เปิดคำแจง...อดีต รมว.ศธ.ตอบ - กระทู้ถาม “การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก และ การจัดสรรงบ-บุคลากรฯ”

 

 

เปิดคำแจง...อดีต รมว.ศธ.ตอบ - กระทู้ถาม “การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก และ การจัดสรรงบ-บุคลากรฯ”

 

ตุลย์ ณ ราชดำเนิน : tulacom@gmail.com

 

โรงเรียนขนาดเล็กในประเทศไทยทั้งหมดในปี 2563 มีจำนวน 14,976 โรงเรียน ในปี 2563 มีจำนวนนักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนขนาดเล็ก ถึง 968,992 คน โดยจำแนกเป็นเพศชาย 511,702 และเพศหญิง 457,290 คน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีจำนวนโรงเรียนถึง 7,214 โรงเรียน มีจำนวนนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กมากที่สุด คือ 467,313 คน

 

สภาพปัจจุบันมีโรงเรียนในสังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน อ้างถึง (สมคิด หอมเนตร : 4 พฤษภาคม 2565) ระบุ มีจำนวนทั้งสิ้น 29,583 โรงเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียน 0-120 คน จำนวน 14,958 แห่ง และ จำนวนโรงเรียนที่มีนักเรียนต่างขนาดกัน จำนวน 14,625 แห่ง ประกอบด้วย  นักเรียน 121-200 คน จำนวน 7,000 แห่ง นักเรียน 201-300 คน จำนวน 3,300 แห่ง นักเรียน 301-499 คน จำนวน 1,961 แห่ง นักเรียน 500-1,499 คน จำนวน 1,673 แห่ง ,นักเรียน 1,500 -2,499 คน จำนวน 408 แห่ง และ นักเรียน 2,500 คนขึ้นไป จำนวน 283 แห่ง

 

จากข้อมูลข้างต้น สรุปได้ว่า ประเทศไทย มีโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวน 14,958 แห่ง  เกินกว่าครึ่งหนึ่ง และมีโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนมากกว่า 120 คน จำนวน 6 ขนาด รวมจำนวน 14,625 แห่ง น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง และ นับวันโรงเรียน 6 ขนาด ที่ใหญ่กว่าขนาดเล็กข้างต้น จะมีจำนวนนักเรียนลดลงตามลำดับ เนื่องจากประชากรไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

คีย์เวิร์ด สำคัญในการคิดควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก มักถูกหยิบยกถึงเรื่องคุณภาพ และความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากร เพื่อนำไปสู่การเกิดนโยบายการควบรวม และยุบมาโดยตลอด อย่างเมื่อปี 2554 ต้องการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก 7,000 แห่งภายในปี 2561 เป็นต้นมา

 

อย่างไรก็ตาม " ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กมีแนวโน้มจะทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น" เป็นมุมมองที่ น.ท.สุมิตร สุวรรณ รองคณบดี คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เห็นด้วยกับการ "ควบรวม" แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเหมาะสมเชิงพื้นที่เพื่อไม่ให้กระทบเด็ก และผู้ปกครอง

 

ขณะที่ ดร.การญ์พิชชา กชกานน อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษาและคณิตศาสตร์ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง หัวหน้าโครงการวิจัย ข้อมูลพื้นฐานโรงเรียนขนาดเล็ก กรณีศึกษา : โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา พบว่า

 

“.... ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมา การที่เด็ก ๆ อยู่ในท้องถิ่นของตัวเอง อยู่ในพื้นที่ของตัวเอง ก็จัดการเรียนรู้แบบบูรณาการด้วยจำนวนคนไม่เยอะ ควบคุมจำนวนเด็กที่อยู่ในโรงเรียนได้ แทบจะไม่เกิดผลกระทบเลย แต่เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก และไม่สามารถบริหารจัดการเกี่ยวกับจำนวนเด็กที่จะต้องเข้ามาในโรงเรียนได้  โรงเรียนขนาดเล็กที่ใช้นวัตกรรม สอดคล้องกับนโยบายการจัดการเรียนรู้ในยุค Next Normal ได้เป็นอย่างดี... ”  

 

แม้โรงเรียนขนาดเล็กที่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับจำนวนครูผู้สอน ไม่ครบชั้น และไม่ครบกลุ่มสาระวิชา การใช้นวัตกรรมที่มุ่งเน้นการบูรณาการนำไปสู่การพัฒนาสมรรถะของผู้เรียนนั้น มีความเป็นไปได้มากกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่  จึงเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงและปรับเปลี่ยนไปสู่การจัดการเรียนรู้แบบ Free Content ที่ไม่มุ่งเน้นต่อรายวิชาใด ๆ แต่มุ่งเน้นการพัฒนาสรรถนะหลักของผู้เรียน

 

ยกตัวอย่าง โรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนบ้านฮากฮาน สำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษา น่าน เขต 1 โรงเรียนขนาดเล็ก ที่มุ่งเน้นการสอนโดยใช้เครื่องมือสอนคิด (Thinking Tools) ที่สามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะได้เป็นอย่างดี

 

มีงานวิจัย เรื่อง กรณีศึกษารูปแบบความสำเร็จการจัดการศึกษาโรงเรียนนาดเล็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (2557) โดย ดร.จันทร์จิรา จูมพลหล้า, ดร.พงษ์นิมิตร พงษ์ภิญโญ และ อ.พรทิพา หล้าศักดิ์ แห่งคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้สำรวจความคิดเห็นผู้บริหาร ครู และผู้ปกครองนักเรียนของโรงเรียนขนาดเล็ก 80 แห่ง เกี่ยวกับตัวชี้วัดในการยุบ ควบรวม และคงอยู่ของโรงเรียนขนาดเล็ก พบว่า...

 

โรงเรียนบ้านนาแก จ.สกลนคร,โรงเรียนบ้านถิ่นสุขาวิทยา จ.อุดรธานี,โรงเรียนเครือข่ายแก่งจันทร์ จ.เลย และโรงเรียนบ้านกุดเสถียร จ.ยโสธร ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบขนาดเล็ก ที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี

 

ดังนั้น แนวคิดปฏิรูปโรงเรียนขนาดเล็กด้วยการยุบหรือควบรวมโรงเรียน ไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาที่ประสบความสำเร็จในทุกกรณี ควรให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของผู้ปกครองและคนในชุมชน

 

อย่างไรก็ตาม...ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษาที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีการนำเสนอความคืบหน้าการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน โดยวางแผนในปี 2564 จะยุบโรงเรียนขนาดเล็กให้ได้ จำนวน 7,000 แห่ง ส่งผลให้ช่วยประหยัดงบประมาณประเทศ 5,000 - 6,000 ล้านบาท

 

ในท่วงทำนองเดียวกัน โรงเรียนขนาดเล็กที่หลายคนเคยคิดว่า เป็นวิกฤติที่ต้องยุบ-ควบรวม เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในด้านของเศรษฐศาสตร์หรือความคุ้มค่าของงบประมาณนั้น อาจจะต้องหันกลับมามองถึงจุดแข็งที่ สามารถพัฒนาตนเองได้  ตอบโจทย์คุณภาพทางการศึกษาที่ชุมชนในกลุ่มของเด็กยากจนและมีผู้ปกครองที่พึ่งตนเองไม่ได้ ประมาณเกือบ 5-6 แสนคน

 


 

ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวไว้ จึงเป็นที่มาของ นางสาวตรีนุช เทียนทองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตอบกระทู้ถามที่ 476 ร. ปรากฎในราชกิจจานุเบกษา ที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง กระทู้ถาม เรื่อง ปัญหาการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก และการจัดสรรงบประมาณด้านบุคลากรทางการศึกษา (28 กันยายน 2565)  edunewssiam ขอบันทึกไว้ดังนี้...

 

1. กระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายและมาตรการในการควบคุมและยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กให้เหมาะสมและสอดคล้องกับพื้นที่ พร้อมทั้งรักษามาตรฐานคุณภาพการศึกษาให้อยู่ในเกณฑ์อย่างไร

 

สำหรับมาตรฐานคุณภาพการศึกษาหลังการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กจะทำให้เกิดคุณภาพ ดังนี้

 

ด้านคุณภาพผู้เรียน มีการจัดสรรอัตรากำลังครูให้ครบชั้น ครบวิชา ตรงตามสาขาวิชา อาคารสถานที่มีมาตรฐาน ความปลอดภัย และมีสื่อการเรียนการสอนและเทคโนโลยีที่มีคุณภาพ เพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการของนักเรียน รวมถึงพัฒนาผู้เรียนให้มีค่านิยมและวัฒนธรรมอันดีของสังคม

 

ด้านกระบวนการบริหารและการจัดการ มีการกำหนดเป้าหมายและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กให้มีคุณภาพภายใต้สภาพแวดล้อมทางกายภาพและสังคม ที่เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพตามหลักสูตรสถานศึกษา และส่งเสริม สนับสนุน การพัฒนาครู และบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพ รวมทั้งมีการจัดทำแผนการบริหารจัดการที่พร้อมรองรับนักเรียนที่มาเรียนรวม เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรร่วมกัน

 

ด้านกระบวนการจัดการเรียนการสอน ดำเนินการจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และส่งเสริมการสร้างโอกาสให้ผู้เรียนทุกคนให้มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 รวมถึงทักษะชีวิตที่นำไปประกอบอาชีพได้เมื่อจบหลักสูตร ตลอดจนเกิดการมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับบริบทชุมชน/ท้องถิ่น และมีการประเมินตรวจสอบความรู้ของผู้เรียนอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

 

2. กระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายในการจัดการและแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่ถูกทิ้งรกร้างหลังการยุบรวมอย่างไร มีการมอบหมายให้หน่วยงานใดรับผิดชอบ

 

กระทรวงศึกษาธิการ ขอเรียนว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้มีนโยบายในส่วนการบริหารงานพัสดุของโรงเรียนขนาดเล็กหลังการควบรวม ดังนี้

 

1.     วัสดุ ครุภัณฑ์ โอนให้โรงเรียนหลัก หรือจำหน่ายตามสภาพของวัสดุ ครุภัณฑ์

2.    ที่ดินของโรงเรียน

 

โรงเรียนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินของส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่น ให้ดำเนินการตรวจสอบการถือกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครอง และเอกสารสิทธิ์ พร้อมทั้งรายงานสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อประสานงานกับส่วนราชการ/หน่วยงานเจ้าของที่ดินในการดำเนินการตามกฎหมายเฉพาะของส่วนราชการ/หน่วยงานเจ้าของที่ดินนั้น ๆ


โรงเรียนที่ได้รับการบริจาคที่ดิน
 ให้ตรวจสอบสภาพการถือกรรมสิทธิ์ เอกสารสิทธิ์ รายงานต่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา กรณีการโอนที่ดิน ให้โอนให้กับโรงเรียนหลัก สำหรับกรณีจำหน่ายต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการบริหารจัดการและขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นนิติบุคคลในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา พ.ศ. 2546


โรงเรียนที่ขอใช้พื้นที่ราชพัสดุ ให้ดำเนินการตรวจสอบสิทธิครอบครองหรือสิทธิการใช้เอกสารสำคัญการขอใช้การอนุญาต แล้วรายงานสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทราบ เพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562

 

3.    ทรัพย์สินอื่น ห้ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

4.    เอกสารสำคัญให้โอนให้โรงเรียนหลัก 

    ทั้งนี้ เมื่อมีการควบรวมโรงเรียนแล้ว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะแจ้งให้โรงเรียนตรวจสอบทรัพย์สิน ชำระบัญชี และดำเนินการโอนหรือจำหน่ายให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

 

นอกจากนั้น ยังได้ประสานกับหน่วยงานอื่น เพื่อประชาสัมพันธ์ให้สามารถขอใช้ประโยชน์ในพื้นที่โรงเรียนให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ตามความต้องการของชุมชน เช่น สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ฯลฯ

 

3.กระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายในการทบทวนและแก้ไขปัญหาเรื่องงบประมาณ ในการว่าจ้างครูผู้ช่วยและนักการภารโรงซึ่งเป็นบุคลากรที่มีความจำเป็นต่อโรงเรียนขนาดเล็ก และเป็นการส่งเสริมการจ้างงานในพื้นที่หรือไม่ อย่างไร

 

กระทรวงศึกษาธิการ ขอเรียนว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาเรื่องงบประมาณการจ้างครูอัตราจ้างและนักการภารโรง โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้จัดสรรงบประมาณค่าจ้าง ตำแหน่งครูอัตราจ้าง จำนวน 5,907 อัตรา เป็นเงินจำนวน 1,116,423,000 บาท และตำแหน่งนักการภารโรง จำนวน 11,132 อัตรา เป็นเงินจำนวน 1,262,368,800 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,2378,791,800 บาท ให้แก่โรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อให้โรงเรียนมีบุคลากรเพียงพอและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการศึกษา รวมถึงเป็นการส่งเสริมการจ้างงานคนในพื้นที่

 

ทั้งนี้ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้ดำเนินการขอตั้งรายการค่าจ้าง ตำแหน่งครูอัตราจ้าง และนักการภารโรง ให้แก่โรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อให้มีบุคลากรสนับสนุนการปฏิบัติงานของครูในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage