สพฐ. ติดอาวุธ "ศึกษานิเทศก์" สร้างความเข้มแข็งพื้นที่ เป็นพี่เลี้ยงสถานศึกษา สู่คุณภาพผู้เรียนยั่งยืน

 

สพฐ. ติดอาวุธ "ศึกษานิเทศก์" สร้างความเข้ม

แข็งพื้นที่ เป็นพี่เลี้ยงสถานศึกษา สู่คุณภาพผู้

เรียนยั่งยืน

 

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ได้เยี่ยมและให้กำลังใจบรรดาศึกษานิเทศก์ 40 คน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการประชุมปฏิบัติการจัดทำแผนพัฒนาการนิเทศและแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ระหว่างวันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2566 ณ โรงแรมริเวอร์ไซด์ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้าประชุมประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษารองเลขาธิการ กพฐ. ศึกษานิเทศก์ คณะทำงาน และผู้แทนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

 

สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีการวิเคราะห์ศักยภาพ สภาพแวดล้อมภายในและภายนอก (SWOT) วิเคราะห์ทิศทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษา คุณภาพการนิเทศการศึกษา วิเคราะห์ความเชื่อมโยงนโยบาย จุดเน้น ยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงข้อมูลผลการพัฒนาการนิเทศย้อนหลัง ทั้ง 245 เขตพื้นที่

 

สำหรับแนวทางการพัฒนางานในการประชุมปฏิบัติการครั้งนี้ มี 2 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาการนิเทศการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาวิธีการ รูปแบบ เทคนิคการนิเทศเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ และพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน พัฒนาสื่อ นวัตกรรม และเทคโนโลยีเพื่อการนิเทศการศึกษา ส่งเสริมการนิเทศและสร้างความเข้มแข็งของการนิเทศในระดับเขตพื้นที่การศึกษา (นิเทศภายใน) พัฒนารูปแบบวิธีการนิเทศบูรณาการแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น/ประวัติศาสตร์กับหลักสูตรสถานศึกษา และพัฒนางานนิเทศเพื่อส่งเสริมการอ่าน การเขียนของผู้เรียน

 

และโครงการพัฒนาสมรรถนะด้านการนิเทศการศึกษาของศึกษานิเทศ สพฐ. พื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถด้านการนิเทศของศึกษานิเทศก์ สร้างความเข้มแข็งของการนิเทศภายในสถานศึกษาและพัฒนาความเป็นผู้นำทางวิชาการของศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา และครู ส่งเสริมการนิเทศเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน ด้วยการชี้แนะและเป็นพี่เลี้ยง (Coaching & mentoring) ร่างแผนพัฒนาและแผนปฏิบัติการประจำปีของหน่วยศึกษานิเทศก์ สพฐ.

 

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า ศึกษานิเทศก์เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษา ด้วยการสร้างความเข้มแข็งโดยการเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียน รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุนความพร้อมด้านคุณภาพรอบด้านอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้คุณภาพเป็นรูปธรรม ซึ่งวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก เนื่องจากมีเครือข่ายความร่วมมือกับสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา (กสศ.) มาร่วมนำเสนอ โครงการ TSQM : การขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพการศึกษาเชิงพื้นที่ Area Based Development ที่จะเติมความใหม่ด้วยเทคนิควิธีการ หรือแนวคิดใหม่ ๆ ที่จะหนุนเสริม ติดอาวุธให้กับศึกษานิเทศก์ของเรา ร่วมกับโรงเรียนในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเราต่อไป

 

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาตรงกับงานตามกรอบ มาตรฐานวิชาชีพของศึกษานิเทศก์ และเสริมสร้างความก้าวหน้าศึกษานิเทศก์เป็นไปตามกรอบของเขตพื้นที่ ที่เห็นว่าศึกษานิเทศก์เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนอย่างแท้จริง

 

ด้วยเหตุนี้ ศึกษานิเทศก์ จึงควรได้รับการฟูมฟักในด้านกระบวนการการจัดการเรียนรู้ที่เน้นงานคุณภาพทางวิชาการ โดยคำนึงถึงความแตกต่างเชิงพื้นที่ผ่านกระบวนการ PLC เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติงานของศึกษานิเทศก์ที่มีคุณภาพ สร้างสถานศึกษา พัฒนาครูและคุณภาพนักเรียนให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ รมว.ศธ. และนโยบาย ของ เลขาธิการ กพฐ. ที่ต้องการให้เยาวชนได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้าน จนเกิดสมรรถนะที่จำเป็น สามารถใช้ชีวิตและประกอบอาชีพตามความถนัดได้ในอนาคต

 

รวมทั้งเป็นงานคุณภาพของเขตพื้นที่ภายใต้การนำของ ผอ.เขตพื้นที่ ที่มีกรอบงานในการส่งเสริม สนับสนุน และทำให้ทุกโรงเรียนได้สร้างความเสมอภาคทางการศึกษาที่มีคุณภาพให้เด็กทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดการศึกษาที่มีคุณภาพจะไปถึง

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage