แนวทางการบ่มเพาะเยาวชนไทย รักสถาบันฯ

 

แนวทางการบ่มเพาะเยาวชนไทย รักสถาบันฯ

ดร.มังกร หริรักษ์ : มหาวิทยาลัยธนบุรี

 

ต้นปีการศึกษา 2566 ได้สังเกตุเห็นนักศึกษาใหม่ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ไม่หยุดเคารพธงชาติตอนเช้า เวลา 08:00 น. ทำให้เกิดความคิดผุดขึ้นมาว่า… “เยาวชนไทยไม่เหมือนเดิม”

 

❝ พฤติกรรมที่เคยแสดงออกถึงความรักชาติ อันเป็นวัฒนธรรมที่เคยปฏิบัติกันมาโดยตลอดได้แปรเปลี่ยนไปแล้วใช่ไหม? หรืออาจเป็นเพราะ....ข้อมูลที่โน้มน้าวใจ ให้คล้อยตามอิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้นึกไปถึงโรงเรียนที่เขาเรียนจบมา ได้รับการฝึกฝนอบรมบ่มเพาะนิสัยกันอย่างไร ได้รับความเอาใจใส่จากผู้บริหารและครูในโรงเรียนมากน้อยเพียงใด 

 

อันที่จริงอาจเปรียบผู้บริหารเสมือน “แม่ทัพ” ของกระทรวงศึกษาธิการและครู คือ ผู้ขับเคลื่อนสร้างเยาวชนคนไทย ให้เป็นไปตามตัวชี้วัดมาตรฐานการศึกษา

 

โดยเฉพาะเรื่องของคุณธรรมจริยธรรมในความรักที่มีต่อ “ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในด้านความรับผิดชอบความมีวินัยและมีมนุษยสัมพันธ์ ถ้าหากสถานศึกษามีจุดอ่อนในเรื่องความพร้อมของบุคลากร “ครู” ทั้งจำนวนและคุณภาพ ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพในการพัฒนาผู้เรียน

 

และเป็นที่รับทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า ครูมีภารกิจหน้าที่การงานหนักมากทั้งเตรียมเอกสารเพื่อการประเมินผลรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการประกันคุณภาพ และการประกวดประชันเพื่อชิงรางวัล จึงทำให้การอบรมสั่งสอนบ่มนิสัยลูกศิษย์น้อยลงไป

 

 

อีกทั้งครูรุ่นหนุ่มสาวกำลังดำเนินชีวิตในช่วงเวลาต้องดูแล เทคแคร์ครอบครัว เริ่มสร้างฐานะ การเตรียมการสอน และอารมณ์ในการทำงานเอาใจใส่ลูกศิษย์ย่อมไม่เต็มที่

 

อีกทั้ง เรามักได้ยินนักการศึกษากล่าวว่า “จะพัฒนาใครเขาต้องพัฒนาตัวเราก่อน” ถ้าครูยังขาดความพร้อมมีอารมณ์หงุดหงิด เหนื่อยล้า ย่อมไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาศิษย์

 

อีกทั้ง สถานศึกษามีความจำกัดด้านความรู้ ความสามารถ ของครูในบางเรื่องที่จะเอาใจใส่ดูแลจิตใจของนักเรียนบางคน ที่สร้างปัญหารูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น นักเรียนที่พลัดหลงไปสู่อบายมุข ครอบครัวแตกแยก ความยากจน เป็นโรคซึมเศร้า ชอบก่อการทะเลาะวิวาท ชอบก่อกวน เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการศึกษา มีปมปัญหาให้แก้ไข อย่างไม่จบไม่สิ้น

 

เพราะเราไม่มีครูผู้ชำนาญการเฉพาะด้านการแพทย์พยาบาลด้านที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนด้อยโอกาส ทำให้การแก้ไขปัญหาระงับเหตุได้ล่าช้าไม่ตรงประเด็น

 

ด้วยเหตุนี้ จำเป็นที่ผู้บริหารสถานศึกษาต้องแสดงภาวะผู้นำในลักษณะ “ใจถึงพึ่งได้” โดยการมองหา “คนเก่งมาช่วย”

 

ดังคำกล่าวของภูมิปัญญาชาวแอฟริกาที่ว่า… “It takes a village to rise a child” หมายความว่า การสร้างเด็กคนหนึ่งต้องอาศัยคนทั้งหมู่บ้าน

 

การให้การศึกษาอบรมแก่ศิษย์ให้สมบูรณ์แบบนั้น จำเป็นต้องมองหา “ คนเก่งมาช่วย” จากบุคคลภายนอก เข้ามาเสริมแรงครูข้างใน

 

ดังเช่น กระทรวงศึกษาธิการ ในปัจจุบันได้รับอาสาสมัครไว้ถึง 40,000 คน ที่เกษียณอายุ มีศักยภาพเพียงพอที่จะช่วยสร้างครูต้นแบบ (Idol) พัฒนานักพูดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ นักจัดกิจกรรม นักกีฬา-นันทนาการ นักวิชาการ นักบริหาร ผู้เชี่ยวชาญด้านฝีมือช่าง ด้านอาชีพ นักจัดระบบนิเวศในสถานศึกษาให้มีบรรยากาศดีอบอุ่นน่าอยู่

 

นอกจากนี้แล้ว การพัฒนาครูและนักเรียน ให้มีความจงรักภักดีต่อสถาบันนั้น การจัดกิจกรรม “ทัศนศึกษา” การศึกษาดูงานในสถานที่สำคัญของบ้านเมืองของเรานั้น ถือว่าเป็นการเปิดโลกทัศน์ เช่นไปที่ อุทยานประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ แหล่งอารยธรรม เมืองโบราณ เมื่ออุตสาหกรรม แหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามที่คนทั่วโลกนิยมชมชอบ เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดอรุณราชวรวิหาร วัดร่องขุ่น

 

รวมทั้งสถานที่จัดนิทรรศการทางการศึกษา ศิลปะวัฒนธรรม การนัดพบแรงงาน การอุตสาหกรรม การเกษตร การดูแลสิ่งแวดล้อม เป็นการสร้างความตื่นตา ตื่นใจ กับเหตุการณ์ที่ไม่เคยรู้มาก่อน

 

 

การได้สัมผัสอรรถรส เช่นนี้ ย่อมนำมาซึ่งความอิ่มเอิบใจ ได้เห็นได้พูดคุยสอบถามวิพากษ์วิจารณ์ เกิดวิสัยทัศน์ ในความรักชาติ ศรัทธาในศาสนา และ ระลึกถึงคุณความดี ของกษัตริย์ แต่ละยุคสมัยที่ปกป้อง รักษาชาติบ้านเมืองเอาไว้ พร้อมทั้งสร้างความเจริญรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่นมาถึงปัจจุบัน เป็นเป้าหมายสำคัญกับความมั่นคงของชาติ

 

ดังนั้นผู้บริหารสถานศึกษา ต้องกล้าคิด กล้าทำ กล้าลงทุน ในการพัฒนาครู อย่างสม่ำเสมอ ไปพร้อมกันกับการพัฒนา “ทักษะชีวิต” ของนักเรียน เป็นการหลอมรวมความรักความผูกพันอย่างแน่นแฟ้น

 

ความสามารถในการบริหารจัดการ จะมองเห็นได้จากความเจริญงอกงามของศิษย์ ทุกเมื่อเชื่อวัน ทั้งร่างกาย จิตใจ ความคิด ทัศนคติพฤติกรรม และมีนิสัยใหม่ รวมกันเป็น “สมรรถนะ” อันเป็นรากฐานสำคัญในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง มีครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณภาพ อารมณ์ดี มีความสุข รักชาติบ้านเมือง เป็นผู้สร้างศักยภาพให้ศิษย์เป็นพลเมืองดี โดยที่ไม่มีผู้อื่นใดได้มีโอกาสกระทำ

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam

ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage