สพฐ. เน้นเด็กทุกคนต้องได้รับโอกาส หนุนร.ร.มัธยม ฯ ในภูมิภาค เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ ฯ ยกระดับการศึกษาวิทย์ ฯ -คณิต ฯ-เทคโน ฯ

 

สพฐ. เน้นเด็กทุกคนต้องได้รับโอกาส หนุนร.ร.มัธยม ฯ ในภูมิภาค เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ ฯ ยกระดับการศึกษาวิทย์ ฯ -คณิต ฯ-เทคโน ฯ 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ได้รับมอบหมายจากเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเชิงประจักษ์ เพื่อติดตามการจัดตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษา ให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ณ โรงเรียนแม่ทะประชาสามัคคี จ.ลำปาง

 

โดยมีผู้เข้าร่วมติดตาม ได้แก่ ผอ.สบว., ผอ.สพม.ลำปาง ลำพูน, รองผอ.สพป.ลำปาง เขต 2, ผอ.โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย, ผอ.โรงเรียนประถมศึกษาในเขตพื้นที่บริการ, ศึกษานิเทศก์, ครู และผู้เกี่ยวข้อง

 

ในโอกาสนี้ รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่า... การพัฒนายกระดับคุณภาพโรงเรียนมัธยมศึกษาให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นั้น สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีคราวประชุม เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 เห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินการพัฒนาจัดตั้งโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพื่อให้การเตรียมกำลังคนที่มีศักยภาพระดับสูงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางด้านการศึกษาสำหรับนักเรียนผู้มีความสามารถสูงด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

 

ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีคราวประชุมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 รับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินการพัฒนายกระดับคุณภาพโรงเรียนมัธยมศึกษาให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย จำนวน 6 แห่ง โดยพัฒนาและใช้พื้นที่โรงเรียนมัธยมศึกษาเดิม จำนวน 4 แห่ง และพัฒนาจัดตั้งบนพื้นที่ที่ได้รับจัดสรรใหม่จำนวน 2 แห่ง ควบคู่ไปกับการพัฒนายกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนมัธยมศึกษาในการขยายองค์ความรู้ และ ประสบการณ์ในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตามภารกิจการเป็นโรงเรียนศูนย์การพัฒนาวิทยาศาสตร์ศึกษาในส่วนภูมิภาค ได้แก่

 

1) โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ลำปาง

2) โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย กำแพงเพชร

3) โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย กาฬสินธุ์

4) โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย อุบลราชธานี

5) โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สระแก้ว และ

6) โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สุพรรณบุรี

 

ทั้งหมดนี้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ฯ พี่เลี้ยง ซึ่งดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพตรงตามวัตถุประสงค์ ประสบความสำเร็จในการเป็นโรงเรียนพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนอื่นๆ ในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

 

จึงเป็นการเตรียมความพร้อมกำลังคนระดับสูงทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) เพื่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติและนโยบาย Thailand 4.0 และยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในภูมิภาคให้มีคุณภาพทัดเทียมกับโรงเรียนชั้นนำของนานาชาติ ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดที่ยังไม่มีโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยตั้งอยู่ในปัจจุบัน เพิ่มอีกจำนวน 6 แห่ง

 

  

ในโอกาสนี้ รองเลขาธิการ กพฐ. ได้รับฟังรายงานข้อมูลการดำเนินงานจัดตั้งโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ลำปาง พร้อมทั้งติดตามข้อมูลการศึกษาต่อของโรงเรียนประถมศึกษาในเขตพื้นที่บริการเดิมของโรงเรียนแม่ทะประชาสามัคคี  โดยให้ข้อเสนอแนะการดำเนินการในการดูแลและการวางแผนรองรับนักเรียนกรณีที่มีความจำเป็นในการศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาในพื้นที่ ตามกระแสพระราชดำรัส สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้พระราชทานความห่วงใยนักเรียนและผู้ปกครองที่อยู่ในเขตพื้นที่บริการเดิม ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษา

 

จากนั้นได้เดินทางไปเยี่ยม พูดคุยสอบถามผู้ปกครองถึงที่บ้านพักนักเรียนโรงเรียนประถมศึกษา ในเขตพื้นที่บริการจำนวน 3 แห่ง จาก 5 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านนากวาง โรงเรียนบ้านนาบง โรงเรียนบ้านนาดู่ เกี่ยวกับการวางแผนการศึกษาต่อของบุตรในระดับมัธยมศึกษาอีด้วย

 

 

นางเกศทิพย์ กล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมในวันนี้ ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ใน 3 ตำบลพื้นที่บริการ ขอชื่นชมที่โรงเรียนประถมศึกษาทั้ง 5 แห่ง มีการจัดการเรียนสอนเพื่อแก้ปัญหาการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กโดยใช้ DLTV มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดี นักเรียนอ่านหนังสือได้คล่องแคล่ว ตอบคำถามได้ฉะฉาน มีการคิดวิเคราะห์แสดงออกถึงความมั่นใจ และมีความสุขกับการเรียน และนักเรียนมีความฝันในการจะสอบเข้าโรงเรียนประจำจังหวัด และอยากเรียนเสริมเพิ่มเติมในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ

 

จึงมอบหมายให้ สพม.ลำปาง ลำพูน ประสานโรงเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดช่วยดำเนินการจัดทำคลิปสอนเสริมพร้อมตัวอย่างข้อสอบวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์ เพื่อส่งให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มดังกล่าว มีกำลังใจที่ได้ทำตามฝันตัวเอง มุ่งมั่น ทำอย่างเต็มที่ รวมทั้งใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ รู้จักตั้งเป้าหมายอนาคต วางแผนการปฏิบัติได้ด้วยตนเอง และให้โรงเรียนสนับสนุนนักเรียนตามความสนใจเป็นรายบุคคล โดยอาศัยเครือข่ายโรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง

 

ในส่วนเรื่องการจัดการเรียนการสอน ให้ สพป. ลำปาง เขต 2 ช่วยดูการจัดห้องเรียนโรงเรียนบ้านนาดู่ ที่มีการสอนแบบควบชั้นเรียนและใช้ DLTV พร้อมกัน เพื่อไม่ให้เกิดเสียงรบกวนกัน และ อำนวยความสะดวกให้ครู สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง โดยการกั้นห้องเรียนด้วยผนังเบา สามารถสร้างประสิทธิภาพการเรียนการสอนมากยิ่งขึ้น

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage