ธนารัชต์" อดีตประธาน กมว.ครู" ชง “ชิดชอบ” เลิกสอบขอใบอนุญาต - คืนเงินค่าปรับ ชี้ ! คุรุ สภา" กระทำเกินอำนาจ สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย

 

ธนารัชต์" อดีตประธาน กมว.ครู" ชง “ชิดชอบ”

เลิกสอบขอใบอนุญาต - คืนเงินค่าปรับ ชี้ ! คุรุ

สภา" กระทำเกินอำนาจ สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย  

 

ดร.ธนารัชต์ สมคเณ เลขาธิการครูเฒ่าเฝ้าบ้าน ศธ. อดีตประธานกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ(กมว.) และอดีตรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต1 (สพม.1 กรุงเทพฯ) ขอใช้สิทธิตามมาตรา 60 แห่งพรบ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 ที่สมาชิกสามารถแสดงความคิดเห็น และ ซักถาม เกี่ยวกับกิจการของคุรุสภาโดยเสนอ

 

และฝากถาม พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการคุรุสภา ในเรื่องที่ผ่านมา ผู้ประกอบวิชาชีพได้รับความเดือดร้อนจากการดำเนินกิจการของคุรุสภา โดยคณะกรรมการคุรุสภา มีมติออกข้อบังคับเกินอำนาจหน้าที่ที่กำหนดในกฎหมาย พรบ.สภาครูฯ กรณีขอต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพที่หมดอายุ

 

พอขอต่อใบอนุญาต ต้องเสียค่าปรับต่อใบอนุญาตล่าช้า ต้องจ่ายเงินค่าปรับให้แก่คุรุสภา ในช่วงแรก ๆ ต้องจ่ายค่าปรับเป็นรายเดือนๆละ 200 บาท/ใบ โดยไม่กำหนดเพดานค่าปรับ จึงถูกปรับเป็นรายเดือนไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงวันที่สมาชิกไปขอต่อ บางคนต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงินหลักหมื่นบาท

 

ถ้าหากสมาชิกบางคนถือใบอนุญาต 2-4 ประเภท คือ 1) ใบครู ที่คุรุสภากำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพต้องมี 2) ใบผู้บริหารการศึกษา 3) ใบผู้บริหารสถานศึกษา และ 4) ใบศึกษานิเทศก์

  

เมื่อใบอนุญาตหมดอายุ 2-3 ใบ ก็ต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงินหลายหมื่นบาท ทำให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก

  

ครั้นพอมาถึงช่วงรัฐมนตรี นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และ นางสาวตรีนุช เทียนทอง ได้กำหนดให้จ่ายค่าปรับรายเดือน ๆ ละ 200 บาท เหมือนเดิม แต่เพิ่มค่าดำเนินการอีกฉบับละ 200 บาท และ กำหนดเพดานค่าปรับฉบับละไม่เกิน 2,000 บาท รวมแล้ว ตกฉบับละ ไม่เกิน 2,200 บาท ซึ่งครูก็ยังเดือดร้อนเช่นเดิม 

 

จึงขอถามว่า ตาม พรบ.สภาครูฯ คุรุสภา มีอำนาจในการกำหนดค่าปรับได้หรือ เพราะค่าธรรมเนียมที่กำหนดแนบท้าย พรบ.สภาครูฯ กำหนดค่าธรรมเนียมให้คุรุสภาเก็บได้เฉพาะ ค่าขึ้นทะเบียน ฉบับละ 600 บาท ค่าต่อใบอนุญาตฉบับละ 200 บาท ค่าหนังสือรับรอง 300 บาทค่าวุฒิบัตร 400 บาท ค่าใบแทนใบอนุญาตฉบับละ 200 บาท กฎหมายกำหนดให้คุรุสภาเก็บได้เท่านี้

 

เพราะรายได้ของคุรุสภากฎหมาย ให้เก็บจากค่าธรรมเนียมที่ระบุ และเงินอุดหนุนจากงบประมาณ แล้วกรรมการไปมีมติสร้างข้อบังคับ กำหนดให้เก็บค่าปรับ ค่าดำเนินการที่เป็นเงินกินเปล่า

 

กระบวนการออกใบอนุญาตมันยุ่งยากซับซ้อนขนาดนั้นเลยหรือ ถึงต้องรีดเงินครู องค์กรวิชาชีพอื่นเขาทำกันหรือไม่

 

สำหรับเรื่องเงินค่าสอบขอใบอนุญาตกฎหมาย ก็มิได้กำหนด คุรุสภา และ กรรมการคุรุสภากระทำเกินอำนาจหน้าที่หรือไม่

 

กระทำผิดกฎหมาย พรบ.สภาครูฯในมาตรา 8 วัตถุประสงค์คุรุสภา และ มาตรา 9 อำนาจหน้าที่คุรุสภาหรือไม่ 

 

ดังนั้นในช่วงเวลา 9 ปีที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ คณะกรรมการคุรุสภาที่มาจากแท่งต่าง ๆ ในกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ถือว่าท่านได้ปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติในมาตรา 157 ตามประมวลกฎหมายอาญาแล้ว 

  

ซึ่ง พรบ.สภาครูฯ กำหนดไว้ใน มาตรา 30 ให้กรรมการคุรุสภา กรรมมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) อนุกรรมการ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ท่านจะต้องรับผิดชอบในเรื่องที่ท่านได้กระทำ ซึ่งชมรมฯ ได้มอบเรื่องนี้ให้นักกฎหมายไปดำเนินการ 

 

  

จึงฝากเรียนมาถึงรัฐมนตรี ในฐานะที่ท่านเป็นประธานกรรมการคุรุสภา ขอให้ยกเลิกการเก็บค่าปรับการต่อใบอนุญาตล่าช้า และให้นำบทลงโทษที่กำหนดไว้แล้วในพรบ.สภาครูฯ มาบังคับใช้โดยกฎหมาย ระบุห้ามผู้ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และห้ามสถานศึกษารับผู้ไม่มีใบอนุญาตมาประกอบวิชาชีพ หากผู้ใดกระทำผิดจะต้องได้รับโทษทั้งจำและปรับ โทษปรับตั้งแต่ 20,000-60,000 บาท หรือจำคุก 1-3 ปี

  

วันนี้การทำงานของคุรุสภา คือ นั่งรอให้สมาชิกมาขอต่อใบอนุญาตแล้วจึงปรับ คุรุสภาและ กมว.ต้องลงพื้นที่ตรวจสอบ เมื่อพบเห็นผู้ประกอบวิชาชีพกระทำผิด ใบอนุญาตหมดอายุแล้วยังประกอบวิชาชีพ จึงให้ดำเนินการตามกฎหมาย 

 

ถ้าหากคุรุสภาทำงานเอาจริง ทำหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว จะเป็นการสร้างเกียรติและความเชื่อมั่นให้กับวิชาชีพ องค์กรวิชาชีพ สังคม จะเกิดความเชื่อมั่น ผู้ประกอบวิชาชีพก็จะมีความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อวิชาชีพ ระวังไม่ให้ใบอนุญาตหมดอายุ คุรุสภาก็จะไม่สุ่มเสี่ยงต่อการ กระทำเกินอำนาจหน้าที่ 

 

ที่ผ่านมาเมื่อคณะกรรมการมีมติกระทำไปแล้ว ก็ถือเป็นเรื่องของรัฐมนตรี และกรรมการชุดก่อน ๆ ต้องรับผิดชอบเอง 

 

แต่ถ้าหาก รัฐมนตรี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ยังปล่อยให้มีค่าปรับต่อไปเช่นเดิม ก็ถือว่า มีส่วนร่วมในการดำเนินการนั้น

 

 

 

สำหรับเรื่องใบอนุญาตนี้ ตนขอเสนอให้รัฐมนตรีและ กรรมการคุรุสภา โดยขอให้คุรุสภาออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตลอดชีพให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพ ที่ได้ทำงานและมีประสบการณ์มายาวนาน จนใกล้เกษียณอายุ หรือครูที่เกษียณอายุไปแล้ว จะถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะเมื่อเกษียณแล้วหลายๆคนไม่จำเป็นต้องใช้ และ ไม่ต้องมาขอต่ออายุใบอนุญาตอีก ซึ่งจะเป็นการมอบความภาคภูมิใจในวิชาชีพที่ได้ทำมา 

 

หากทำเรื่องนี้ ครูและผู้ประกอบวิชาชีพจะชื่นชมท่าน และครูในวิชาชีพ ก็จะรับผิดชอบตนเองในการต่อใบอนุญาต คุรุสภาก็จะได้รับเงินค่าธรรมเนียมมากกว่าการไปกำหนดให้เก็บเงินค่าปรับ

  

ดังที่ได้กล่าว การเก็บค่าอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ค่าธรรมเนียมตามกฎหมายกำหนด จะเป็นการสุ่มเสี่ยง อาทิ เก็บค่าสอบ ค่าดำเนินการ ค่าปรับ

  

สำหรับค่าปรับควรทำตามกฎหมายกำหนดไว้  คือ กรณีที่ กมว. คุรุสภาพบเห็น หรือทราบว่ามีผู้กระทำผิด เหมือนเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งด่าน พบเห็นผู้กระทำผิดขับรถยนต์โดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่ หรือใบขับขี่หมดอายุ

  

อีกเรื่องในส่วนของ กฎหมาย พรบ.สภาครูฯ ก็ไม่ได้กำหนดให้มีการเก็บเงินค่าสอบขอใบอนุญาต หน้าที่ของคุรุสภากำหนดให้พัฒนาวิชาชีพ คือ พัฒนาครูที่อยู่ในวิชาชีพ เมื่อคุรุสภากำหนดมาตรฐานให้สถาบันผู้ผลิตไปดำเนินการแล้ว ถือเป็นหน้าที่ของสถาบัน พอคุรุสภาไปกำหนดให้มีการสอบเพื่อขอใบอนุญาต และให้สอบวิชาเอกในการขอใบอนุญาตอีก

 

ถ้าเด็กสอบตกวิชาเอกมาก ๆ จะไม่เป็นการประจานเด็กและสถาบันเขาหรือ การเก็บเงินค่าสอบเพื่อขอใบอนุญาต ก็คงหนีไม่พ้นข้อครหาว่า เป็นการแสวงหาผลประโยชน์หรือไม่ เพราะคุรุสภา คือ สภาครูมีกฎหมายเฉพาะกำกับ จึงไม่เหมือนสภาคณาจารย์ 

 

สำหรับครูคนเก่ง ตามมาตรฐานคุรุสภา ถือเป็นหน้าที่ของสถาบันผู้ผลิต แต่ครูคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ ต้องเป็นหน้าที่ของคุรุสภา ที่จะทำให้เกิดในตัวตนผู้ประกอบวิชาชีพ 

 

ในกรณีที่หน่วยงานผู้ใช้ครู อาทิ สพฐ. อาชีวะ กศน. ฯลฯ ถ้าหากมีความต้องการครูเชี่ยวชาญเฉพาะในสาขาต่าง ๆ ทำไมท่านไม่คุยกัน เพราะผู้บริหารทุกแท่งก็นั่งเป็นกรรมการคุรุสภาอยู่แล้ว ทั้งปลัดกระทรวงศึกษาธิการที่ดูแล ก.ค.ศ. , กศน. , เอกชน และเลขาธิการการอาชีวศึกษา เลขาธิการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 

 

ท่านควรพูดคุยกันในที่ประชุม หากเห็นควรให้คนที่จบการศึกษาสาขาใดที่ท่านต้องการ ก็กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการให้สิทธิสมัครสอบไปก่อน ท่านจะได้คนเก่งตามมาตรฐาน และความต้องการของผู้ใช้

 

ต่อเมื่อจะบรรจุแต่งตั้ง หน่วยงานผู้ใช้ครูกับคุรุสภา มาร่วมกันพัฒนาจรรยาบรรณวิชาชีพ ไม่ต้องมีการสอบขอใบอนุญาต ซึ่งจะเป็นการปฏิบัติเกินอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของคุรุสภา อาจเป็นการที่คุรุสภารู้เห็นเป็นใจให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาแสวงหาผลประโยชน์ในกิจการคุรุสภา

 

การดำเนินงานของ กมว. ในขณะนี้ รัฐมนตรี ควรหาผู้รู้ และเข้าใจเจตนารมณ์กฎหมาย พรบ.สภาครูฯ มาช่วยงาน เพราะคุรุสภาเป็นองค์การมหาชนในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ มีกฎหมายเฉพาะ ต้องปฏิบัติตาม กมว.ทำหน้าที่หลัก ๆ ในเรื่องจรรยาบรรณ 

 

วันนี้...มีครูประพฤติผิดจรรยาบรรณ ตามที่เป็นข่าวทางสื่อมวลชนและมีการร้องเรียนผู้ประกอบวิชาชีพจำนวนมาก ในช่วงเวลาที่ผ่านมา กมว.ได้ดำเนินการพิจารณาจรรยาบรรณ พักใช้ เพิกถอนใบอนุญาต ไปแล้วกี่คน กี่คดี หรือไม่ อย่างไร เพราะ พรบ.สภาครูฯ ได้กำหนดระยะเวลาการพิจารณาคดี วิธีการการดำเนินการไว้ 

 

หากครบกำหนดเวลาแล้ว กมว.บอกทำไม่ทัน

 

นั่นคือ การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ เข้าข่าย 157 สมาชิกหรือคู่กรณีมีสิทธิ์ฟ้องเอาผิดกรรมการได้ กมว.ต้องทำหน้าที่นี้ให้ทัน ไม่ปล่อยให้คดีหลุดไป 

 

นั่นคือ ความรับผิดชอบร่วมกันของกรรมการคุรุสภา กมว. และเลขาธิการคุรุสภา เพราะในอดีตกรรมการคุรุสภาในชุดแรกๆ ที่ใช้กฎหมาย พรบ.สภาครูฯ ก็มีหลายเรื่องที่กรรมการถูกฟ้องบางเรื่องผู้ประกอบวิชาชีพฟ้องคุรุสภา คุรุสภาฟ้องผู้ประกอบวิชาชีพ บางเรื่อง กรรมการฟ้องเลขาธิการ เลขาธิการฟ้องกรรมการ

 

เพราะช่วงเวลานั้น เป็นการลองกฎหมายใหม่ ผ่านมา 20 ปี วันนี้ ก็ยังมีการฟ้องเรื่องค้างคาศาล 

 

จึงขอเรียนรัฐมนตรีที่ท่านมาเป็นประธานกรรมการคุรุสภา ได้ทราบว่า เรื่องงานคุรุสภาไม่เหมือนงานราชการ แม้จะออกจากการเป็นกรรมการหรือเกษียณอายุราชการแล้ว โดยเฉพาะแท่งต่าง ๆ ที่มาจากกระทรวง จะมีผลต่อท่านในเรื่องวินัยด้วย

 

หากเรื่องที่ทำไม่ถูกต้องตามกฎหมาย พรบ.สภาครูฯ สำหรับผู้ที่มาจากการเมืองก็จะถูกคดีด้านจริยธรรม

 

จึงขอให้รัฐมนตรีได้ทบทวนงานคุรุสภา งาน กมว. เพราะงานนี้ต้องการผู้รู้จริง ทำจริง ไม่ใช่งานตอบแทนพวกพ้อง แต่งตั้งมารับตำแหน่งรับประโยชน์ต่างตอบแทน และขอท่านได้คืนเงินค่าปรับให้กับครูที่ถูกปรับไปแล้ว

  

อีกงานที่สำคัญ ขอให้รัฐมนตรีช่วยผลักดันยกเลิกมาตรา 44 ของ คสช. คืนคุรุสภาหรือสภาครู ให้ครูได้ดูแลกันเองโดยเร็ว

 

ไม่ใช่ให้คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยมาดูแลสภาครู ซึ่งมันไม่ใช่เจตนารมณ์ของกฎหมาย พรบ.สภาครูฯ ท่านเองก็คงเคยเจ็บปวดในสมัยที่ท่านทำงาน มีคนนอกมากำกับดูแลหน่วยงานตำรวจ

  

หากท่านทำได้ตามที่เรียนเสนอท่านก็จะได้รับเสียงเชียร์และได้ใจครูทั้งประเทศ

 

ดร.ธนารัชต์ สมคเณ เลขที่สมาชิก 47101150005641

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage