สพฐ.จับมือสวนสุนันทาพัฒนาครูต้นแบบ “1 อําเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ เขตภาคกลางฯ”

 

เมื่อวันที่ 29  มิ.ย. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มรภ.สวนสุนันทา) จัดโครงการพัฒนาครูต้นแบบในเขตภาคกลาง “พลิกโฉมคุณภาพการศึกษา พัฒนาครูให้มีศักยภาพสอดคล้องกับศตวรรษที่ 21” ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ สู่การสร้างผู้เรียนให้เป็นนวัตกร ตามโครงการพัฒนานวัตกรรม เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาด้วยรูปแบบ Active Learning สําหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัด สพฐ. (1 อําเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ) ระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา ที่จ.พระนครศรีอยุธยา ระหว่างวันที่ 29-30 มิ.ย. มีครูเข้ารับการอบรมรวมมากกว่า 1,000 คน

 

ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกล่าวในการเป็นประธานเปิด ที่หอประชุมโรงเรียนอยุธยานุสรณ์ และผ่านแอปพลิเคชัน Zoom Cloud Meetings ว่า การอบรมครั้งนี้ มุ่งเน้นตามโครงการของรัฐบาล 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ รูปแบบ Active Learning ซึ่งสพฐ.เล็งเห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้ และในอนาคตคงปฏิเสธเรื่องของ Active Learning ไม่ได้

 

ดร.ภูธร กล่าวว่า ที่ผ่านมา สพฐ. ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง 7 จังหวัด ได้ร่วมกับ มรภ.สวนสุนันทา จัดอบรม เป็นการต่อยอดและพัฒนาการจัดการเรียนรู้ให้มากที่สุดหลังจากที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อปฏิรูปการเรียนการสอนสู่ห้องเรียนอย่างแท้จริง ซึ่งการจัดการเรียนการสอนด้วยรูปแบบ Active Learning ที่ได้ผลสิ่งหนึ่ง คือ การเรียนรู้ ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ซึ่งได้ทดลองและดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว และเห็นว่าจำเป็นต้องต่อยอดเพราะเห็นผลที่ชัดเจนและเกิดเป็นนวัตกรรมมากมาย

 

ด้าน ดร.ดวงพร แสงทอง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มรภ.สวนสุนันทา กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของ สพฐ.และมรภ.สวนสุนันทา ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นนอกจากครูที่จะเป็นครูต้นแบบแล้ว นักเรียนก็จะเป็นนวัตกร หมายความว่า ผลจากการเรียนรู้ด้วยรูปแบบและกระบวนการจะเกิดกับทั้งผู้เรียนและครู เพราะทุกอย่างเกิดตามกระบวนการ

 

 

รองอธิการบดี มรภ.สวนสุนันทา กล่าวว่า นอกจากรูปแบบการเรียนที่เปลี่ยนไปแล้ว ยังจะได้เห็นการสร้างสรรค์ระหว่างการเรียนรู้ที่แตกต่างจากบทเรียนที่เด็กเคยเรียนมาด้วย รูปแบบการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น คือ Active Learning โดยผ่านกระบวนการคิดชั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ซี่งมีกระบวนการเตรียมความพร้อมจากครูที่จะสอนเป็น สอนได้ อย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอน

 

“โดยสิ่งที่จะตามมาก็ คือ ผู้เรียน นักเรียน จะได้กระบวนการคิดที่มีความแตกต่างออกไป ซึ่งสิ่งที่แตกต่างออกไป คือ เดิมเคยอยู่ในห้องเรียนก็คิดจากในกรอบ แต่วิธีการนี้จะเป็นการคิดนอกกรอบ ซึ่งมีขั้นมีตอนที่เด็กสามารถเรียนรู้และนำมาปรับใช้ได้ สุดท้ายเด็กจะได้กระบวนการ ได้ขั้นตอน และผลลัพธ์ที่ได้มาก็คือ นวัตกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยแต่ละชิ้นจะมีความแตกต่างกันออกไปตามกลุ่มสาระการเรียนรู้”

 

สถานที่จัดอบรม โครงการพัฒนาครูต้นแบบในเขตภาคกลาง พลิกโฉมคุณภาพการศึกษาพัฒนาครูให้มีศักยภาพสอดคล้องกับศตวรรษที่ 21” ระดับมัธยมศึกษา ครั้งนี้ มี 6 จุด คือ ที่โรงเรียนบางปะหัน โรงเรียนอยุธยานุสรณ์ โรงเรียนอุทัย และโรงเรียนเสนา เสนาประสิทธิ์ ระดับประถมศึกษา ที่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) พระนครศรีอยุธยา เขต 1 และโรงเรียนวัดพระขาว