*กระชับวงล้อมปันความคิด #รำลึกฟุตบอล”ควีนสคัพ”

 

#รำลึกฟุตบอล”ควีนสคัพ”

 

วันที่ 12 สิงหาคม วันแม่แห่งชาติ หรือ วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่ง

 

และเนื่องในวันสำคัญดังกล่าวดังเฉกเช่นทุกปีที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐและเอกชนรวมทั้งประชาชนทุกหมู่เหล่า ได้ร่วมกันน้อมเกล้าถวายพระพรและจัดกิจกรรมร่วมเทิดพระเกียรติกันทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

 

 

อย่างไรก็ตามเมื่อกล่าวถึงการจัดกิจกรรมเพื่อร่วมเฉลิมฉลองและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระแม่แห่งแผ่นดินแล้ว

 

หากย้อนกลับไปในอดีตโดยเฉพาะในมิติที่เกี่ยวข้องกับวงการฟุตบอลไทยแล้ว เชื่อว่าผู้คนหรือคอลูกหนังในขณะนั้น คงจะจำกันได้ว่าบ้านเรา นอกจากจะมีการจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน”คิงส์คัพ” ที่มีการเชิญนักเตะต่างชาติมาดวลฝีเท้ากับทีมชาติไทยจนเป็นทัวร์นาเมนท์ยอดนิยมแล้ว

 

การแข่งขันอีกรายหนึ่งซึ่งถือว่าได้สร้างมูลค่าเพิ่มและต่อยอดการพัฒนาให้กับวงการลูกหนังไทย โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้สโมสรต่าง ๆ ได้แสดงศักยภาพเพื่อความเป็นเลิศ คงจะได้แก่ การแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานควีนสคัพ นั่นเอง

 

ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานควีนส์คัพ ครั้งที่ 1 ได้เปิดม่านอย่างเป็นทางการในปี 2513โดยมีสโสรธนาคารกรุงเทพเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน

 

สำหรับรายการนี้ภูมิหลังหรือที่มานี้ สืบเนื่องมาจากการดำริของ นายบุญชู โรจนเสถียร ในฐานะนายกสโมสรธนาคารกรุงเทพ ในขณะนั้น ต้องการให้มีการแข่งขันฟุตบอลกระชับมิตรระดับสโมสร เพิ่มจากรายการแข่งขันปกติที่มีอยู่

 

และเมื่อทุกภาคส่วนต่างเห็นพ้องต้องกันคณะกรรมการเตรียมการ จึงได้มีการนำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เพื่อขอพระบรมราชานุญาต ใช้ชื่อการแข่งขันว่า ”การแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ (ควีนสคัพ)”

 

 

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อหารายได้โดยเสด็จพระราชกุศล และให้สโมสรต่าง ๆ ได้มีโอกาสเข้าแข่งขันหาประสบการณ์ รวมทั้งเป็นเวทีในการคัดเลือกนักฟุตบอลระดับสโมสรสำหรับเข้าสู่ทีมชาติต่อไป

 

ในการจัดศึกดวลแข้งรายนี้วาระแรกสโมสรธนาคารกรุงเทพ ในฐานะเจ้าภาพได้มีการเชิญสโมสรซึ่งถือว่าเป็นศูนย์รวมของนักเตะชั้นแนวหน้าในยุคนั้น เข้าร่วมอีก 5 สโมสรประกอบด้วย

 

ทหารอากาศ การท่ารือแห่งประเทศไทย ราชวิถี ราชประชานุเคราะห์ และสมาคมหัวเฉียวจีนแคะแห่งประเทศไทย

 

หลังจากการแข่งขันผ่านไปได้ระยะหนึ่ง เมื่อได้รับการยอมรับและเป็นที่น่าสนใจมากขึ้นตามลำดับ ต่อมาภาคีสมาชิกจึงได้เชิญสโมสรนักเตะในต่างแดนอย่างเกาหลีใต้(ฮานยาง) อินโดนีเซีย (จาการต้าปุตรา) ญี่ปุ่น(ยันมาร์ ดีเซล) และจีน(ปักกิ่ง) ฯลฯ เข้าร่วมโม่แข้งในบางปีอีกด้วย

 

 

แต่ภายหลังด้วยปรากฎการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคม ตลอดจนวิวัฒนาการของวงการลูกหนังโลก ที่มีการขับเคลื่อนไปสู่มิติของความเป็นสากลภายใต้อาชีพและธุรกิจมากขึ้นในปี 2553 

 

ทำให้การแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานควีนสคัพ จึงปิดตัวลงและเหลือไว้แต่ความทรงจำนับแต่วันนั้นเป็นต้นมา

 

วันนี้ถึงแม้โลกหรือบริบทของวงการฟุตบอลจะเปลี่ยนไปก็ตาม แต่หากย้อนไปถึงคุณค่าและประโยชน์อันเนื่องมาจากการจัดการแข่งขัน ”ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานควีนสคัพ” ที่สังคมและวงการกีฬาไทยได้รับ

 

เชื่อว่าหากพิจารณาให้ถ่องแท้สำหรับคุณค่านานัปการของฟุตบอลรายการนี้ย่อมมีบทบาทและส่งผลต่อการพัฒนาในการยกระดับวงการลูกหนังไทยได้อย่างยากที่จะพรรณาได้.

                                                    

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage