่ UNICEF ระบุว่านักเรียนอายุ 13-15 ปี ประมาณ 150 ล้านคน เคยเผชิญกับความรุนแรงทั้งในและนอกสถานศึกษา

 

ขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ประชุมวางแผนป้องกันแก้ไขปัญหาพฤติกรรมไม่เหมาะสมของนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา และมาตรการรักษาความปลอดภัยในสถานศึกษา (การใช้อาวุธปืนและยาเสพติด) เชิงรุก กลุ่มสถานศึกษาเฝ้าระวังป้องกันเหตุทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล จำนวนกว่า 50 แห่ง

 

 

เพื่อวางแผนป้องกันเหตุ ความรุนแรงและพฤติกรรมไม่เหมาะสมของนักเรียน นักศึกษา ตามนโยบายสถานศึกษาปลอดภัย MOE Safety Center น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ มอบหมายให้ว่าที่ร้อยตรี ดร.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ได้เร่งรัดจัดการป้องกันแก้ไขปัญหาพฤติกรรมไม่เหมาะสมของนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา เชิงรุกควบคู่อาชีวศึกษาปลอดภัย โดยบริการบริหารจัดการ ในรูปแบบ “One Team”ไปด้วยกัน   

 

อีกทั้ง การสร้างภาพลักษณ์อาชีวศึกษาใหม่ ด้านคุณภาพ ด้านขยายโอกาส ด้านธรรมาภิบาล และด้านสร้างความร่วมมือในการจัดการอาชีวศึกษา ในการบริหารจัดการรูปแบบใหม่ ในด้านความร่วมมือของพลังเครือข่าย เพื่อให้การผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาเป็นกำลังหลักในการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ  

 

จากนั้น...สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผ่านผู้แทนของกรมตำรวจ คือ พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (บิ๊กโจ๊ก) ได้ประชุมเข้มแผนป้องกันเหตุความรุนแรงสถานศึกษาอาชีวะ เมื่อ วันที่ 27 มิถุนายน 2566 ณ ห้องประชุม สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) เพื่อให้เกิดตระหนักตื่นตัวเฝ้าระวัง ไม่ประมาท ไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้นได้

 

 

สุดท้ายสรุปผลหารือแนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ปัญหาเหตุความรุนแรง ให้มีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผล เบื้องต้นนับหนึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยมีมาตรการและแนวทางร่วมกันจากที่ประชุมที่จะดำเนินการ คือ

 

1.การปลูกฝังค่านิยมของสถาบัน โดยผู้ปกครอง ครู และผู้บริหารสถานศึกษา ต้องให้การดูแลและติดตามแบบเข้มงวด 

2.เครื่องแบบของนักเรียน นักศึกษา ให้เหมือนกันทุกแห่ง ลดความแตกต่างของสถาบัน 

3.คัดกรองผู้เข้าเรียนในสถานศึกษา 

4.เชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมแก้ไขปัญหาของเด็กที่ก่อเหตุ 

5.ปรับทัศนคติ แบบเข้มข้น เช่น การฝึกอบรม การเข้าค่ายร่วมกัน 

6.กำหนดโทษสูงสุด เพื่อไม่ทำผิดซ้ำ และ

7.นำข้อมูลสถิติการก่อเหตุของสถานศึกษามาประมวลผล และประสานงานอย่างใกล้ชิด

 

โดย พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์  หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะนำข้อสรุปข้างต้นจากที่ประชุมใช้เป็นแนวทางเชิงรุก ประสานแจ้งต่อผู้กำกับในพื้นที่ ให้ติดตามอย่างใกล้ชิด และบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับสถานศึกษาในพื้นที่ เพื่อป้องกันการเกิดเหตุ และไม่ส่งผลกระทบกับประชาชน

 

ซึ่งในความร่วมมือดังกล่าวที่คณะผู้บริหารทั้งสององค์กรให้ความสำคัญ โดยรูปธรรมคือการประชุมเอาจริงกัน ที่ สอศ. เตรียมพร้อมอยู่แล้วโดยจัดตั้งเป็นที่น่าสนใจ คือ เกิดสถานศึกษาต้นแบบ เป็นหน่วยเฝ้าระวังในเขตพื้นที่ต่าง ๆ  ได้แก่ กลุ่มสวนหลวง ร.9 กลุ่มอนุสรณ์สถาน กลุ่มบางปะกง กลุ่มจตุจักร กลุ่มกรุงเก่า กลุ่มธนบุรี และกลุ่มชัยสมรภูมิ ล้วนมีผู้บริหารสถานศึกษาดังกล่าว ที่เข้าร่วมประชุมจะดำเนินการร่วมกันทำงานอย่างใกล้ชิดต่อไป

 

ว่าที่ร้อยตรีธนุ เพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการดูแลความปลอดภัยในสถานศึกษาแบบรอบด้าน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จึงได้มีหนังสือ เรื่องมาตรการดูแลความปลอดภัยในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาทุกแห่ง ขอให้สถานศึกษามีมาตรการและดูแลรักษาความปลอดภัยในสถานศึกษา ดังนี้ 

 

กำหนดมาตรการป้องกันร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งกำหนดวิธีการที่ชัดเจน และนำสู่การปฏิบัติจัดทำแผนเฝ้าระวังเหตุและปฏิทินการดำเนินงาน และวิธีการป้องกันการใช้ความรุนแรงของนักเรียน-นักศึกษาให้ชัดเจน สำรวจ คัดกรอง เฝ้าระวัง และติดตาม ดูแลพฤติกรรมนักเรียน นักศึกษา ที่เสี่ยงต่อการกระทำผิดอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดกิจกรรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง

ให้สถานศึกษากวดขันนักเรียน นักศึกษา ให้อยู่ในระเบียบวินัยของสถานศึกษาอยู่เสมอ และปฏิบัติตนตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ให้มีการบังคับใช้กฎหมาย ประสานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จัดประชุมผู้ปกครองนักเรียน นักศึกษา เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงของนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา โดยถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และร่วมกันสอดส่องดูแลบุตรหลาน โดยเฉพาะเวลาเดินทางไป-กลับ เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้

ให้สอดส่งดูแลมิให้บุคคลแปลกหน้าเข้าไปในสถานศึกษาโดยเด็ดขาด และกวดขันให้กีการตรวจสอบผู้ผ่านเข้า-ออก สถานศึกษาอย่างเข้มงวด โดยห้ามมิให้บุคคลใดพกพาอาวุธทุกชนิดเข้ามาในสถานศึกษา ยกเว้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และ 7. เมื่อเกิดเหตุการณ์ก่อเหตุความไม่ปลอดภัยในสถานศึกษา ให้ผู้บริหารสถานศึกษาร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที และรายงานให้ต้นสังกัดทราบโดยด่วน

 

 

จากการพูดคุยกับ ดร.ทวีศักดิ์ คิ้วทอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (ศป.สอศ.) หรือ VEC Safety Center อุ่นใจได้ว่า...

 

เมื่อมีการจัดตั้งกลุ่มเฝ้าระวังป้องกันเหตุขึ้น 7 กลุ่ม ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ร่วมคิดร่วมทำร่วมแก้ไขปัญหา โดยมีผู้อำนวยการสถานศึกษา รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากิจการนักเรียนนักศึกษา และหัวหน้างานปกครอง สถานศึกษาทั้ง 7 กลุ่มในเขตพื้นที่ ร่วมดูแลอย่างเต็มที่ ประกอบด้วย

 

กลุ่มที่ 1 จตุจักร (เขตมีนบุรี เขตบางกะปิ เขตบึงกุ่ม เขตหนองจอก เขตคันนายาว เขตคลองสามวา) กลุ่มที่ 2 อนุสรณ์สถาน (จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี เขตดอนเมือง เขตสายไหม เขตหลักสี่ เขตบางเขน เขตลาดพร้าว เขตบางซื่อ) กลุ่มที่ 3 (เขตดุสิต เขตบางพลัด)

กลุ่มที่ 4 สวนหลวง ร.9 (จังหวัดสมุทรปราการ เขตพระโขนง เขตสวนหลวง เขตบางนา) กลุ่มที่ 5 ธนบุรี (จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดนครปฐม เขตบางบอน เขตตลิ่งชัน เขตบางกอกน้อย เขตบางกอกใหญ่ เขตบางขุนเทียน เขตภาษีเจริญ เขตหนองแขม เขตทวีวัฒนา) กลุ่มที่ 6 กรุงเก่า (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) กลุ่มที่ 7 บางปะกง (จังหวัดฉะเชิงเทรา)

 

ทั้งนี้ที่ประชุมได้เสนอแผนเชิงรุกแนวใหม่ และคิดนำเอาเทคโนโลยีนวัตกรรมมาช่วยในการปฏิบัติงานเพื่อยกระดับให้เป็นสถานศึกษาอัจฉริยะด้านความปลอดภัย หรือ “Smart Safety College” ตามหลัก 3 ป. คือ

 

1. ป้องกันความเสี่ยงแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้น

2. ปลูกฝังให้นักเรียนนักศึกษา รู้วิธีเอาตัวรอดอย่างชาญฉลาดสอนวิชาชีวิตที่สำคัญไม่น้อยกว่าวิชาการ 

และ 3. ปราบปราม พวกที่กระทำความผิดอย่างจริงจัง เน้นเยียวยาผู้เสียหายเป็นสำคัญ

 

ซึ่งทุกกลุ่มได้เสนอแผนและมาตรการป้องกันเหตุ ที่เป็นแผนปฏิบัติได้จริงสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ที่ผู้ปฏิบัติช่วยกันคิดช่วยกันทำช่วยกันแก้ปัญหาแบบ Bottom up ไม่ใช่แผนปฏิบัติที่สั่งจากข้างบนลงไปหรือ Top Down ซึ่งที่ผ่านมาจะเกิดปัญหา เนื่องจากไม่สอดคล้องกับผู้ปฏิบัติในพื้นที่ ซึ่งเดิมสถานศึกษาบางแห่งก็ยังมีข้อจำกัดทรัพยากร ในการปฏิบัติหน้าที่

 

 

 

เมื่อมีแผนและมาตรการป้องกันเหตุกันอย่างเป็นระบบ โดยนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการปฏิบัติงานยกระดับให้เป็นสถานศึกษาอัจฉริยะด้านความปลอดภัยและเฝ้าระวังป้องกันเหตุ ทั้งรัฐและเอกชน ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล จำนวนกว่า 50 แห่ง ผู้เรียนและผู้ปกครอง ตลอดประชาชน สบายใจได้ทั่วหน้า

 

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam  

ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage